เชื่อว่าทุกคนก็ Work from Home กันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน และยิ่งไปกว่านั้น หลายคนเริ่มบอกว่าการทำงานที่บ้านมันหนักหนาสาหัสกว่าการทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก
ในมุมมองส่วนตัวสำหรับผมก็เห็นด้วยครับ นอกจากสถานการณ์ไม่ปกติแล้ว แผนการที่เตรียมมาก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันใหม่ทั้งหมด รวมถึงกลวิธีการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ได้มาด้วย เรียกได้ว่าจากการมีระดับ Productive ที่มากอยู่แล้ว ก็ต้องใช้พลังงานในการทำงานมากขึ้นไปอีก
ซึ่งความเสี่ยงในการเกิด Burnout จากที่บ้านก็เยอะตามไปด้วย แต่ถ้าไม่สู้กันในวันนี้ให้เต็มที่ ผู้ประกอบและพนักงานหลายคนก็บอกว่าไม่รู้หลังจากนี้จะมีโอกาสกลับมาสู้อยู่ในสนามอีกหรือเปล่า ยังไงก็เป็นกำลังใจให้นะครับ
มาถึงเรื่องของมุมส่วนบุคคลอย่างการ Productive ซึ่งมีประเด็นถกเถียงกันอยู่ช่วงหนึ่งในโลกออนไลน์ที่มีการเขียนถึงการคาบเกี่ยวระหว่างชีวิต ยุคสมัย และเจเนอเรชั่น จนเกิดการแลกเปลี่ยนอย่างดุเดือดมากมาย
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งในที่นี้ขออนุญาตเรียกว่ากลุ่ม Millennial ที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อโลกแห่งการแข่งขันที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยภาพรวมคนรุ่นใหม่มองว่าการแข่งขันในปัจจุบันไม่ใช่แค่ภายใน แต่สายตาของพวกเขามองตัวเองว่าตนเองนั้นเป็นพลเมืองโลกที่ต้องติดตามและพัฒนาตนเหมือนอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมั่นว่าคงไม่ได้หยุดแค่ 5G แน่ๆ
ตอนอ่านประเด็นที่ถกเถียงกันนั้น ผมก็มานั่งนึกคิดและพบกรอบความคิดกรอบหนึ่งว่า ถ้าเรายกกรอบเปรียบเทียบแห่งยุคสมัย ความต้องการของชีวิต และเจเนอเรชั่น ออกไป แล้วมองใหม่ว่ามันคือกรอบที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเองกรอบหนึ่งเพื่อเอาชีวิตให้รอด เราก็อาจจะพบว่า สาเหตุใดที่คนรุ่นใหม่จึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าทุกอย่างมีเหตุและมีผล รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ขับเคลื่อนพฤติกรรมที่เกิดการแลกเปลี่ยนเหล่านี้อยู่เช่นกัน
และคิดว่าในแต่ละช่วงเวลามักจะมีคีย์เวิร์ดที่ที่บ่งบอกถึงเทรนด์ที่สะท้อนพฤติกรรมบางอย่างอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่ามันจะหมุนวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนยุคหนึ่งที่ ‘Slow Life’ เข้ามาดึงจังหวะชีวิตเราให้ช้าลงอยู่ช่วงหนึ่ง โดยมีสื่อที่สะท้อนความแช่มช้านี้อย่างนิตยสาร Kinfolk และการเข้ามาของวัฒนธรรมการดริฟกาแฟอย่างละเมียดละไม
มาถึงประเด็นเรื่อง Productivity ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ค้างคาอยู่ในบทความนี้ สำหรับผมแล้วเรื่องนี้คิดว่าไม่ได้ส่งผลเสียแต่อย่างใดในการขับเคลื่อนชีวิตให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเพื่อความก้าวหน้าและความภูมิใจในชีวิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้
ผมลองเสิร์ชใน Google ว่า Why we should productive in crisis time สิ่งที่ค้นพบในหน้าแรกคือบทความจากสำนักข่าวชื่อดังและบล็อกส่วนตัวของนักเขียนและคอลัมน์นิสต์ ที่เขียนถึงเรื่องพวกนี้ ทั้งในแง่ภาพเล็กเชิงบุคคลกับเทคนิคฮาวทู และภาพใหญ่อย่างเชิงเศรษฐกิจในแง่ผลกระทบ เป็นต้น
แต่มีสำนักข่าวอย่าง New York Time ที่เขียนหัวข้อ Stop Trying to be Productive เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตไวรัสและคนทำงานหลายคนทั่วโลกกำลังนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน
หัวข้อนี้จึงน่าสนใจเป็นพิเศษ โดยเนื้อหาบทความก็ได้เขียนถึงบริบทที่เกิดขึ้น ซึ่งภายในเนื้อหาเป็นการรวมบทสัมภาษณ์ของคนหลากหลายอายุและอาชีพ รวมถึงคำอ้างอิงของที่ปรึกษาแนวนี้
โดยรวมก็พบว่าการ Stop Trying to be Productive ไม่ได้หมายถึงการบอกให้หยุดทำงานทำการให้น้อยลง แต่มีการขยายความถึงเหตุผลที่อาจทำให้ Productivity ลดน้อยลง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ทำงานหลักของคนที่ทำงานออฟฟิศมาก่อน โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวและลูกตัวน้อยๆ ซึ่งส่งผลต่อการโฟกัสในการทำงานของเราอย่างง่ายดาย ถึงขนาด Chris Bailey ที่ปรึกษาด้าน Productive และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “Hyperfocus: How to Manage Your Attention in a World of Distraction. ยังออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะ Productive กับช่วงเวลาที่ไม่ปกติเช่นนี้

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนที่ Productive ในช่วงวิกฤตเหล่านี้อยู่เหมือนกัน กรณีนี้มีการยกตัวอย่างชีวิตของ Sara Johnson วัย 30 ปี ที่ได้เพิ่มเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองที่ได้วางแผนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย หรือการทำอาหารกินเอง เป็นต้น
.ซึ่ง Nick Martin จาก New Republic ได้อธิบายถึงพฤติกรรมของ Sara Johnson ว่าเป็นเรื่องปกติของวิธีคิดแบบ American’s hustle Culture ก็คือการไม่หยุดพัฒนาตนเพื่อโอกาสการมีชีวิตที่ดีในอนาคตนั่นเอง โดยเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นกลางที่อยากไต่ขึ้นไปอยู่บนจุดที่สูงกว่าเดิม
.ประเด็นส่งท้ายที่สำคัญของการ Productive ที่โดยส่วนตัวเห็นด้วยมากที่สุด และคิดว่านี่คือ กับดักที่คนส่วนมากมักหลงทางนั่นคือ การชอบนำสิ่งที่เราทำไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นอยู่เสมอ และนั่นอาจนำไปสู่ภาวะ Burnout ได้ในที่สุด เรื่องนี้ Anne Helen Petersen คอลัมนิสต์จาก Buzz Feed เคยเขียนบทความที่ชื่อ How Millennials Became The Burnout Generation มาแล้วและอธิบายถึงปัจจัยที่แต่ละชีวิตมีรายละเอียดที่แตกต่างกันมากมายในเชิงความต้องการของชีวิตและมุม Productive ด้วย
ดังนั้น Productive ในฉบับของเราก็ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบในเชิงเหมารวมกับ Productive ของผู้อื่น เพราะบางคนงานบ้านงานเรือนแทบไม่ต้องรับผิดชอบ แม้กระทั่งการใช้เวลามานั่งซักกางเกงในของตัวเอง
มิติของการ Productive ตรงนี้จึงเป็นรายละเอียดที่ซ่อนทั้ง พลังกาย พลังใจ และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ที่จะถูกขับเคลื่อนไปยังปริมาณและคุณภาพของงานที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น อย่าไปติดกับดักการเปรียบเทียบ ถ้าเรายังไม่ได้ทบทวนถึงต้นทุนที่เราต้องแลกเพื่อความอยู่รอดอย่างจำเป็นกับสิ่งที่ควรทำก่อน ควรทำหลัง เพราะสิ่งเหล่านั้นที่เราทำลงไปในแต่ละวัน ก็คือ การ Productive ในโลกของเราที่ไม่ตรงกับโลกของคนอื่นก็เท่านั้นเอง

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน