ไม่แน่ใจว่า…คุณยังเก็บความรู้สึกของการไม่ชอบในสิ่งที่หัวหน้าเคยทำเอาไว้บ้างไหม
เช่น การให้ฟีดแบคที่รุนแรง เพื่อต้องการผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม การสื่อสารที่พูดอย่างทำอย่าง หรือการไม่ออกโรงปกป้องทีมในยามที่เกิดความผิดพลาดขึ้นมา
ไม่แน่ใจว่าของคนอื่นเป็นอย่างไร แต่สำหรับเรานั้นได้จดจำและตั้งคำถามต่อสิ่งที่เคยเกิดขึ้นไว้เกือบหมด พร้อมกับบอกตัวเองเท่ ๆ ไว้ว่า ถ้าเราได้โอกาสเป็นหัวหน้าจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
เหตุผลเพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีน้อง ๆ ในทีมตั้งคำถามกับสไตล์การบริหารแบบเพื่อนและคาดหวังผลลัพธ์แบบมืออาชีพ ซึ่งเอาเข้าจริงสไตล์แบบนี้ แต่ละคนก็ต้องมีพื้นฐานความรับผิดชอบสูง พร้อมกับการเปิดใจเรียนรู้จากสิ่งใหม่ที่อาจมาจากข้อมูลที่ค้นพบ หรือข้อผิดพลาดที่พบเจอ
ซึ่งบางทีมที่โชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานทัศนคติแบบนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องออกแรงเคี่ยวเข็ญผ่านวาจาผสมอารมณ์ให้มากนะ ซึ่งอยากจะบอกว่า การคัดเลือกคนเป็นด่านแรกที่ต้องอาศัยความละเอียดในการเจียรไนต่อการคัดกรองเป็นอย่างมาก ถ้ายังไม่เก่งก็ยังทำให้เก่งขึ้นได้ด้วยการเติมความขยัน แต่ถ้าเก่ง ขยัน และทัศนคติดี ก็จะยิ่งทำให้ความเก่งทะยานไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งปัจจัยสำคัญต่อการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ นั่นคือ “บรรยากาศ”
จากประสบการณ์การทำงาน ส่วนตัวเชื่อว่า บรรยากาศการทำงาน ส่งผลต่อแรงจูงใจและความกระตือรือร้นได้มาก บรรยากาศทำให้เราอยากมาทำงาน แม้เรื่องงานอาจไม่ได้มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่การได้มาเจอเพื่อนเพื่อนั่งคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งเรื่องงานและชีวิตที่สนุกสนานต่างหาก คือ ความลับที่ทำให้อยู่กับงานอย่างสนุกมากขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ก็คือ บทบาทของหัวหน้า ที่ต้องทำการบ้านในการออกแบบการสื่อสารความผิดพลาดอย่างไรให้ทีมได้เปิดใจเรียนรู้เพื่อเอากลับไปพัฒนาต่อ ภายใต้ความรู้สึกที่ไม่เกร็ง ไม่กลัว และให้พวกเขาทำความเข้าใจใหม่ว่า ความผิดพลาดถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงาน (อันนี้คงแล้วแต่อุตสาหกรรมและขนาดของความผิดพลาดด้วย)
เพราะการให้ฟีดแบคจากความผิดพลาดด้วยอารมณ์ที่รุนแรง โดยไม่ศึกษาธรรมชาติของลูกน้องแต่ละคน ที่มีประตูการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อการพัฒนาผลงานและตัวเขาเหมือนกัน
นี่คือโจทย์สำคัญที่ว่าทำไม หัวหน้าเก่งงานไม่พอ ต้องเก่งเรื่องคนด้วย
ซึ่งลองมาคิดตามกระบวนการแล้ว การฟีดแบคความผิดพลาดเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม หัวหน้าเองก็ไม่จำเป็นต้องใช้อารมณ์รุนแรงก็ได้นะ เพราะการฟีดแบคเพื่อให้ผลลงานดีขึ้น จริง ๆ ก็สามารถดีไซน์วิธีสื่อสารแบบฟีลกู๊ดได้ตั้งร้อยแปดพันเก้าวิธี ที่ยังรักษาความรู้สึกที่ดีให้แก่คนรับสารได้ด้วยการรับฟัง และกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดเพื่อเอาไปแก้ไขด้วยความยินดีมากขึ้น นั่นคือ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากอดีตและเอามาตั้งคำถามเพื่อปรับใช้ในปัจจุบัน
แต่ถ้าลูกน้องยังคงทำผิดซ้ำซากจนเหลืออดเหลือทน การใช้อารมณ์ในการกระตุ้นให้เขาพิจารณาตัวเองก็เป็นอีกวิธีที่พอทำได้ แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ตัวหัวหน้าเองก็ต้องพิจารณาตัวเองก่อนว่า
เอ…ที่น้องเป็นแบบนี้ หรือว่าเราบริหารไม่ได้เรื่องจริง ๆ ว่ะ 55

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน