การสั่งงานเยอะๆ ไม่ได้ทำให้พนักงานเก่งขึ้นเพราะอะไร

21 October 2022

การเพิ่มงานให้พนักงานเป็นเรื่องปกติที่ที่ทำงานหลายแห่งมักทำ

แต่รู้หรือไม่ว่า การเพิ่มงานให้แก่พนักงานนั้นมันมีกลยุทธ์ซ่อนอยู่

โดยเฉพาะถ้าเราอยากให้พนักงานเก่งขึ้น

กลยุทธ์ที่ว่านั้นก็คือ การหาคุณค่าหรือความภาคภูมิใจที่พนักงานจะได้จากงานที่กำลังจะถูกมอบหมายให้ทำนั่นเอง

จริงๆ แล้วการเพิ่มปริมาณงานมีประเภทของมันด้วย โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

คือ การเพิ่มงานแบบแนวดิ่ง กับ การเพิ่มงานในแนวราบ

ถามว่าแตกต่างกันอย่างไร?

การเพิ่มงานในแนวราบนั้น จะเป็นลักษณะงานที่พนักงานจะถูกมอบหมายในเชิงรูทีน หรืองานซ้ำๆ ที่ทำไปเรื่อยๆ ไม่ก่อให้เกิดทักษะใหม่ รวมถึงคุณค่าต่อตัวงาน ที่ไม่ได้ทำให้เกิดความภาคภูมิใจอะไร เรียกได้ว่า ต่อให้เราทำงานลักษณะนี้เยอะแค่ไหน ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น นอกเหนือจากความรับผิดชอบกับความเหนื่อยที่มากขึ้นเท่านั้น

มีการเปรียบเทียบการเพิ่มปริมาณงานแบบแนวราบอย่างติดตลกเชิงคณิตศาสตร์ที่พยายามวัดจากคุณค่าและความภาคภูมิใจที่จะได้ไว้ว่า การทำงานแบบนี้ เหมือนเราใส่จำนวนงานเข้าไปเยอะๆ แต่สุดท้ายก็เอามาคูณด้วยศูนย์ ซึ่งผลลัพธ์มันก็คือ ศูนย์​ เป็นการเปรียบเทียบที่น่าเจ็บปวดเสียจริง

มาฝั่งการเพิ่มงานในแนวดิ่งกันบ้าง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับแนวราบอย่างแน่นอน แต่ในส่วนนี้จะเกิดขึ้นกับพนักงานได้ หัวหน้าต้องมีการออกแบบการแจกจ่ายงาน และมองเห็นคุณค่าของงานที่จะส่งต่อให้ทีมทำต่อไปด้วย โดยเฉพาะการหาปัจจัยจูงใจที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะส่งมอบให้ทีมทำ เช่น ความรับผิดชอบ ความสำเร็จ การได้รับคำยกย่อง การได้พัฒนาตัวเอง  และความก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นในตำแหน่งของแต่ละคนภายในทีม

ซึ่งหลักการทั้ง 2 ประเภทในการเพิ่มงานนี้ ได้เคยมีการทดลองในองค์กรตัวอย่างไว้ด้วยเหมือนกัน แน่นอนว่าเดาได้ไม่ยากว่า กลุ่มที่ถูกเพิ่มงานในแนวดิ่งนั้นจะมีประสิทธิภาพในระยะยาวมากกว่ากลุ่มเพิ่มงานในแนวราบ โดยเฉพาะทัศนคติที่มีต่องาน ผลลัพธ์ที่ทำ และการมองเห็นคุณค่าในตัวเองที่แตกต่างไปจากเดิม

ที่สำคัญการเพิ่มคุณค่าให้แก่พนักงาน ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำครั้งเดียวแล้วจะจบไป แต่จำเป็นต้องมีการบริหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้คือบทบาทสำคัญของหัวหน้าหรือผู้มีอำนาจในองค์กร เพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพนั่นเอง และมันจะยิ่งสำคัญเป็นทวีคูณมากขึ้น เมื่อเรากำลังอยู่ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อย ที่ต้องอาศัยการปรับตัว และการเปิดรับจากทัศนคิติ มุมมอง และชุดทักษะใหม่ๆ เพื่อทางรอดขององค์กร และตัวพนักงานเองด้วยเช่นกัน

บทบาทของหัวหน้าในการบริหารคนในยุคนี้ จึงสำคัญไม่แพ้การสร้างกำไรในธุรกิจด้วยเช่นกัน ยิ่งพนักงานเป็นทรัพย์สินขององค์กร หัวหน้าก็จำเป็นต้องมองให้ออกว่า อะไรคือ ทรัพย์สิน หรือ หนี้สิน

ถ้าทุกวันนี้หัวหน้าเองมองไม่ออกว่าอะไรคือทรัพย์สินหรือหนี้สิน

และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรในการสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มมูลค่าให้กับทีมได้

หัวหน้าที่มีอำนาจในการบริหารและตัดสินใจ อาจจะเป็นหนี้สินขององค์กรเสียเองก็ได้ครับ

อ้างอิง : หนังสือ HBR 100

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *