หากคุณเคยดูโฆษณาลูกอมแบรนด์หนึ่งที่ส่งไปปุ๊บอมปั๊บ จากน้ำเสียงพูดจาที่เคร่งเครียดก็เปลี่ยนเป็นโทนเสียงอันหวานเจี๊ยบที่แอบซ่อนความน่ารักไว้ด้วยซ้ำ พอนึกถึงเรื่องราวโฆษณาตัวนี้จึงมีประเด็นที่อยากเขียนถึงนั่นคือ เรื่องของอารมณ์ในการสื่อสารของผู้นำในช่วงเวลาวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้ ว่าการบริหารและจัดการเรื่องอารมณ์นั้นสำคัญแค่ไหนและมีวิธีบริหารอย่างไร
อารมณ์นั้นมีพลังมากกว่าที่เราคิด เพราะเป็นทั้งจุดเชื่อมต่อความสัมพันธ์ และเงื่อนไขในการสร้างและทำลายในเวลาเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่การทำงานอย่างในบริษัทหรือองค์กรในเวลานี้ที่ทุกคนต่างกังวลภายใต้ความกดดันที่เกิดขึ้น ทักษะการบริหารอารมณ์จึงเป็นอีกกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับผู้นำที่จำเป็นต้องมีเป็นอย่างมาก

Mood like a Virus
ศาตราจารย์ Neal Ashkanansy จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ที่กำลังทำการศึกษาเรื่องอารมณ์กับพื้นที่การทำงาน ได้ย้ำว่าการบริหารอารมณ์ของผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับการสร้างบรรยากาศในการทำงาน และมองว่าอารมณ์คือไวรัสที่สามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็ว หากผู้นำมีการบริหารจัดการอารมณ์ที่ดีก็ส่งผลดีต่อบรรยากาศและสุขภาพจิตของลูกทีมด้วย แต่ถ้าไม่ดีทุกอย่างก็ดูย้ำแน่ไปหมดอย่าง
Emotional Control
จากเหตุผลข้างบนนั้น จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม ผู้นำจึงต้องมีทักษะการบริหารอารมณ์ นั่นเพราะการแสดงออกของผู้นำแต่ละครั้งนั้นล้วนมีต้นทุนที่ต้องแลกออกไปว่าจะสร้างบรรยากาศ ความกล้าเข้าหาเพื่อปรึกษาปัญหา ความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงสภาพจิตใจของคนทำงานที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ของการทำงานอย่างแน่นอน ทางออกของประเด็นนี้จึงอยู่ที่คำว่า Emotional Intelligence ที่เป็นหนึ่งสิ่งสำคัญต่อการบริหารอารมณ์ให้เป็น
Emotional Intelligence
การสร้าง Emotional Intelligence ที่สอดคล้องสำหรับผู้นำในสถานการณ์ตอนนี้คือการมีทักษะด้านการฟัง และทักษะความเข้าอกเข้าใจต่อความรู้สึกของทีมหรือคนทำงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นก่อน ซึ่งการเปิดใจฟังและทำความเข้าใจ จะทำให้เห็นปัญหา การขอความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนเกิดความเข้าใจต่อสิ่งที่ผิดพลาดและไม่เกิดการด่วนตัดสินใจจนเกินไป ที่สำคัญเมื่อทุกอย่างถูกการขัดเกลาเพื่อพิจารณาทำให้อารมณ์นั้นเย็นและสงบลง จนมีสติมากพอในการเลือกที่โทนในการสื่อสารออกไปอย่างเข้าใจพร้อมกับแนวทางการแก้ไขในแบบที่บรรยากาศไม่เสีย ทีมมีกำลังใจที่จะสู้กับปัญหาต่อไป
Emotional Labor
การแบกรับต้นทุนในการบริหารอารมณ์ต่อการสื่อสารของผู้นำก็ย่อมมีผลกระทบที่ตามติดมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับความคิดและความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง นั่นทำให้เกิดความเครียดสะสม นี่จึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่ผู้นำก็ตกเป็นทาสการบริหารอารมณ์ของตัวเองอยู่พอสมควร ซึ่งในระยะยาวสามารถส่งผลต่อเรื่องของสุขภาพทั้งด้านการกินดื่ม เช่น การกินอาหารในปริมาณที่มากเกินไป หรืออาจมีความเสี่ยงต่อการติดแอลกอฮอล์ เพื่อหาช่องทางระบายความตึงเครียดนั่นเอง
Emotion Free
เราจะเห็นได้ว่าการเป็นผู้นำกับการบริหารอารมณ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสามารถบริหารให้เกิดบรรยากาศที่ดีแก่ทีมได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริหารอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้คงเส้นคงวา ดังนั้น การหาจังหวะและโอกาสในการปลดปล่อยอารมณ์และความตึงเครียดอย่างอิสระ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้นำก็ควรบริหารให้ดีเพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นทาสของอารมณ์เสียเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นสบายๆ หรือการลองหาเวลาว่างทำสิ่งที่ชอบเล็กๆ น้อยๆ ก็น่าจะพอช่วยให้การบริหารอารมณ์และการใช้น้ำเสียงกับคำที่เหมาะสม ถูกส่งออกไปได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน (นะจ๊ะ)
อ้างอิง https://business.uq.edu.au/momentum/leaders-guide-managing-emotions-work
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/
หาใครกำลังมองหางานสามารถ Join Group หางานกับออฟฟิศ 0.4 ได้ที่ : https://bit.ly/37a71YR

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน