คนรุ่นใหม่ถูกกระตุ้นให้ประสบความสำเร็จเร็วดีหรือไม่

20 May 2022

ประเด็นที่ถูกถามต่อเนื่องจากการให้สัมภาษณ์รายการ Tomorrow ของ WorkPoint TODAY เป็นแนวคำถามที่ผมขอนำมาแชร์ต่อบนออฟฟิศ 0.4 อีกที ซึ่งคำตอบจากคำถามที่ได้รับมา ต้องบอกก่อนว่า แสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองนะครับ ไม่ได้มีผิดหรือถูกแต่อย่างใด หากใครอ่านแล้วอยากแนะนำเพิ่มเติม ก็สามารถแชร์ไว้ที่คอมเม้นท์ได้เลยนะครับ สำหรับประเด็นในหัวข้อนี้

Q: เด็กจบใหม่ถูกกระตุ้นให้ประสบความสำเร็จเร็วเกินไป ในฐานะของคนที่ผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว มีอะไรจะแนะนำไหม

A: ผมชอบนะ การถูกกระตุ้น คือ การรู้สึกอยากประสบความสำเร็จตอนช่วงวัย 20 นี่มันสนุก อย่างที่บอก มันคือโอกาสที่เราจะใช้ต้นทุนอย่าง แรง + เวลา ที่มีเยอะกว่าช่วงวัยไหนที่สุดแล้ว ถ้าสำเร็จเร็วก็ดี คุณก็มีฐานชีวิตที่เร็วกว่าคนอื่น ในการเอาไปต่อยอดอย่างอื่นต่อไง 

Q: ท่ามกลางสังคมที่กึ่งๆ อวดความสำเร็จ จะรับมืออย่างไรหากรู้สึกว่าเรากำลังเดินตามหลังเพื่อนรุ่นเดียวกัน

A: ผมว่าถ้าการอวดนั้นมันมาจากน้ำพักน้ำแรงเขาจริงๆ การหัดชื่นชมเขาก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเยอะเกินไปก็อาจเป็นเรื่องการตลาดบางอย่างหรือเปล่า 55 ลองมองให้เป็นเรื่อง ตลก กับ การตลาด แล้วลองสังเกตดู ผมเคยนะ มีพี่คนนึงโพสต์ภาพตัวเองหุ่นดีมาก บ่อยมาก ผมเลยทักไปถาม สุดท้ายขายของเฉย 55 

Q: ช่วงหลังคนวัยทำงานหลายคนเหมือนจะบ่นไปในทิศทางเดียวกันว่า “อายุ 20+ แล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกโตมากเท่าที่คิดไว้” แล้วก็ suffer กับการไม่รู้สึกโตของตัวเอง ถามคุณโอมศิริว่า อายุเท่าไหร่ หรือสิ่งที่ที่บอกเราว่าเรา ‘โตแล้ว’

A: เมื่อเราดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ รับผิดชอบได้ แก้ไขได้ ผมยังเห็นคนอายุ 50 กว่า ยังแวะมาขอเงินแม่อายุ 80 อยู่เลย แบบนั้นคือการโตตามธรรมชาติ ไม่ได้โตเพราะความสามารถ

Q:  เมื่อต้องเดินทางมาสู่ทางแยกของ ‘งานในฝัน’ กับ ‘งานที่จะพาเราไปต่อ’ เราตัดสินใจเมื่อต้องเจอเหตุการณ์นี้ยังไง (ex.ยุคนี้เด็กจบใหม่อยากขายของออนไลน์ แต่งานประจำมั่นคงกว่า)

A: เน้นความจริง ไม่อิงทฤษฎี ทำงานแบบมีกินก่อน ส่วนอาชีพอื่นๆ ถ้าเราชอบจริงๆ หรือจำเป็นจริงๆ เราจะหาเวลาไปหามันเอง ความมั่นคงสำคัญ ความเท่เดี๋ยวค่อยสร้างทีหลังได้ 

Q: เดี๋ยวนี้หลายๆ บริษัทเริ่มกำหนดคุณสมบัติพนักงานว่า ‘มีอายุไม่เกิน 30 ปี’ อยากแนะนำให้คนที่ยังมีโอกาสเตรียมตัว ควรเริ่มที่อะไร ในภาวะที่สังคมมีการแข่งขันสูง

A:    1. คิดก่อนว่า สุดท้ายเราจะไปอยู่ตรงไหนในงานของเรา

       2. ถ้าคิดไม่ออก ตั้งสมมติฐานเลยว่า ถ้าตกงาน จะทำอะไร 

       3. รักษาเพื่อนสนิท ดูแลเพื่อนร่วมงานให้ดี เพราะนี่คือร่างทรง Head Hunter ที่จะเสนอและแนะนำงานให้เราแบบคาดไม่ถึง   

Q: มีคนบอกว่าเมื่อเราอายุ 30+ ปี มันคืออายุที่บอกแล้วว่าชีวิตการทำงานของเราประสบความสำเร็จหรือเปล่า เพราะมันไม่มีโอกาสกลับไปเริ่มต้นใหม่แล้ว คิดว่ามันเป็นแบบนั้นเสมอไปไหม แล้วจะรับมือยังไง ถ้าชีวิตจริงเรากลับไม่ได้เท่เหมือนที่เคยฝันไว้

A: ปัญหาของเรื่องนี้มี 2 คำตอบ คือ ปัญหาที่แก้ได้ กับ แก้ไม่ได้ งานกับความสำเร็จบางอย่างมันมีระยะเวลาปิดรับสมัคร ถ้าไม่ทันก็ต้องหาสนามถัดไป แค่นั้นเอง ยอมรับและเดินหน้าต่อ

Q: คุณเขียนหนังสือ ‘สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก’ ถ้าถามย้อนกลับ มีเรื่องไหนที่เราอยากบอกเจ้านายบ้างไหม?

A: ถ้ามีโอกาสก็อยากเขียน ‘บอกไว้ก่อนนายสอนไว้’ เพราะตอนนี้เราเป็นหัวหน้าคนแล้ว มีหลายสิ่งที่ค่อยๆ สอนน้องๆ ในโลกการทำงานและโลกการเงินที่ทำอยู่ไปด้วยเหมือนกัน และอาจส่งหนังสือเล่มนี้กลับไปให้หัวหน้าทุกคนได้อ่าน และเขียนคำนำดักไว้ว่า ถ้าพี่สอนผมตั้งแต่ตอนนั้นนะ ป่านนี้ผมไปไกลกว่านี้เยอะเลยนะ แฮ่ม!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *