คนหนุ่มสาววัยทำงานควรบริหารความเครียดอย่างไร

10 February 2020

เราไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่เราจั่วขึ้นมาได้ แต่เราจะเล่นไพ่ในมือที่เหลืออย่างไรต่างหาก

            คำเอยด้านบนเป็นประโยคของแรนดี เพาซ์ ศาสตราจารย์วิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่เขียนหนังสืออันโด่งดังอย่าง ‘The Last Lecture’ ให้ผู้คนทั่วโลกได้รับความรู้สึกต่อบทเรียนชีวิต และสิ่งที่มีค่าจากลมหายใจของแรนดีที่ผ่านมา

            สาเหตุการหยิบยกคำของ แรนดี เพาซ์ ขึ้นมานั้น เกิดจากสภาวะการทำงานของผมและเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนที่ไม่สามารถควบคุมผลกระทบจากเศรษฐกิจ และผลประกอบการขององค์กร ส่งผลต่อการยุบแผนก และมีการจ้างให้ออกจากงานอย่างกะทันหัน

            คนวัยหนุ่มสาวอย่างผมอาจมีอาการตกอกตกใจบ้างเล็กน้อย แต่คงไม่เจ็บตัวมากสักเท่าไหร่ หากเทียบกับบรรดาพี่ที่มีอายุงานมากพร้อมกับภาระที่อยู่ข้างหลัง ผมจึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นน้ำตาของพวกเขา ในขณะที่ตัวผมเองก็แอบกังวลอยู่ไม่น้อยว่าจะเล่นไพ่ที่เหลืออยู่ในมืออย่างไรต่อจากนี้

            อาจารย์คิมรันโด ผู้เขียนหนังสือ ‘ในเวลาที่หม่นเศร้าชีวิตก็ยังเป็นของเรา’ ได้เขียนประโยคสั้นๆ ประโยคหนึ่ง ซึ่งเป็นภาษาละตินเพื่อให้ความหวังต่อการดำเนินชีวิตในยามที่เผชิญกับปัญหานั่นคือ ‘Spero Spera’ แปลว่า ‘ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจก็ยังมีความหวัง’ เมื่อผมนำเนื้อหาที่อาจารย์คิมเขียนกลับมาอ่านอีกครั้งในยามวิกฤตทางการงาน มันทำให้ผมเข้าใจเนื้อหาและความหมายมากขึ้น

            สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชีวิต คล้ายการถูกฟ้าผ่าตอนกลางวันชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง นำพาความเครียดมากัดกินความรู้สึกจนหลายคนไม่ค่อยพอใจต่อการกระทำขององค์กรเสียเท่าไหร่นักในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากการได้แลกเปลี่ยนความคิด และความรู้สึกของใครหลายคน ผมพบว่าชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง และการมองโลกในแง่ดีต่อวันข้างหน้าที่จะมาถึง

            หลายคนมองว่าวิกฤตเหล่านี้คือโอกาสของพวกเขาที่จะออกไปทำอาชีพที่แค่เคยคิดว่าอยากทำ จนได้ทำจริงๆ บางคนมองว่ามันคือการได้สะสมทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากเงินชดเชย จากนั้นก็รีบหางานใหม่ให้เร็วที่สุด บางคนขอบคุณความเครียดที่เตือนสติต่อรูปแบบการใช้ชีวิต และทรัพย์สินอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

            อาจารย์คิมรันโดได้ให้ข้อเท็จจริงที่น่าขบคิดต่อข้อดีของ ‘ความเครียด’ ที่เกิดขึ้นในชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ

ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าเราควรมีชีวิตที่ราบรื่นปราศจากความเครียด ทั้งที่ความจริงแล้วชีวิตควรถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ‘ความเครียดที่เหมาะสม’ (Optimum Stress) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีต่อชีวิต ไม่ว่าจะมีเรื่องใดมากระทบจิตใจ เราจะสามารถรับมือต่อสภาวะที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเดิม

            ผมพบว่ามีความจริงบางอย่างที่สอดคล้องต่อคำอธิบายของอาจารย์คิม เพราะหลายปีก่อนแม่ของผมเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะที่น่าเป็นห่วง ทว่าปัจจุบันแม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง แต่ระหว่างช่วงที่แม่รักษาตัว ความทุกข์ในอกความระทมในใจได้สร้างภูมิคุ้มกันต่อความเครียด และความกลัวมากมายให้แก่ผม

            ทุกครั้งที่เผชิญปัญหาใดๆ ผมมักบอกกับตัวเองเสมอว่า เราผ่านปัญหาที่หนักกว่านี้มาแล้ว และเราเชื่อว่าทุกปัญหาต้องมีวิธีรับมือ และหนทางแก้ไขได้เสมอ แม้บางครั้งเราอาจต้องสูญเสียไพ่ที่ดีในมือไป แต่ถ้าเราตั้งสติ และคิดให้รอบคอบที่สุดเท่าที่จะทำได้ โอกาสที่เราจะพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะก็ย่อมมีอยู่เสมอ

            หัวหน้าของผมเตือนอยู่เสมอว่าคนทำงานทุกคนควรมีแก่นความสามารถพิเศษที่โดดเด่นอย่างน้อย 1 อย่าง เพื่อให้มีความแตกต่างจากบุคคลอื่นๆ โดยหัวหน้ายกแนวคิดของศาสตราจารย์โดโรธี บาร์ตัน แห่งฮาร์วาร์ด ที่ได้เสนอแนวคิด T – Shape ไว้ว่าความสามารถที่พิเศษควรจะเกิดการเรียนรู้ และความชำนาญที่ลงลึกกว่าคนอื่นๆ โดยเปรียบเทียบเป็นแก่นแนวตั้งของตัว T

            ส่วนคานด้านบนที่ทอดเป็นแนวยาวนั้นคือทักษะ และความสามารถอื่นๆ ที่เราสามารถคิด และทำได้ แต่ไม่ลึกเท่าแก่นที่เรามี ทว่าบางคนอาจมีแก่นมากกว่าหนึ่งก็ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เรามีทักษะทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม

            นอกจากนี้ หัวหน้าได้เพิ่มเติมเรื่องของการทำงานในอนาคตที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นซึ่งคนส่วนใหญ่อาจขาดแคลนไปนั่นคือการใช้แก่นของตัวเองกับการทักษะอื่นๆ มาทำการวิเคราะห์เพื่อหาจุดเชื่อมโยงให้เกิดโอกาสใหม่ๆ หากเปรียบเทียบต่ออักษรตัว T จุดวิเคราะห์จะอยู่บริเวณการเชื่อมต่อระหว่างแกนกลางแนวตั้งและแนวนอนนั่นเอง ดังนั้นบทบาทของคนทำงานในวันข้างหน้า จึงต้องมีทั้งความสามารถที่ลึก ความรู้ที่กว้าง และการสังเคราะห์เพื่อให้เกิดหนทางใหม่ๆ อยู่เสมอ

            การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ย่อมแตกต่างจากยุคก่อนๆ คนทำงานหลายคนหากไม่สามารถปรับตัวได้ย่อมต้องเจอกับสภาวะที่น่าอึดอัดใจอย่างแน่นอน และที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นคือ กระบวนการคิด การทำงานที่ประสบความสำเร็จในอดีตไม่สามารถกำหนดสูตรความสำเร็จในอนาคตได้อย่างที่ผ่านมา นี่อาจถึงเวลาที่เราต้องคิดให้มากขึ้นก่อนทิ้งไพ่ใบสำคัญของชีวิต และหัดให้กำลังใจตัวเองให้มากขึ้น เมื่อการตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสำคัญในมือเกิดความผิดพลาด

            ตราบใดที่ลมหายใจของเรายังไม่หมด นั่นหมายความว่าเรายังคงมีความหวังที่จะสู้ต่อไป

            จนกว่าเราจะพึงพอใจกับชีวิตที่ควรจะเป็นของเรา

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *