คนเก่งคิดแบบนี้ไงพูดอะไรก็รู้เรื่อง

23 June 2022

คนเก่งคิดแบบนี้ไงพูดอะไรก็รู้เรื่อง เป็นหนังสือที่ถูกถ่ายทอดมาจากครีเอทีฟมือรางวัลชาวญี่ปุ่น อย่าง อุเมดะ ซาโตชิ ที่เอาประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิตการทำงานมาถ่ายทอดถึงเรื่องเทคนิคการสื่อสาร ที่เป็นสิ่งจำเป็นเอามาก ๆ ต่อโลกการทำงาน ให้เกิดความก้าวหน้า และเป็นที่ยอมรับของผู้ฟัง ไม่ว่าจะมีสถานะหรือความสัมพันธ์แบบไหนกับเราก็ตาม

“คนฉลาด เพราะเขามีบางอย่างจะพูด

คนโง่พูด เพราะเขาต้องพูดบางอย่าง”

คำสอนและให้แง่คิดของเพลโต อ่านตามแล้วก็แอบเห็นด้วยเล็กน้อย แต่ถ้ามาอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็อยากจะเติมไปอีกหน่อยว่า คนที่ฉลาดกว่า เพราะเขามีเทคนิคการพูดที่ดีกว่าเขามีบางอย่างจพูด แหม่…ขิงเพลโตนะครับ

ซึ่ง อุเมดะ ได้พาเราไปพบเจอปัญหาในการสื่อสารเบื้องต้นของใครหลาย ๆ คน ก่อนที่จะสื่อสารออกไป นั่นคือ การต้องเผชิญกับความคิดของตัวเอง ดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้น่ากังวล แต่ปัญหาการเผชิญความคิดของตัวเอง คือ ความไม่มั่นใจในการที่จะสื่อสารออกไปให้คนที่อยู่ตรงหน้านั้น มีความคล้อยตาม เห็นด้วย เชื่อมั่น เชื่อใจ และเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารออกไปนั่นเอง

ซึ่งอาการแบบนี้คุณอุเมดะ บอกว่า มันจะมีอาการในการตัดสินใจเลือกคำที่จะใช้ออกมากับการสื่อสารไม่ถูก ซึ่งเราต้องหมั่นฝึกซ้อมคุยกับความคิดของเราบ่อย ๆ ว่าจะเลือกใช้คำไหนดี เอาจริง ๆ คุณอุเมดะ ก็ไม่ได้บอกชัดเจน ขนาดนั้น แต่สำหรับเทคนิคที่ผมอยากเพิ่มเติมคือ การฟังบทสัมภาษณ์เยอะ ๆ กับคนหลากหลายรูปแบบ รวมถึงอ่านหนังสือที่หลากหลาย ก็สามารถเพิ่มคลังคำในการเอาไปใช้ในการสื่อสารได้ด้วยเช่นกันครับ

มาถึงเทคนิคส่งท้ายที่สำคัญในตอนแรกที่คุณอุเมดะ แนะนำเพื่อเติมความมั่นใจและให้เกิดแนวโน้มการยอมรับของคนฟังเพิ่มมากขึ้น มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน คือ

1. ไม่เข้าใจ – เข้าใจผิด

อุเมดะอธิบายว่า การที่เราสื่อสารออกไปแล้ว แต่อีกฝ่ายไม่เข้าใจในเนื้อหา แสดงว่าเกิดจากการรับรู้ที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร ดังนั้น เราควรทบทวนสิ่งที่เรารู้และเข้าใจ ก่อนที่จะพูดออกไปให้มาก ๆ เพราะนี่คือต้นน้ำแรกที่สำคัญ

2. พอใจ

ต่อจากข้อแรก ถ้าเราสื่อสารออกไปด้วยความเข้าใจ เข้าใจในที่นี้ คือ เข้าใจในเนื้อหา และเข้าใจในความรู้สึกของผู้รับสารด้วย ก็จะยิ่งก่อให้เกิดความพอใจมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งบางครั้งผู้รับสารก็อาจเกิดแค่ความเข้าใจ แต่อาจไม่พอใจกับบางอย่าง เช่น น้ำเสียง ท่าทาง หรือคำบางคำที่เราเลือกใช้ไม่ถูกใจก็ได้

3. ยอมรับ

เมื่อข้อ 1 กับ ข้อ 2 แข็งแรง แนวโน้มที่จะทำให้ผู้ฟังคนนั้นเกิดการยอมรับก็มีสูงขึ้น สิ่งที่ อุเมดะ เพิ่มเข้ามาก็คือ ถ้าผู้ฟังคนนั้นเอ่ยขึ้นมาว่า ‘อย่างนี้นี่เอง’ นั่นคือสัญญาณคำตอบของการยอมรับและความเข้าใจที่มีต่อผู้พูดที่ทำให้เบาใจไปอีกเยอะ

4. มีความรู้สึกร่วม

เมื่อข้อ 1 , 2 , 3 ลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ผู้ฟังคนนั้นเกิดความมีรู้สึกร่วมได้แล้ว ซึ่งหลังจากนั้น อุเมดะ แนะนำว่า เราสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อตอกย้ำความเชื่อและความเข้าใจของผู้ฟัง เพื่อให้ผู้ฟังนั้น รู้สึกอยากมีส่วนร่วมกับข้อคิดที่นำเสนอมาด้วยนั่นเอง

แม้เทคนิคเหล่านี้จะเห็นเป็นขั้นเป็นตอนที่ชัดเจน แต่มันจะไม่ส่งผลอะไรเลย ถ้าเราไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาที่จะพูด หรือการเข้าใจในความคิดของตัวเองก่อน เพื่อกลั่นกรองสิ่งสำคัญ และคำที่โดนใจต่อผู้ฟังที่อยู่เบื้องหน้าให้เหมาะสม

ดังนั้น สิ่งที่อุเมดะฝากไว้ในช่วงแรกคือ การสร้างนิสัยคิดในหัวให้ลึกซึ้งก่อนที่จะสื่อสารออกไปพร้อมกับการใช้เทคนิค 4 ขั้นตอนที่อธิบายไว้ข้างต้นนั่นเอง  แต่อุเมดะก็บอกว่า เราสามารถสื่อสารเก่งได้กว่านี้อีกถ้าเราเข้าใจ วงจรความคิด

ติดตามได้ในบทหน้า

ที่มา: หนังสือ คนเก่งคิดแบบนี้ไง พูดอะไรก็รู้เรื่อง สนพ. บิงโก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *