ความคิดสร้างสรรค์อาจหายไป ถ้าปล่อยให้ความเคยชินครอบงำ

30 May 2020

บนถนน พ่อกำลังขับรถเพื่อมุ่งหน้าไปยังบึงน้ำแห่งหนึ่ง โดยมีลูกชายนั่งขนาบข้างมาด้วยหนึ่งคน

เมื่อถึงสี่แยกไฟแดง พ่อลูกหันมาคุยกันออกรสชาติ จนเสียหัวเราะดังเต็มคันรถ

เมื่อสัญญาณไฟเขียวแสดงขึ้น เสียงเข้าเกียร์ตามด้วยล้อรถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้พารถของพ่อลูกคู่นี้ไปยังที่หมาย

แต่ทันใดนั้น รถพ่วงหกล้อได้วิ่งผ่าไฟแดงมาชนรถพ่อลูกคู่นี้อย่างสนั่น

ในโรงพยาบาล เสียงรถเข็นที่บรรทุกร่างของลูกชายที่ประสบอุบัติเหตุมุ่งตรงไปยังห้องฉุกเฉิน

และทันทีที่รถเข็นนำร่างของลูกชายเข้าห้องฉุกเฉิน คุณหมอที่ยืนรอรักษาผู้ป่วยอยู่นั้นตกใจอย่างกะทันหัน

จากการเห็นร่างลูกชายที่ประสบอุบัติเหตุอย่างสาหัสนอนซมอยู่เบื้องหน้า

มาถึงบรรทัดนี้คุณคงสับสนใช่ไหมครับว่า ทำไมคุณหมอถึงตกใจที่เห็นลูกชายนอนซมอยู่ตรงหน้า

ไม่แปลกหรอกครับที่เราจะนึกว่าคุณหมอ คือ พ่อของเด็กชายที่นั่งรถไปด้วยกันจนประสบอุบัติเหตุ

เพราะนี่คือ ตัวอย่างของความเคยชินที่เกิดจากการรับรู้ของมนุษย์

ความจริงแล้วคุณหมอที่เห็นลูกชายตนเองนั้น คือ แม่ของเด็กชายนั้นเอง

โดยปกติ เราจะคุ้นหูคุ้นตาว่า หมอต้องเป็นผู้ชายบ่อยครั้งกว่าที่จะเป็นผู้หญิง อย่าแปลกใจไปเลยครับว่าทำไมแว๊บแรกที่อ่านจบแล้วถึงได้งงว่าคุณหมอคือพ่อของเด็ก

ต้นเหตุของความเคยชินมักก่อจากการทำอะไรซ้ำๆ

แต่การทำอะไรซ้ำๆ ก็มีข้อดีเช่นกัน เช่น การฝึกฝนเพื่อก่อให้เกิดทักษะชั้นสูงก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญเสียเท่าไหร่

ดร. ปาสคาล มิเชลอน ศาสตราจาร์ยพิเศษแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า ‘หากเราทำอะไรซ้ำๆ ก็จะทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น’

ดร. ปาสคาล เผยงานวิจัยที่เขาทำกับทุกคนตั้งแต่คนขับแท็กซี่ไปจนถึงนักดนตรี

ดร. ปาสคาลยังระบุอีกว่า หากเปรียบเทียบคนขับรถประจำทางกับคนขับรถแท็กซี่แล้ว คนขับรถแท็กซี่ส่วนมากจะมีฮิปโปแคมปัสในสมองส่วนหลังโตกว่า

ฮิปโปแคมปัสมีบทบาทเฉพาะในการพัฒนาทักษะด้านการค้นหาเส้นทาง ดังนั้นฮิปโปแคมปัสของคนขับรถประจำทางจึงไม่ค่อยได้ทำงาน เพราะพวกเขาขับตามเส้นทางเดิมทุกวัน

การที่ ดร.ปาสคาล ยกตัวอย่างคนขับรถแท็กซี่กับคนขับรถประจำทางขึ้นมานั้น ทำให้มองเปรียบเทียบลึกเข้าไปอีกขั้นว่า คนทำงานประจำเปรียบได้กับคนขับรถประจำทางที่ใช้ชีวิตกับเส้นทางเดิมๆ ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการเป็นคนขับรถแท็กซี่ที่ต้องพบเจออะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคนทำงานประจำจะไม่มีฮิปโปแคมปัสที่โตกว่าผู้ประกอบการอิสระเสียทีเดียว เพราะสิ่งที่มนุษย์มีคือศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง เพียงแต่ต้องฝึกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินทั้งหลายให้แตกต่างกันออกไปในแต่ละวัน เช่น เช้าวันนี้เราจับฝักบัวด้วยมือซ้ายแทนมือขวา หรือสลับมือที่ไม่ถนัดมาจับช้อนกินข้าวแทน เป็นต้น

กระบวนการเหล่านี้เป็นการฝึกประสาทสัมผัสให้สมองทั้งสองซีกมีประสิทธิภาพอย่างสมดุล คล้ายกับการฝึก Juggling หรือการโยนบอลสามลูกแล้วสลับรับส่งกันไปเรื่อยๆ นั่นเอง (ลองเล่นดูนะครับ)

ทักษะอีกอย่างหนึ่งที่คนทำงานประจำอย่างผมพยายามฝึกอยู่จนถึงทุกวันนี้ คือ ‘การสังเกต’

การสังเกต เป็นการฝึกสายตาชั้นดี โดยไม่ได้เข้าข่ายขั้นสอดรู้สอดเห็นแต่อย่างใด เพียงแต่พยายามสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เราใช้ชีวิตร่วมอยู่

การสังเกตเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่คนทำงานสร้างสรรค์ควรค่าแก่การฝึกฝน เพราะมันจะนำมายังการสร้างงานใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากการต่อยอดจากความคิดของผู้อื่นที่เคยทำไว้

ปี ค.ศ. 1936 ซิลแวน โกลด์แมน คือ เจ้าของร้านซูเปอร์มาร์เก็ต Piggly Wiggly โดยการช้อปปิ้งในเวลานั้นยังใช้ตะกร้าเป็นอุปกรณ์บรรจุสินค้าเท่านั้น ซิลแวนสังเกตว่าของที่ขายได้จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการถือตะกร้าของลูกค้า

เป็นไปได้ว่า หากตะกร้ามีน้ำหนักมากจนลูกค้าไม่สามารถถือได้ ก็เป็นการตัดโอกาสที่ลูกค้าจะเดินดูหรือซื้อของเพิ่มไปโดยปริยาย

จากการสังเกต ซิลแวนจึงตั้งคำถามต่อตัวเองว่า ‘ทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อของในร้านได้เยอะขึ้น’

ซิลแวนใช้เวลาอยู่พักใหญ่ จนเมื่อหลอดไฟบนหัวของเขาติด เขาติดต่อช่างให้ทดลองนำตะกร้าวางบนเก้าอี้ไม้และต่อล้อไว้ที่ปลายขาทั้งสี่ด้านของเก้าอี้

ใช่ครับ ซิลแวน โกลด์แมน คือ คนที่ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกมีเครื่องทุนแรงในการช้อปปิ้ง

นั่นคือ รถเข็นนั้นเอง

การสังเกตของซิลแวนทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีจากการเก็บค่าลิขสิทธิ์การขายรถเข็นทุกคันและที่สำคัญทุกวันนี้ที่เราเขาซุปเปอร์มาร์เก็ต เรายังใช้เครื่องทุนแรงจากข้อสังเกตของซิลแวนอยู่

การสังเกตจึงเป็นเครื่องมือที่จะสร้างโอกาสให้เราอยู่รอดจากความเคยชินที่เรามักคิดว่ามีแต่สิ่งเดิมๆ วนเวียนอยู่รอบตัว ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลงหรอกครับ

ลองหัดมองให้มากขึ้น ตั้งคำถามให้มากขึ้น

มีเรื่องใหม่ๆ ซุกซ่อนอยู่ในความเคยชินมากมายที่เราไม่ได้ตั้งใจจะค้นพบมัน

และเมื่อเราพบมุมใหม่ๆ

เราจะรู้ว่า…โลกนี้จะมีคุณหมอที่เป็นผู้หญิงมากมาย มีฮิปโปแคมปัสตัวใหญ่อยู่ในสมอง

และมีรถเข็นอีกหลายคันที่คนส่วนมากมองไม่เห็น

ถ้าไม่เริ่มต้นทลายความเคยชินด้วยการสังเกต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *