ถ้าใครกำลังสงสัยอยู่ว่าการถ่อมตัวในการทำงานนั้นจะส่งผลอย่างไรบ้าง วันนี้ผมมีข้อมูลมาแชร์กันครับ
สาเหตุที่เขียนเรื่องนี้เพราะมีโอกาสได้อ่านหนังสือ ‘ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ’ ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้ที่ศึกษาเรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแห่งความสุข จากมหาวิทยาลัยวอร์วิกประเทศอังกฤษ ซึ่งในตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้เขียนถึงคำว่า Humblebrag เอาไว้ครับ
จริงๆ แล้วศัพท์คำนี้มันเป็นคำที่ผสมกันระหว่าง ‘Humble’ ที่แปลว่า ‘ถ่อมตน’
ส่วนคำว่า ‘Brag’ นั้นกลับเป็นคำตรงข้ามและให้ความรู้สึกที่สวนทางนั่นคือ ‘โอ้อวด’
ถ้ารวมคำด้วยกันแล้ว ‘Humblebrag’ จึงเป็นการถ่อมตนแบบขี้อวดดีๆ นี่เอง
ถ้าให้ผมจำกัดนิยามเองก็คือ การขี้อวดอีกแบบหนึ่งที่อารมณ์ไม่มั่นใจ แต่ก็อยากโชว์ว่าก็มีของดีอยากอวดนั่นเอง ซึ่งจริงๆ คอนเซปต์ของคำนี้มันก็มีแค่นี้แหละ แต่คำถามที่น่าคิดต่อคือ ถ้าเราหรือเพื่อนร่วมงานเป็นคนประเภทนี้มันจะส่งผลต่อการทำงานด้วยไหมหว่า
คำตอบคือมีแน่นอนจ้า เพราะประเด็นนี้มีคนสนใจเยอะเหมือนกัน แถมยังมีการเก็บข้อมูลจากงานวิจัยมายืนยันด้วยนะ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตาคมอย่าง Ovul Sezer ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมในองค์กรจาก Kenan-Flagler Business School แถมเธอยังเคยตีพิมพ์ประเด็นนี้ลงใน Journal of Personality and Social Psychology อีกด้วย
ซึ่ง Sezer เธอมีชุดคำถามเพื่อเช็คว่าคุณเป็น Humblebrag ไหม ทำนองว่า ‘คุณคิดว่าจุดอ่อนที่สุดของคุณคืออะไร?’
ถ้าคุณตอบประมาณว่า ‘เอาแค่การจะหาจังหวะพักยังยากเลย งานที่ทำอยู่มันเยอะมาก’ ก็อาจเข้าข่ายได้นะ
ถามว่าการนำฟีดแบคตามตัวอย่างที่ทดสอบไว้ในออฟฟิศ คนที่เห็นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าเรา ก็จะมีมุมมองต่อคนที่ตอบแบบนี้ว่า เป็นกลุ่มคนที่เข้าข่ายคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และสมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนที่สูง และได้รับการโปรโมทอีกด้วย
ซึ่งเอาเข้าจริงจากตัวอย่างและข้อสันนิษฐานที่คาดการณ์ไว้ มันควรจะดำเนินไปได้ด้วยดีใช่ไหม แต่ Sezer บอกว่าเปล่าเลย ทว่ากลับสำแดงฤทธิ์ความน่ารำคาญให้แก่เพื่อนร่วมงานอีกต่างหากจากภาวะ Humblebrag เนี่ยแหละ
เพราะว่าถ้าทำบ่อยๆ เข้า ผู้คนจะจับชีพจรได้ว่าสิ่งที่สื่อสารออกไปนั้นมันไม่มีความจริงจากภายในสักเท่าไหร่ แถมมันยังสร้างผลกระทบตามมาอีกด้วย
Sezer ยังได้มีการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ต่ออีกด้วยว่า หากเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เป็นจำพวก Humblebrag กับ กลุ่ม Bragger หรือ สาย Complainer ไปเลยจะเป็นอย่างไร ผลสรุปว่า คนมักจะรู้สึกรับได้และสบายใจกับกลุ่มหลังมากกว่าที่ต้องมารับกับกลุ่มแรกในที่ทำงาน
Sezer ให้เหตุผลว่า บางคนคิดว่าการถ่อมตนคือกรอบศีลธรรมอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่น และบางทีการนำกรอบนั้นมาใช้กับการโอ้อวด ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการนำเสนอทั้งสองแบบ
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว Sezer บอกว่ามันไม่ดีทั้งสองแบบ เธอให้เหตุผลว่าวิธีการนำเสนอแบบนี้จะทำให้เพื่อนร่วมงานมองคุณเป็นคนที่ไม่เอาการเอางาน ซึ่งมันอาจส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคุณด้วย
Sezer เตือว่าการนำเสนอแนว Humblebrag ไปบ่อยๆ มันเสี่ยงต่อการที่เราจะถูกตอบสนองจากเพื่อนร่วมงานไปอีกแบบเลย ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ดีแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมทัศนคติที่เพื่อนมองเข้ามา หรือการให้ความช่วยเหลือในการทำงาน การโปรโมท หรือแม้กระทั่งฟีดแบคที่ดีที่คุณควรจะได้รับ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับงานก็อาจชวดไปด้วย
ถามว่าจะต้องแก้อย่างไร ถ้ายังมีเส้นทางให้กลับตัวทัน Sezer แนะเอาไว้มีอยู่ 2 วิธีคือ
1. ถ้ามั่นใจว่ามีของดีจริงก็บอกตรงๆ ไปเลย ว่าเราทำอะไรประสบความสำเร็จบ้าง เรียกได้ว่าเป็นคนตรงกับผลลัพธ์ที่เราทำสำเร็จจะดีกว่า ไม่ต้องมาลีลาว่าโอ้ยไม่เก่งหรอก มันฟลุ๊คอ่ะ ถ้านึกไม่ออก ลองนึกหน้าเพื่อนสมัยเรียนที่มันสอบได้ที่ 1 ตลอด แต่เวลาออกมาจากห้องสอบแล้วมักบอกทำไม่ได้อะไรทำนองนั้น แม่งเอ้ย!
2. สืบเนื่องมาจากข้อแรก ถ้าเราบอกตรงๆ เลยว่าเราเก่ง เราทำได้ แน่นอนว่าบางคนอาจไม่เชื่อ ก็ให้หัดหาพยานที่เป็นอีกเสียงว่า เราเองก็ทำงานได้ มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน อันนี้เป็นกลยุทธ์โดยการใช้บุคคลที่สามเข้ามาช่วยไปเลย
สุดท้ายแล้ว Sezer ก็บอกว่าพื้นฐานที่ดีที่สุดไม่ว่าคุณจะทำงานกับใครที่ไหนอย่างไรก็ตาม คือ ความซื่อสัตย์และจริงใจ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรากับงานที่ทำมีคุณค่าไปด้วยกัน และมันจะทำให้เรากลายเป็นตัวจริงเสียงจริง
ซึ่งสามารถกล้าพูดได้เลยว่าเราทำงานดี สร้างผลงานได้ ไม่ต้องมาแนวอวดแบบอ้อมๆ หรือถ่อมตนผสมอวดไปด้วยแบบนั้น มีความเสี่ยงจะโดนเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าหมั่นไส้เอาได้นะจ๊ะ
สุดท้าย พออ่านความคิดและข้อมูลภาพรวมทั้งหมดของ Sezer แล้ว เราคิดว่าเรื่อง Humblebrag นั้นมันก็ไม่ได้เลวร้ายไปซะหมดหรอก แต่มันอาจต้องดูด้วยว่า วิธีการตอบโต้ด้วยการใช้กรอบวิธีนี้มันใช้กับใครและสถานการณ์ไหน ยิ่งพื้นที่ในออฟฟิศบ้านเรา ยิ่งเซนสิทีฟ แถมดราม่าง่ายก็ย่อมต้องหัดใช้ดีๆ เหมือนกัน
เพราะทุกอย่างที่แสดงออกไปมันต้องถูกคิดมาให้ดี เพราะอะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดีหรอก จะถ่อมตัวมากไปก็ไม่ได้ จะโอ้อวดมั่นใจเกินไปก็ไม่ดี ยังไงก็เน้นตามความเหมาะสมนั่นแหละ

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน