ทำไมเราไม่ควรเปรียบเทียบความสำเร็จกับคนอื่น

30 May 2020

ดอกไม้ที่สวยงาม อาจไม่ได้บานพร้อมกันทุกฤดู…

คิมรันโด นักเขียนชาวเกาหลีใต้ เคยบอกผมผ่านตัวหนังสือใน ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’

ซึ่งประโยคดังกล่าวได้สอนให้เรามีความอดทนใช้ความใจเย็นปลูกความสำเร็จให้ผลิบานอย่างสวยงามในฤดูที่เหมาะสม

ทว่า ‘การรอ’ กลับเป็นอุปสรรคสำคัญของคนสมัยนี้ ที่ต้องการความเร็วเสียมากกว่าการใช้เวลาปูทางความสำเร็จ

การไม่มีพื้นฐานของความอดทนและรอคอย จึงเป็นเหตุให้ชีวิตมีความเปราะบางทั้งทางจิตใจและอารมณ์เกินกว่าที่จะเข้าใจได้

ที่ปรึกษาของผมเคยตั้งข้อสังเกตต่อคนทำงานสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เพิ่งจบหรือเพิ่งทำงานได้ไม่นาน พวกเขามักใช้ ‘ผลลัพธ์’ เป็นที่ตั้งแล้วฝันไปให้ถึงผลลัพธ์อย่างไร้กระบวนการ

กระบวนการที่ขาดไปนั่นคือการเรียนรู้จาก ‘เหตุ’ ของผลลัพธ์นั้นเอง

หลายคนอยากมีชื่อเสียง มีทรัพย์สิน จึงไปงานสัมมนาทางการลงทุนหรือการสร้างธุรกิจและฟังเรื่องราวของบุคคลระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟต์ สตีฟ จ๊อบ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก บิล เกตต์ แจ๊ก หม่า เป็นต้น

หลายคนตาลุกวาว แรงบันดาลใจพุ่งพล่าน อยากมีรอยเท้าเหมือนบุคคลระดับโลกเหล่านี้บ้าง พวกเขาจึงตัดสินใจนำเงินก้อนโตไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือออกจากงานประจำมาลุยทำธุรกิจส่วนตัว เพื่อหวังบรรลุเป้าหมายอันหอมหวาน

แต่เส้นทางไม่ได้ง่ายแบบที่เขาพูดกันบนเวทีสัมมนานะสิ

การประสบความสำเร็จคือฉากที่สวยงาม แต่ฉากหลังนั้นมีใครบ้างที่จะรู้ว่าบุคคลระดับโลกต้องเผชิญอะไรบ้าง นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชอบหลงทางในการตั้งเหตุและผลอย่างไม่มีตรรกะ

แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลยทีเดียวนะครับ การมีแรงบันดาลใจเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง

ทว่าสิ่งหนึ่งที่เราควรมีควบคู่ไปด้วยคือ กระบวนการจัดการการปลูกความสำเร็จให้เบ่งบานอย่างสวยงามในภายภาคหน้า ซึ่งอาจเริ่มต้นด้วยการลำดับความสำคัญของชีวิต

ใช่ครับ แค่ลำดับความสำคัญ เป็นกระบวนการที่ฟังดูไม่ยาก แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะต้องอาศัยความต่อเนื่อง

ในหนังสือ ‘มาร์เก็ตติ้ง ลิงกลับหัว’ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทเจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ ได้นำคำแนะนำดังกล่าวที่เรียบง่ายและทรงพลังจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาใช้ในการทำงานและเกิดผลลัพธ์ได้อย่างเกินคาด

ทำไมความสำเร็จของแต่ละคน จึงใช้เวลาไม่เหมือนกัน ลองไปตามหาเหตุผลและเทคนิคจากข้อมูลและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ที่เราได้รวบรวมและเรียบเรียงมาให้กำลังใจคนทำงานทุกคนครับ

คุณรวิศแนะนำว่า ‘ก่อนนอนให้เขียนเรื่องงานที่ยากและสำคัญที่สุด 3 เรื่องลงไปในสมุดและวันรุ่งขึ้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ห้ามทำอย่างอื่นก่อนทำ 3 เรื่องนี้ให้เสร็จ’

เขาได้เขียนต่อเติมอีกว่า ‘หลังจากลองทำแบบนี้ดู ปรากฏว่างานผมดีขึ้นผิดหูผิดตา แถมยังมีเวลาเยอะขึ้นด้วย’

แนวคิดการจัดลำดับความสำคัญที่อ้างถึงก็คือ Priority Matrix ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน ได้แก่

1. เรื่องสำคัญที่ด่วน

2. เรื่องสำคัญที่ไม่ด่วน

3. เรื่องไม่สำคัญที่ด่วน

4. เรื่องไม่สำคัญที่ไม่ด่วน

คุณรวิศได้ขยายความและชี้แนะต่อข้อที่ 2 (เรื่องสำคัญที่ไม่ด่วน)

‘การโฟกัสนี้จะส่งผลอย่างมากต่อความสำเร็จของเรา ชีวิตหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เวลาในการทำงานสำคัญที่ไม่ด่วน แต่คนส่วนใหญ่กลับให้เวลากับงานประเภทนี้เพียง 10% เท่านั้น เพราะเราโดนงานด่วนที่ไม่สำคัญ ทำให้ไขว้เขว่’

คุณรวิศย้ำผ่านตัวหนังสืออีกว่า

‘นี่คือข้อผิดพลาดที่คนส่วนใหญ่ทำ ดังนั้นเราควรจะหลีกเลี่ยง แม้งานสำคัญที่ไม่ด่วน มักเป็นงานที่เห็นผลช้า เมื่อเห็นผลช้า เราจะรู้สึกว่ามันยากไปโดยปริยาย เช่น การสร้างแบรนด์หรือการหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ’

‘ของพวกนี้มักไม่ให้ผลชัดเจนเมื่อทำเสร็จ บางงานเมื่อทำเสร็จเหมือนทำไม่เสร็จด้วยซ้ำ แต่คนส่วนใหญ่ลืมคิดไปว่างานสำคัญที่ไม่ด่วนนี่แหละ เมื่อมันเสร็จสมบูรณ์จะส่งผลสำเร็จมากที่สุดมากกว่างานใดๆ มันคือความสำเร็จเกินกว่า 90 % ของชีวิต ซึ่งต้องอาศัย ‘ความอดทน’’

ความอดทนนี่แหละครับที่เป็นปัจจัยให้เราไปถึงเป้าหมายได้

บนเวที TED TALK แอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ คุณครูคณิตศาสตร์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในนิวยอร์กได้นำประสบการณ์การเรียนการสอนในห้องกับเด็กนักเรียนมาเล่าให้ผู้ฟังจำนวนมากได้รับรู้ถึงกุญแจอีกดอกหนึ่งที่สามารถทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้ นอกเหนือจากไอคิว ที่เรายึดติดกันมาโดยตลอด

เธอเล่าว่า เธอเหมือนครูทั่วไปที่ให้การบ้านเด็กนักเรียนทำงานมาส่งและเธอก็ตรวจให้เกรด

แต่สิ่งที่เธอแปลกใจคือ ไอคิว ไม่ใช่สิ่งเดียวที่แตกต่างกันระหว่างเด็กเรียนดีที่สุดและอ่อนที่สุด

เด็กที่ผลการเรียนดีที่สุดบางคนไม่ได้มีคะแนนไอคิวสูงลิ่วและเด็กที่ฉลาดที่สุดบางคนก็ไม่ได้มีผลการเรียนดีนัก

เธอจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า การเรียนและการใช้ชีวิตอาจจะไม่ได้มีแค่ไอคิวอย่างเดียว

แต่มันควรจะขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นด้วยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้

กระทั่งเธอตัดสินใจศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยา

ระหว่าการเรียนนั้นเธอได้เก็บข้อมูล สำรวจ สมมติฐานและติดตามจากกรณีศึกษามากมาย จนพบว่ามีคุณสมบัติหนึ่งโดดเด่นขึ้นมาที่จะช่วยพยากรณ์ความสำเร็จได้ชัดเจนมาก และมันไม่ใช่ความฉลาดในการเข้าสังคม ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ดูดี ไม่ความแข็งแรงของสุขภาพ และมันไม่ใช่ไอคิว แต่คือ ‘ความเพียร’

ซึ่งเธอนิยามความเพียรไว้อย่างน่ารักว่า ‘ความเพียร’ คือการใช้ชีวิตแบบวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น’

ใช่ครับ การวิ่งระยะยาวต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงสติปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาระหว่างเส้นทางด้วย

เธอนำเรื่องความเพียรไปศึกษากับเด็กไฮสคูลนับพันคนในโรงเรียนเทศบาลชิคาโกผ่านแบบสอบถามแล้วรอดูผลในปีถัดมาเพื่อดูว่าใครจะเรียนจบ

ผลคือเด็กที่มีความเพียรมากกว่ามีความเป็นไปได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าที่จะเรียนจบ

ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ เพื่ออยากจะบอกว่า ‘ความสำเร็จ’ มีปัจจัยมากมายนอกเหนือความฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวลาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องทำหรือความพยายามในสิ่งที่ตนเองหลงใหล

เมื่อเรากำหนดความสำเร็จด้วยหนทางของเราเองแล้ว จงอย่าแปลกใจว่าทำไความสำเร็จถึงเบ่งบานเร็ว-ช้ากว่าฤดูของคนอื่นๆ …

หมายเหตุ: บทความนี้อยู่ในหนังสือ สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *