เห็นใจเพื่อนร่วมงานแล้วก็อย่าลืมเห็นใจตัวเองด้วย

19 August 2021

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินทักษะการปฏิเสธให้เป็นมาแล้ว ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอยิ่งโตมาก็พบว่าทักษะการปฏิเสธให้เป็นนั้นมีความสำคัญมากๆ กับการเลือกในสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญเพื่อให้สิ่งที่ทำนั้นเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่สิ่งสำคัญกว่าการปฏิเสธก็คือ การบอกปฏิเสธออย่างสุภาพไปพร้อมกับเหตุผลด้วยนั่นแหละ

ทีนี้ถ้ามันเกิดตาลปัตรกลับกลายเป็นตรงกันข้ามนั่นคือ เราดันเป็นคนดีแห่งสังคมออฟฟิศ เพราะกลัวที่จะถูกมองไม่ดี แต่จริงๆ เราอาจไม่ได้มีชั้นเชิงในการปฏิเสธ รู้หรือเปล่าว่าการเห็นอกเห็นใจมากจนเกินไปจากผู้คนรอบๆ ตัวของเรานั้น ก็นำมาซึ่งภาระและความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจได้ จนเขาเริ่มมีศัพท์ที่เรียกว่า ‘Compassion Fatigue’  นั่นเอง

จริงๆ แล้วเรื่องความเห็นอกเห็นใจมันเป็นเรื่องที่ดีงามนะ ถ้ามันอยู่ในจังหวะและเวลาที่ดี โดยเฉพาะในชั่วโมงนี้ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด19 ที่เข้ามาสร้างผลกระทบให้กับชีวิตและการทำงานมากมาย ซึ่งเรื่องความเห็นอกเห็นใจถือเป็นประเด็นสำคัญ จนมีการสำรวจผ่าน The 2021 State of Workplace Empathy report กันด้วย ซึ่งมีข้อมูลที่น่าคิดต่อการแสดงความเห็นอกเห็นใจจากระดับผู้บริหารพบว่า 68% กลัวว่าจะได้รับความเคารพน้อยลงหากมีการแสดงความเห็นอกเห็นใจมากเกินไป ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มจากปีที่แล้ว 2020 ถึง 31 คะแนน และกว่า 70% ที่ระดับผู้บริหารยอมรับว่ายากมากต่อการแสดงความเห็นอกเห็นใจ

แต่ไม่ว่าผู้บริหารจะแสดงออกน้อยหรือไม่ก็ตาม แต่จากข้อมูลโดยภาพรวมกับตัวพนักงานเอง การเห็นอกเห็นใจก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ดีขึ้น และยังช่วยลดความตึงเครียด กับเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ภาพรวมความเห็นอกเห็นใจก็มีข้อดีนั่นแหละ แต่ต้องใช้ให้ถูก ซึ่งเราลองมาใช้ 5 เทคนิคการอยู่ร่วมกับ Empathy เหล่านี้กันครับ

1. ช่างสงสัย

สำหรับข้อแรกเราควรเป็นคนช่างสังเกตตัวเองและช่างสงสัยคนอื่นด้วย นี่เป็นคำแนะนำจาก Laura Gallagher นักจิตวิทยาองค์กรที่ได้แนะนำเอาไว้ว่า ก่อนที่เราจะเห็นใจคนอื่นให้เราลองตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ ก่อน ทำไมในที่นี้คือทำไมเราต้องช่วย ช่วยแล้วเขาได้อะไร เราได้อะไร ผลลัพธ์จะเป็นบวกมากกว่าเสีย หรือเสียมากกว่าบวก ลองตั้งคำถามให้ดีก่อน เพราะการตบปากรับคำโดยที่คิดไม่ละเอียด อาจนำมาสู่ความเดือดร้อนต่อการทำงานของเราได้นั่นเอง

2. วิเคราะห์ถึงความจำเป็น

ข้อนี้คิดแบบง่ายๆ เลยก็คือ ให้เราคิดถึงทรัพยากรที่เรามี เช่น ความสามารถ และเวลา ว่าเราจำเป็นต้องสละทรัพยากรของเราไปช่วยด้วยความจำเป็นมากไหม และการที่เราไปช่วยนั้นเท่ากับเราทรัพยากรของเราไปด้วย ซึ่งมันจะส่งผลต่องานของเราหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องลองพิจารณาดูเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ทีหลัง

3. ระวังความสมบูรณ์แบบ

ข้อนี้น่าสนใจตรงที่ว่า คนทำงานที่นิยมความสมบูรณ์แบบ หรือพวก Perfectionist นั้น ก็ควรระมัดระวังการใช้อารมร์และความรู้สึกในการตัดสินผู้อื่นด้วย ซึ่งหากมีมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นวิธีแก้ก็คือลองเติมเรื่อง Empathy เข้าไปสักหน่อยชีวิตจะได้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น

4. กำหนดขอบเขตให้ตัวเอง

ข้อนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่มีอาการ Compassion Fatigue นั่นคือการบอกกับตัวเองว่าเรามีขอบเขตในการเห็นอกเห็นใจหรือการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และบางทีการเป็นคนสนับสนุนด้วยการเป็นผู้รับฟังต่อปัญหาที่เพื่อนเจอก็อาจเป็นหนทางที่เหมาะสมก็ได้ในบางปัญหา

5. ดูแลตัวเองดีๆ นะ

สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะเห็นอกเห็นใจใครมากมายก็ตาม ก็อย่าลืมเห็นอกเห็นใจตัวเองด้วยโว้ย เช่น หัดให้เวลาในการสำรวจอารมณ์ของตัวเองด้วยการนั่งนิ่งๆ เหม่อลอยก็ได้ หรือจะไปนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย อะไรก็ได้เพื่อเยียวยาให้จิตใจตัวเองมันดีขึ้น

นี่คือสิ่งสำคัญที่เราควรันกลับมาดูแลตัวเองกันมากๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตึงเครียดอย่างในสถานการณ์โควิด19 เช่นนี้ที่เราก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้ปรกติอีกเมื่อไหร่ แค่คิดน้ำตาก็จะไหลแล้ว คิดถึงบรรยากาศการทำงานที่ออฟฟิศ และเพื่อนร่วมงานจริงๆ เลย

อ้างอิง: https://www.fastcompany.com/90666330/how-to-avoid-compassion-fatigue-as-pandemic-stress-drags-on

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/   

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *