Q: มีประโยคอมตะที่บอกว่า ‘ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน’ แถมทั้งชีวิตเราถูกปลูกฝังว่าให้ตั้งใจเรียน ให้ทำทุกอย่างเพื่อที่ให้ได้งานที่ดี ตกลงคุณค่าของเราคือการทำงานจริงไหม
A: ตอบได้หลาย Angle มากเลย ตอนแรกก็คิดแบบนั้น แต่ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลงานแต่อยู่ที่ว่าเป็นคนของใครด้วย 55
ถ้าถามตัวเรา เราอาจบอกว่าจริงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือ ครอบครัว
ถ้าถามหัวหน้าเรา หัวหน้าตอบ 100% ว่าใช่ เพราะบริษัทได้ประโยชน์จาก สมอง และเวลาของเรา
ถ้าถามคู่ชีวิตเรา ก็คงตอบว่าใช่ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะฉันอยากอยู่กับเธอที่ไม่มีงานมายุ่ง
ถ้าถามลูก ลูกคงบอกว่าไม่ใช่ เพราะเวลาแย่งงานจากพ่อไปหมดเลย งานไม่ได้ทำให้พ่อมีคุณค่าในสายตาลูก
สุดท้ายคำถามนี้อาจต้องให้นิยามของมันด้วยว่า งานที่ดีกับคุณค่าของเรา คืออะไร
งานที่ดีคือ งานที่เราสนใจ ช่วยเหลือคนอื่น ไม่ทำลายคุณภาพชีวิตลูกน้องจนเกินไป สร้างรายได้ที่พอประมาณให้เรา มีเวลาไปทำอย่างอื่นหรือเปล่า
สรุปคือ คุณค่าของเรามันมีหลายด้านมาก การให้นิยามแบบนี้ คงต้องถามว่าถามใครมากกว่า
Q: หากเราไม่วัดคุณค่าของตัวเองจากการทำงาน เราสามารถวัดคุณค่าของตัวเองจากอะไรได้บ้าง
A: ผมว่าตอนนี้เราโชคดีที่ คนหนึ่งคนสามารถสร้างความภูมิใจได้หลายพื้นที่ใน 1 วัน
ผมเคยมีหัวหน้าคนหนึ่ง เป็นคนเก่งมาก ตอนนั้นผมตามเขาไปทำงานทุกที่ที่เขาไปตั้งแต่เช้ายันเกือบสว่าง ตอนประชุมเสนอแผนงานก็ต่อสู้กันดุเดือด โดนว่าบ้าง เซ็งๆ ออกมาบ้าง แต่พอลงมาที่ลานจอดรถ รปภ.ทุกจุดทักเขาหมดเลย เดินผ่านร้านคาร์แคร์ แถวออฟฟิศพนักงานก็ทักทายเรียกชื่อหัวหน้าผมหมดเลย ไปนั่งกินข้าวพนักงานเสริฟ์ก็ทัก หัวหน้าผมเล่นดนตรีกลางคืนด้วย มีแฟนประจำวงก็ไปรอที่ร้านประจำ อะไรแบบนี้ ผมว่าคุณค่าของตัวเองมันเยอะมาก อยู่ที่ว่าเราจะสร้างได้จากความสนใจ ของเราหรือเปล่า แต่ก่อนอื่นต้องบอกว่าทุกคนมีคุณค่าอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราใส่ใจเรื่องพวกนี้กับพื้นที่ชีวิตด้านอื่นๆ นอกเหนือจากงานมากน้อยแค่ไหน
Q: ถ้าคนที่โดนกรอบความคิดมาตลอดทั้งชีวิต ว่าผลงาน = ตัวเรา เราจะค่อยๆ พาตัวเองออกจากกรอบนี้ได้อย่างไรบ้าง
A: ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจนมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตมาโดยตลอด กับการเปลี่ยนแปลงของกรอบการใช้ชีวิตคือ วิกฤต ที่เข้ามาหา นั่นแหละทำให้ทุกคนเปลี่ยน!
อย่างผมสนใจการเงินได้ เพราะแม่เป็นมะเร็ง
ป๋าเต็ดหันมาออกกำลังกาย เพราะสุขภาพพังจนเกือบตาย
กันต์ กัตถาวร หันมาเป็นพิธีกร เพราะพบว่าอาชีพนักแสดง ทำให้กินแต่หมูปิ้งและไม่มีเวลาให้ครอบครัว
ผมว่าชีวิตจะเปลี่ยนด้วยคำพูดหรือแนวคิดบางอย่างมันยากมาก ยกเว้นคนที่มีความเชื่อในคนที่พูด แต่ส่วนใหญ่ที่เปลี่ยน ต้องโดนยาแรงที่ชื่อว่าวิกฤต ทั้งนั้น จากการสังเกตของผม
Q: อยากให้ยกตัวเองอย่างของสิ่งชี้วัดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากงาน แล้วทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองได้ หรือหากสุดท้ายแล้วเราไม่ต้องเอาตัวเองไปปะทะกับอะไร แต่เราก็สามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้หรือไม่
A: ถ้าทุกวันเราก่อนนอนเราเฝ้ารอวันพรุ่งนี้ เพื่อความสนุกที่ไม่ใช่งานในออฟฟิศ ผมว่านั่นก็เป็นสัญญาณแล้วนะ เรียกได้ว่าเป็นความหวังที่ทำให้เราอยู่ต่อไปเพื่ออะไร เช่น มีนัดกินข้าวกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน นั่นหมายความว่าการที่เขามอบเวลามาหาเรา เราก็มีคุณค่าและความสำคัญต่อเขาแล้วนะ ผมว่าแค่นี้เรามีคุณค่าแล้ว และคิดดูเรามีโมเม้นท์แบบนี้ในชีวิตอีกเท่าไหร่
Q: แต่ชีวิตคนเราจะไม่ทำงานเลยก็ไม่ได้ เราจะสมดุลความคิดของตัวเองว่างานก็เป็นสิ่งชี้วัดคุณค่าของเราได้แต่เป็นเพียงแค่ ‘ส่วนหนึ่ง’ แต่ก็มีสิ่งอื่นๆ ประกอบให้เราเห็นคุณตัวเองด้วย เราจะสร้างสมดุลนี้อย่างไร
A: สุดท้ายคิดอะไรไม่ออกให้ย้อนกลับไปที่ Objective หลักในชีวิตครับและตอบให้ได้ก่อนว่า ทุกวันนี้เราทำงานไปเพื่ออะไรบ้างนอกเหนือจาก เงิน ที่จะเอามาดำรงชีพและจ่ายหนี้สินที่ยืมธนาคารมา ถ้าเราตอบได้ว่า เราอยากได้เงินที่เยอะๆ ได้ตำแหน่งที่สูงๆ ในองค์กรที่ดีๆ
ถ้าคำตอบเป็นแบบนี้ เราต้องยอมรับก่อนว่า ความคิดนี้ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่คิด คนทำงานเป็นพันก็คิดแบบเดียวกันในที่เดียวกัน ดังนั้น การแข่งขันจึงสูง เมื่อการแข่งขันสูง ทุกคนจึงต้องใช้ต้นทุนที่มีเหมือนกันคือ 24 ชั่วโมง ต่อวันออกมาให้มีพลังมากที่สุด เพื่อผลงานที่ดีที่สุด ไม่แปลกที่งานจะเป็นชีวิต และชีวิตก็เป็นงาน แค่คิดก็เหนื่อยเหมือนกัน
แต่ถ้าเรามีแผนตรงข้าม คือ เราอยากมีพื้นที่ชีวิตการทำงานของตัวเอง เงินไม่ต้องเยอะ ตำแหน่งไม่ต้องสูง แต่ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อเพิ่มโอกาสในชีวิตด้านอื่นๆ แล้วก็ออกแบบแผนการเงินรองรับไปด้วย เพื่อนับถอยหลังการออกไปทำกิจการเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยแวดล้อมไปด้วยคนรัก ลูก ครอบครัว ก็ได้ มันก็เป็นแผนที่คุณไม่ต้องแข่งกับใครมากในระยะยาวยกเว้นตัวเอง
แต่ทางที่เหลือที่จะเกิดขึ้นก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะรอดหรือไม่ แต่แค่ให้เห็นถึงความแตกต่างของการกำหนดเป้าหมาย มันก็พอเห็นความสมดุลที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร
ซึ่งสมดุล ไม่ได้หมายถึง 50:50 บางคนก็ 80:20 แต่ปรับอย่างไรให้ได้ให้ครบ 100 นั่นคือความสมดุลที่แตกต่างออกไปในแต่ละช่วงวัย
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ใน PODCAST รายการ R U OK
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน