ยิ่งตามหาความหลงใหลในการทำงาน
ยิ่งอาจทำให้เราหลงทางมากกว่าเดิม
ประโยคเบื้องต้นหลายคนอ่านแล้วอาจรู้สึกว่ามันแปลกๆ เพราะเราต่างคุ้นเคยกับการถูกกระตุ้นให้หางานที่เรารัก หรืองานที่เราหลงใหลให้เจอมาตลอด ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่ามีสัดส่วนที่ไม่มากนักที่จะเจองานที่เราหลงใหล คำถามสำคัญนั้นคือ ระหว่างนั้นเราควรทำอย่างไร
ในหนังสือ SKILL BEFORE PASSION SO GOOD THEY CAN’T IGNORE YOU ของ CAL NEWPORT ได้เขียนถึงประเด็นถึงความหลงใหลกับงานที่กำลังค้นหาอยู่ได้น่าสนใจเอามาก ๆ และผมคิดว่ามีประโยชน์กับผู้อ่านทุกคน
CAL NEWPORT เขียนถึงการทำงานที่ดีและพึงพอใจได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาความหลงใหลเสมอไป 3 ประเด็นด้วยกันครับ
1
ความหลงใหลในอาชีพเป็นสิ่งที่หายาก
มาข้อแรกก็หงายการ์ดให้เรายอมรับแบบตรงไปตรงมาก่อนว่า อาชีพในฝันที่เราคิดมันหายาก โดยมีการอ้างอิงจากงานวิจัยทดสอบด้วยแบบสอบถามของคนกลุ่มหนึ่งว่า อะไรคือสิ่งที่พวกเขาหลงใหล ผลปรากฏว่ามีเพียงแค่ 4 % เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับงาน ส่วนอีก 96 % กิจกรรมและงานอดิเรกมากกว่า เช่น การเต้นรำ การเล่นฮอกกี้ เล่นสกี การว่ายน้ำ และการอ่านหนังสือ แม้หลายคนอาจจะบอกว่า ในอนาคตพวกเขาอาจเป็นเศรษฐีจากงานเหล่านี้ก็ได้ มันก็ใช่ แต่มันก็เป็นสัดส่วนน้อยมาก ๆ
2
ความหลงใหลต้องอาศัยเวลา
ประเด็นนี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีการอ้างอิงถึงงานวิจัยของ เอมี วเรซเนสกี อาจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรจากมหาวิทยาลัยเยล ที่ได้มีการสำรวจนิยามความแตกต่างของคนหลากหลายอาชีพในมุมมองต่อ งาน อาชีพ และความหลงใหล ซึ่งสรุปได้ว่า…
งาน คือ สิ่งที่ช่วยให้คุณมีเงินใช้จ่าย
อาชีพ คือ เส้นทางที่นำไปสู่งานที่ดีขึ้น
ความหลงใหล คือ ส่วนสำคัญของชีวิตและการมีอัตลักษณ์ของแต่ละคน
ซึ่งในชีวิตหลายคนก็มีสมการที่แตกต่างกันออกไป
บางคนมีทั้ง งาน อาชีพ และความหลงใหล
บางคนมีแค่ งานและอาชีพ
บางคนก็มีแค่งานอย่างเดียว
สำหรับคนกลุ่มท้ายที่มีแค่งานอย่างเดียวก็สามารถพัฒนาไปสู่ความหลงใหลได้จากการสำรวจของ เอมี วเรซเนสกี ที่ค้นพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความหลงใหลเพิ่มกับงานได้ แม้งานนั้นจะดูธรรมดาก็คือ ระยะเวลาที่ยาวนานพอในการอยู่กับงานนั้น ที่จะมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ จนเกิดความเชี่ยวชาญนั้นเอง
3
ความหลงใหลเป็นผลพลอยได้จากความเชี่ยวชาญ
ต่อเนื่องจากข้อที่ 2 การเกิดความเชี่ยวชาญผ่านการลองผิดลองถูกและกาลเวลา ก็ทำให้เราคนทำงานธรรมดาแบบเรา มีความหลงใหลได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงานด้วยก็คือ
– ความสำคัญของงาน
– ศักยภาพของเราในการทำงาน
– ความสัมพันธ์ในการทำงาน
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยและทักษะธรรมดาที่สำคัญมากที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับงานและอาชีพที่ทำได้แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะต้องทำงานที่หลงใหลเท่านั้นแล้วจะมีความสุข เพราะจริงๆ แล้ว ความสุขในการทำงานมันมีส่วนผสมมากมายที่เราสามารถพบเจอได้ระหว่างทาง ไม่ว่าตอนนี้สมการทำงานของเราจะเป็นมีแค่งาน หรือมีทั้งงานและอาชีพอยู่ในตอนนี้

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน