งานอดิเรกช่วยส่งเสริมงานประจำให้ดีขึ้นได้อย่างไร

7 June 2020

ในหอประชุมใหญ่ของออฟฟิศ ครีเอทีฟจำนวนมากกำลังนั่งตัวตรงฟังผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่อยู่ฝ่ายบริหารขึ้นมากล่าวถึงทิศทางและนโยบายขององค์กร

ผู้ใหญ่ท่านนี้ได้พูดถึงการใช้ทรัพยากรของออฟฟิศ เช่น กระดาษ เครื่องถ่ายเอกสาร คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด ท่านบอกว่ามีพนักงานบางส่วนอาศัยทรัพยากรของออฟฟิศทำงานนอก

เมื่อท่านพูดประโยคนี้ออกมาทำให้มีเสียงอืออึงเล็กน้อย ผู้ใหญ่ท่านนี้เตือนสติพวกเราให้เคารพสถานที่ที่ให้ค่าวิชาชีพเราอย่างเที่ยงตรง แม้จะมีบ้างก็ยังพอเข้าใจได้ ทว่าการใช้ทรัพยากรออฟฟิศเกินความจำเป็นของออฟฟิศที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผลประโยชน์ ก็จะมีแต่ทำให้ออฟฟิศและตัวพนักงานเองที่เสียหาย

หลังการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการใช้ทรัพยากรของออฟฟิศจบลง ท่านก็สร้างประเด็นใหม่ให้พวกเราประหลาดใจเข้าไปอีก เพราะท่านสนับสนุนให้พวกเรารับงานอิสระมาทำกันมากขึ้น!

แต่ยังคงห้ามใช้ทรัพยากรของออฟฟิศ

ฟังแล้วก็น่าสนใจไม่น้อยใช่ไหมครับ ท่านบอกว่า ประโยชน์ของการทำงานอิสระนั้นคือการฝึกฝนมุมมอง การลงมือทำ และการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากลูกค้าที่หลากหลาย นั่นจะทำให้ ครีเอทีฟขององค์กรได้ลับคมสมองอยู่ตลอดเวลาและไม่ต้องคิดงานเดิมซ้ำๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

หลังท่านพูดจบเกิดเสียงปรบมือขึ้นมาเล็กน้อยกับเหตุผลของท่านที่เปิดโอกาสให้พนักงานทำมาหากินเพิ่มเติมจากเงินเดือน

เรื่องราวในที่ประชุมวันนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวของพี่เลี้ยงเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่มีงานอดิเรกคือ การถ่ายรูป

พี่เลี้ยงเด็กคนนั้นชื่อ ‘วิเวียน ไมเออร์’

ทว่าชื่อ วิเวียน ไมเออร์ จะไม่เป็นที่รู้จัก ถ้า จอนห์ มาลูฟ ไม่ประมูลกล่องปริศนาใบหนึ่งที่เต็มไปด้วยฟิล์มเนกาทีฟ

ตอนนั้นมาลูฟคิดเพียงแต่ว่าจะนำรูปภาพเก่าๆ จากฟิล์มเหล่านั้นมาใช้ประกอบหนังสือแนวประวัติศาสตร์ที่เขากำลังจะเขียนขึ้น แต่เขาหารู้ไม่ว่า ฟิลม์ที่เขาได้มานั้นได้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ภาพถ่ายแนว Street ระดับโลก

มาลูฟเล่าว่า “ผมประมูลกล่องเก็บฟิล์มของไมเออร์มาด้วยราคา 380 เหรียญ แต่ด้วยขนาดฟิล์มที่ไม่มีแล็บไหนล้างได้แล้ว ก็เลยปล่อยมันทิ้งไว้อย่างนั้น จนได้ไปร่ำเรียนคอร์สสั้นๆ เกี่ยวกับการล้างอัดรูปแล้วก็เลยทำห้องมืดในบ้านของผมเอง

ทันทีที่ภาพถ่ายของเธอปรากฏขึ้น มันก็ทำให้ผมทึ่งในฝีมือ ผมเลยอัพโหลดขึ้นเว็บแล้วต่อมาก็กลายเป็น Viral แชร์ต่อๆ กันไป ยิ่งตอนหลังพอผมรู้ชื่อเจ้าของฟิล์มจากคนจัดประมูล ก็ลองค้นหาตามอินเทอร์เน็ต แต่กลับไม่พบข้อมูลอะไรเลย ทำให้ผมรู้สึกว่านี่น่าจะเวิร์กกว่าหนังสือที่ผมกำลังเขียนอยู่เสียอีก

จากนั้นไม่นานผมก็ไปเจอข่าวร้ายของเธอทางอินเทอร์เน็ตในปี 2009 ทำให้ผมได้ที่อยู่ของครอบครัวที่เธอเคยทำงานด้วย”

จากข้อมูลที่ศึกษาเกี่ยวกับวิเวียน ไมเออร์ พบว่าระหว่างปี 1950 – 1990 ในเวลาว่าง วิเวียนชอบออกจากบ้านพร้อมกับกล้องคู่ใจอย่าง Rolleiflex Twin Lens วิเวียนใช้กล้องประเภทนี้บันทึกบรรยากาศและชีวิตมากมายในเมืองชิคาโก

ภาพส่วนใหญ่ของวิเวียนมักเป็นภาพเด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนยากไร้ บนท้องถนน และยังมีรูปเธอเองโดยใช้วิธีถ่ายกระจกให้สะท้อนเห็นตัวเอง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ ‘Selfie’ ในยุคนั้น และส่วนใหญ่ภาพถ่ายของเธอจัดอยู่ในประเภท Street ที่งดงามอีกด้วย

หลังจากผมอ่านข้อมูลของวิเวียนมาพอสังเขป ผมจึงสันนิฐานว่าการทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กของวิเวียนนั้น อาจส่งผลต่อมุมมองและความคิดต่อมนุษย์ที่สะท้อนออกมาจากภาพถ่ายจำนวนมาก

เพราะการอยู่กับเด็กต้องอาศัยความใจเย็น ความเข้าอกเข้าใจ และคอยสังเกตพฤติกรรมอยู่เสมอ นั้นอาจเป็นจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์ที่เธอนำมาใช้ในการถ่ายภาพแนว Street

ผลงานของเธอได้สร้างปรากฏการณ์ในวงการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก จนเกิดการสร้างภาพยนตร์สารคดี ‘Finding Vivian Maier’ (คลี่ปริศนาภาพถ่าย วิเวียน ไมเออร์)

ช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นต่างชื่นชมในผลงานและเรียนรู้ฝีมือการถ่ายภาพของเธอที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอุทิศกับให้กับความหลงใหลในการถ่ายภาพหลายแสนรูป

ภาพถ่ายของวิเวียน ไมเออร์ คือ ความงดงาม และความสุขที่เธอได้ถ่ายทอดคุณประโยชน์ไว้ให้คนทั้งโลกได้เรียนรู้จากงานของเธอและจดจำเธอในฐานะ ช่างภาพสตรีแนวสตรีทผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 21

การเขียนถึงเรื่องราวของ วิเวียน ไมเออร์ นั้น เพื่อสะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นว่า งานอดิเรกที่เรารัก แม้จะไม่ได้สร้างมูลค่ามากมายในตอนนี้ แต่มันอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือแรงผลักดันบางอย่างในอนาคตโดยที่เราคาดไม่ถึง

บางคนอาจตั้งคำถามต่อว่าถ้าเราทำงานอดิเรกที่เต็มไปด้วยความรัก แต่กลับไม่ได้สร้างประโยชน์หรือรายได้เข้ามาหาตัวเรา เรายังคงจะทำอยู่ไหม

คำถามที่ผมลองตั้งขึ้นมานั้น ผมขอแยกเป็น 2 ประเด็น คือ เรื่องความรัก กับ เรื่องรายได้ ซึ่งบางคนก็สามารถแปรสิ่งที่ตนเองรักเป็นรายได้ได้สำเร็จ เพราะมีตลาดรองรับ แต่บางคนก็ไม่สามารถทำได้ อาจเพราะตลาดยังไม่มีหรือฝีไม้ลายมือยังไม่โดดเด่นพอ
แต่อย่างน้อยการทำสิ่งที่เรารักก็ทำให้ชีวิตมีความสุขได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ผมยังคงสนับสนุนให้ใช้ความรักขับเคลื่อนต่อสิ่งที่ทำเป็นพื้นฐานในการสร้างพีระมิดชีวิตของตัวเอง

เพราะฐานชีวิตที่แข็งแรงต้องเต็มไปด้วยความรัก ความหลงใหล ซึ่งจะสร้างความพยายามและความอดทนต่อการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายในชีวิตแบบที่คุณแทบไม่รู้ตัว

หากเราสนใจสิ่งใดเป็นพิเศษ บางครั้งเราอาจไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์จากรายได้มาเป็นลำดับแรกด้วยซ้ำ แต่เพราะความอยากพัฒนาตัวเองจะเป็นสิ่งแรกที่ราอยากทำขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

สิ่งเหล่านี้เมื่อสั่งสมไปเรื่อยๆ มันจะเป็นคลังปัญญาที่ดีต่อชีวิตที่เราสามารถหยิบจับมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้

ตัวอย่างที่ชัดที่สุด ต้องย้อนกลับไปในปี 2005 เมื่อสตีฟ จ็อบ ขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์ในพิธีมอบปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสแตน ฟอร์ด

จ็อบกล่าวว่า ชีวิตมหาลัยของเขาได้จบลงตั้งแต่ 6 เดือนแรก เนื่องจากเขาไม่แน่ใจว่าตัวเขาอยู่ไปเพื่ออะไร แถมค่าเทอมยังแพงเกินกว่าที่พ่อแม่ของเขาต้องนำเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตมาจ่ายให้เขาเรียนอีก

สุดท้าย จ็อบตัดสินใจเลิกเรียน แม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยง แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เขาพบว่ามันเป็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล

จ็อบเล่าเสริมต่อว่า ทันทีที่ตัดสินใจเลิกเรียน ทำให้เขาไม่ต้องเข้าเรียนวิชาที่ไม่สนใจอีกต่อไป และได้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

ทว่าชีวิตไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด จ็อบไม่มีห้องพักในมหาลัย ทำให้เขาต้องอาศัยนอนตามพื้นของห้องเพื่อนๆ และหาเงินด้วยการเก็บขวดโค้กไปแลกคืนเงินมัดจำขวดละ 5 เซนต์

ทุกคืนวันอาทิตย์ จ็อบจะเดินทางข้ามเมืองไปที่โบสถ์ฮาเรกฤษณะ รวมระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร เพื่อไปกินอาหารดีๆ กระทั่งเขาไปพบแผ่นโปสเตอร์มากมายที่ถูกออกแบบโดยบุคลากรจากมหาวิทยาลัยรีด

ตัวอักษรที่สวยงามบนโปสเตอร์ดึงดูดความสนใจของเขา นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้จ็อบเข้าไปเรียนวิชาการออกแบบตัวอักษร ซึ่งสอนการออกแบบตัวอักษร วิธีเว้นช่องไฟระหว่างตัวอักษรแต่ละแบบ ตลอดจนวิธีการเรียงตัวอักษร เป็นต้น

นี่คือ ที่มาของการออกแบบตัวอักษรและการเว้นช่องไฟของคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ที่หลายคนกำลังใช้ทำงานอยู่

จ็อบเล่าต่อว่า เขาไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะนำวิชาการออกแบบและจัดเรียงตัวอักษรมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์คอมพิวเตอร์ ทว่าระหว่างออกแบบแมคอินทอช ความรู้เหล่านี้ได้โผล่ขึ้นมาในความคิดเขาอีกครั้ง ซึ่งระยะเวลาจากวันแรกที่เรียนออกแบบตัวอักษรจนมาถึงวันที่ออกแบบแมคอินทอชนั้น รวมระยะเวลาห่างกันถึง 10 ปี เลยทีเดียว

จากจุดเริ่มต้นที่หอประชุมใหญ่มาสู่ฟิล์มเนกาทีฟปริศนาและการตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อตามหาสิ่งที่สนใจ

แม้เส้นทางจะแตกต่างด้วยมิติเวลาและสถานที่

แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การเริ่มต้นด้วยความรักและความหลงใหล ยังคงเป็นปัจจัยที่เป็นอมตะต่อการริเริ่มสร้างคุณค่า ความสุข และความสำเร็จอยู่เสมอ

ไม่ว่าปัจจัยเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในงานประจำหรือในงานอดิเรกก็ตาม…

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก’

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *