“ถ้าช่วยอะไรกันได้ ก็ช่วยกันไป”
ประโยคเรียบง่ายที่มีความหมายซ่อนอยู่
—
“พี่เป็นไงบ้าง”
“หนักอยู่แหละ แต่ต้องไปต่อ”
ช่วงที่ผ่านมาผมตอบประโยคนี้บ่อยมาก
จากคำถามของคนหลายคนที่ห่วงใยกัน
“ทุกคนแม่งก็ต้องพยายามเหมือนกัน”
นี่คือคำพูดให้กำลังใจตัวเองในวันที่รู้สึกท้อ
ก่อนที่จะมีคำถามแทรกขึ้นในใจมาว่า
…แล้วเราพอจะช่วยอะไรใครได้บ้างไหม?
—
“ช่วงนี้เป็นไง คนลดลงไหมครับ”
“ตั้งแต่ทัวร์จีนไม่มา ก็ลดไป 30%”
“ลดลง 30% เองเหรอ”
“ไม่ใช่ครับ เหลือแค่ 30% ครับ”
“แล้วพนักงานเป็นยังไง”
“พนักงานก็ลดลงเหลือ 40%”
“หมายถึงเงินเดือน”
“เปล่าครับ จำนวนคนงานที่เหลือ”
“แย่เลยเนอะ”
“ใช่ครับพี่ มันเป็นช่วงที่คนเคยมาเยอะ”
บทสนทนานี้เกิดขึ้นที่สวนผลไม้แห่งหนึ่ง
เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
พนักงานเล่าให้ผมฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ก่อนที่เราจะแยกจากกัน
ผมยื่นเงินจำนวนหนึ่งให้เขาเป็นสินน้ำใจ
“ขอบคุณครับ” เขาเอ่ยปากและยกมือไหว้
แต่ผมรู้ว่ามันช่วยอะไรไม่ได้มากนักหรอก
—
“ทำไมไม่รู้จักพยายามปรับตัว”
ประโยคนี้เสียดแทงใจผมทุกครั้งที่ได้ยิน
ไม่ใช่เป็นเพราะว่ารู้สึกเจ็บปวดที่ถูกก่นด่า
แต่กลับเป็นคำถามว่า “รู้ได้ไงว่าไม่พยายาม”
และ “เอาอะไรมาตัดสินว่าเขาไม่ปรับตัว”
ถ้าลองมองกลับกัน
การที่เรามีชีวิตรอดในวันนี้
อาจจะเป็นเพราะเรามีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น
โอกาสในการศึกษา
โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร
หรือแม้แต่ โอกาสในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ
และการที่เราทำเรื่องเหล่านั้นได้ดี
มันก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะทำได้เหมือนกัน
ดังนั้น ถ้าเราอยากบอกให้ใครสักคนปรับตัว
เรียนรู้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่ออยู่รอด
เราอาจจะต้องถอดกรอบของเราทีมี
แล้วไปมองหาจากสิ่งที่เขามีภายใต้ข้อจำกัด
“ถ้าเราเป็นเขา เราจะแก้ปัญหาอย่างไร”
โดยใช้ทรัพยากร ความสามารถ และกำลังเงินที่มี
เพราะถ้าหากเราทำอะไรที่ดีกว่านี้ไม่ได้
บางทีการไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยทัศนคติที่ไม่ดี
อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้
…ที่เราสามารถทำเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้

พรี่หนอม หรือ แท็กซ์-บัก-หนอม เจ้าของ บล็อกภาษีข้างถนน ผู้สนใจทำให้การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่มักแอบคิดเสมอว่าชีวิตเราควรมีอะไรมากกว่าการทำงาน จึงเป็นที่มาของบทความในออฟฟิศ 0.4 กับคอลัมน์ชื่อ “สิ่งที่คนทำงานไม่เคยบอก”