ถ้าเจอปัญหาอย่าเพิ่งวิ่งหนี

7 July 2020

เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มเปิดแอพริเคชั่นหรือเว็บไซต์หางาน นั่นอาจหมายความว่า เราเริ่มรู้สึกไม่แน่นอนกับงานประจำที่ทำอยู่ หรือไม่ก็มีเหตุผลอย่างอื่นที่ทำให้เรามีความรู้สึกสั่นคลอน

บางคนอาจคิดข้ามช็อตไปแล้วว่า หากฉันย้ายไปทำงานที่บริษัทแห่งนี้ เงินเดือนเท่านี้ โอ้โห…ชีวิตอันแสนหวานของฉันเลยล่ะ แต่เดี๋ยวก่อน! กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงกันดีกว่าครับ เริ่มตั้งสติใหม่ ด้วยการสาวไส้ตัวเอง เพื่อวิเคราะห์ว่า ทำไมเราเริ่มมีความคิด และความรู้สึกเช่นนั้น ตัวเราไม่เหมาะ งานไม่เหมาะ หัวหน้าไม่โอเค หรือเงินเดือนไม่เพียงพอ

จากประสบการณ์ที่เคยแลกเปลี่ยนกับพี่ที่ทำงาน เขาสรุปปัจจัยของการย้ายงานให้ผมฟังด้วยกัน 3 ประการ คือ งาน เงิน และเพื่อน

เขาบอกว่าลองถามตัวเองทุกครั้งว่า การเดินเข้ามาสมัครงานในแต่ละครั้งเรายึดอะไรไว้เป็นอันดับแรก งาน เงิน หรือเพื่อน หากเป็นที่ตัวงาน ทุกครั้งที่มีปัญหา ลองถามตัวเองสิว่า ทุกครั้งที่ทำงานย่อมมีปัญหาใช่ไหม

ดังนั้นการแก้ไขจึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจออยู่แล้ว หรือปัญหาดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่ตัวงาน แต่ดันอยู่ที่หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา ซึ่งถือเป็นปัจจัยมหาโหดที่ยากจะแก้ไข หากท้อแท้มาก ลองไล่มาดูลำดับที่สองที่เราวางไว้

สมมติเราวางเงินเป็นลำดับที่สองในการเข้ามาทำงานบริษัทแห่งนี้ หากทบทวนดูแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเงินที่ได้รับมันสอดคล้องกันก็ยังยอมรับได้ หรือปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันก็ยิ่งเบาใจได้หน่อย แต่หากมันเกิดบ่อยเกิน จนรู้สึกว่าสุขภาพจิตเริ่มเสีย ปั่นงาน ประสานงาน กลับบ้านดึก กินอาหารไม่เป็นเวลา ผวาเสียงโทรศัพท์ เชคอีเมลทุกครึ่งชั่วโมง แถมต้องตื่นเช้าอีกต่างหาก ถ้าเป็นเช่นนั้น เงินเดือนเยอะแค่ไหนก็ไม่อาจต่ออายุสุขภาพทางกายและจิตใจให้เราได้

การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสุดท้ายที่เราวางไว้ก่อนจะเข้ามาทำงานในบริษัทแห่งนี้ก็ได้ แต่ปัจจัยสุดท้ายกลับเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะช่วยพยุงทั้งตัวงานและตัวเราให้ฝ่าฟันปัญหาไปได้ด้วยซ้ำ ซึ่งการพบเจอเพื่อนร่วมงานที่ดีย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ ผมเชื่อว่าคนทำงานทุกคนรู้กันอยู่เต็มอก…

เบื้องต้นที่เขียนไป เป็นเพียงปัจจัยในชีวิตการทำงานที่สามารถส่งผลต่อชีวิตของเราทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ไกลที่ไหน นั่นคือ ‘ตัวเรา’ ที่ไม่ควรลืมย้อนคิดทบทวนตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้ามาทำงานแลกเงินเดือนของบริษัท

การเขียนถึงนั้นไม่ได้ต้องการชี้แนะว่าคนทำงานทุกคนต้องรักและเทิดทูนบริษัท เพียงแต่เป็นการเตือนสติ เพื่อไม่ให้คิดเข้าข้างตัวเองมากเกินไป ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงผลลัพธ์สามารถออกมาได้ทั้งสองแง่ที่ว่า เราเอาเปรียบบริษัทด้วยการอู้งาน เพื่ออยู่กินเงินเดือนไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็บริษัทเอาเปรียบเราด้วยการใช้งานเกินกว่าหน้าที่การทำงานที่เคยระบุไว้ (Job Description) แต่เชื่อไหมครับว่าปัญหาทั้งสองแบบล้วนลงเอยแบบเดียวกัน นั่นคือ ‘การหาทางออก’

หากคนทำงานมีพฤติกรรมแบบแรก บริษัทก็พยายามหาทางให้ออกด้วยสารพัดวิธีบีบล้านแปดวิธี เพราะไม่คุ้มกับเงินเดือนที่เขาจ้าง

ส่วนแบบที่สองคนทำงานก็จะดิ้นหาทางออก ด้วยการมองหาบริษัทใหม่ และรอจังหวะยื่นใบลาออก เพื่อโบยบินไปสู่บรรยากาศของรังใหม่ ซึ่งการลาออกในงานเขียนนี้ ผมขอยกเว้นการลาออกเพื่อไปต่อยอดเงินเดือนหรือตำแหน่ง ณ ที่อื่นๆ นะครับ เพราะการลาออกแบบนั้นไม่ได้เกิดจากปัญหา แต่เกิดจากความทะเยอทะยาน และความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ครั้งหนึ่งผมสนทนากับพี่ร่วมงานอาวุโสคนหนึ่ง เขาเป็นคนสู้งานอย่างบ้าบิ่น เรียกได้ว่าถ้าเป็นซามูไร คงเป็นซามูไรชั้นเอก ที่ศัตรูมาเมื่อไหร่ พร้อมรบเมื่อนั้น แถมไม่มีท่าทีกลัวใดๆ

ศัตรูที่ว่านั้นก็คือ ‘งาน’

ผมจึงตั้งคำถามกับพี่ร่วมงานว่า

“ทำไมถึงเต็มที่กับงานขนาดนี้ พี่ไม่ท้อบ้างหรือ”

พี่ร่วมงานตอบกลับมาทันควัน

“กูก็ท้อกับมันเหมือนกัน แต่กูก็ต้องทำให้มันเต็มที่ อย่างน้อยให้งานมันรู้เสียบ้างว่ากูก็มีฝีมือ”

พี่ร่วมงานพูดต่อว่า

“มึงจำไว้ชีวิตการทำงาน เหนื่อยและท้อได้ แต่กูขออย่างเดียวอย่าหนีงาน”

หลังจากประโยคนี้จบลง พี่ร่วมงานพูดถึงทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ว่า

“ทั้งเก่ง เรียนรู้เร็ว มีเป้าหมายสูง แต่ชอบตกม้าตายตรงหนีงาน คือ ยังไม่ได้พิสูจน์ฝีไม้ลายมือเท่าไหร่ก็เสียบดาบกลับเข้าปลอกแล้ววิ่งออกจากสนามรบเสียแล้วทั้งๆ ที่อาจมีฝีไม้ลายมือดีด้วยซ้ำ”

พี่ร่วมงานยังบอกเชิงเตือนอีกว่า

“ถ้ามึงหนีงาน มึงก็จะหนีแบบนี้ไปตลอดชีวิต ต่อให้มึงมีดาบคมแค่ไหน แต่ถ้าไม่ลองใช้ มึงก็ใช้ไม่เป็น”

จากนั้นซามูไรของผมก็ก้มหน้าทำงานต่อ

ในวันนั้น ผมนำบทสนทนากลับมาคิดต่อว่า วิถีของการเป็นซามูไรที่เก่งกาจอาจไม่ได้อยู่ที่มีดดาบอันแหลมคม แต่มันอยู่ที่ความกล้าเผชิญด้วยจิตใจที่แน่วแน่ ซามูไรที่แท้จริงต่อให้หยิบจับอะไรก็เป็นอาวุธทรงอนุภาพทั้งนั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงแค่ไม้ไผ่ด้ามสั้นๆ ก็ตาม…

บนเวที TED TALKS เรจินา ฮาร์ทลี ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท Ups ได้พูดจำแนกบุคคลที่เข้ามาสมัครงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ประเภทแรกคือ ช้อนเงิน หมายถึง ผู้ที่มีประวัติการศึกษาดี จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง และเคยทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงมาก่อน มีความมุ่งมั่นที่จะกอบโกยความสำเร็จ

ประเภทที่สองคือ พวกนักสู้ ซึ่งมีประวัติอาจตรงข้ามกับประเภทช้อนเงิน นั่นคือไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง และอาจทำงานกับบริษัทเล็กๆ มาก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความมุ่งมั่นในความสำเร็จ

เรจินาออกตัวให้ผู้ฟังรับรู้ก่อนเลยว่า เธอเป็นประเภทนักสู้ ที่ไม่ได้มีประวัติสวยงามนัก อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้คิดต่อต้านคนประเภทช้อนเงินแต่อย่างใด เพียงแต่เรนจินาใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาวิเคราะห์พวกช้อนเงิน จากการรับคนประเภทนี้เข้าทำงานว่า บางครั้งคนประเภทนี้อาจได้ทำงานบางอย่างที่ต่ำกว่าวุฒิความสามารถของเขา เช่นทำงานชั่วคราวที่ต้องใช้แรงงาน เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานได้ดีขึ้น ท้ายที่สุด เขาลาออก

ในการพูดของเรจินา เธอไม่ได้อธิบายอย่างละเอียดว่าทำไมเขาถึงลาออก แต่หากให้ผมคิดต่อ อาจเพราะความสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้าน ได้สร้างความเปราะบางให้ชีวิตมากจนเกินไป คล้ายกับการคาดหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้มากๆ พอไม่เป็นอย่างที่คิดเพียงเล็กน้อย ใจก็หวั่นไหวไปโดยง่ายเสียแล้ว

ผมเคยฟังบทสัมภาษณ์ของคุณต่อ ฟีโนมิน่า ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาไทยชื่อดัง แสดงความคิดเห็นต่อคนที่เขาอยากจะดึงมาร่วมงานด้วย คุณต่อเล่าว่า เขาไม่สนใจพวกที่เรียนจบมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือเรียนจบจากเมืองนอกเมืองนามา เขาสนใจว่าคนที่อยากมาทำงานกับเขานั้นมีความอดทนพอหรือเปล่า คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้คุณต่อสนใจคนที่มีภูมิหลังที่เต็มไปด้วยความอึดมากกว่าความสบาย

คุณต่อบอกว่า ถ้าชีวิตคนไหนเคยผ่านความลำบากมาก่อน เช่น เคยช่วยแม่ขายข้าวแกง เข็นผักในตลาด คนที่เคยผ่านความหนักหน่วงของชีวิตมาแบบนี้นี่แหละ ที่เขามองว่าสามารถร่วมงานกับเขาได้

เราอาจจัดคนแบบนี้อยู่ในประเภท ‘นักสู้’ ตามที่เรจินานิยามไว้ก็ได้

กลับมาที่บนเวที เรจินา เล่าว่าคนที่ถูกจัดอยู่ในประเภทนักสู้ต่างเคยมี ‘บาดแผล’ มาก่อนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน การถูกทอดทิ้ง พ่อเเม่เสียตั้งเเต่ยังเด็ก ไปจนถึงความพิการทางการเรียนรู้ การเสพติดสิ่งมึนเมา เเละความรุนเเรง ซึ่งตัวเธอเองก็เคยผ่านความยากจนมาก่อนเช่นกัน
แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยบาดแผล แต่เรจินาบอกว่า ชีวิตก็ยังเกิดการเติบโต เเละการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน่าสนใจ และค้านกับแนวคิดเดิมได้ถูกค้นพบ ซึ่งนักวิทยาศาตร์เรียกมันว่า ‘การเติบโตหลังบาดแผล’

เรจินา อธิบายอย่างต่อเนื่องโดยยกตัวอย่างข้อมูลของนักลงทุนในอเมริกาที่ประสบความสำเร็จว่า กว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ที่นักลงทุนเหล่านั้นมีความบกพร่องเรื่องการอ่าน (Dyslexia) ทว่านี่คือจุดการเติบโตหลังบาดแผล เพราะมันทำให้พวกเขาเป็นผู้ฟังที่ดี และให้ความใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น
พวกเขาคิดว่าจะเป็นตัวเองในวันนี้ได้

หากปราศจากความยากลำบากพวกนั้น พวกเขารู้ดีว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นวันนี้ มาจากความยากลำบาก พวกเขาเปิดรับบาดแผล และความลำบากของพวกเขา ในฐานะที่มันเป็นกุญแจสำคัญ ที่หล่อหลอมตัวตนของพวกเขา และรู้ว่าถ้าไม่ได้มีประสบการณ์เหล่านี้ พวกเขาจะไม่มีทางพัฒนาความแกร่ง และความอดทน เพื่อที่จะกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ

งาน เงิน เพื่อน เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เราปลอบตัวเองได้เพียงชั่วคราว แต่ในระยะยาวทุกอย่างเกือบทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ตัวเราแล้วละครับ ว่าเราจะเป็นเพียง ‘พวกช้อนเงิน’ หรือ ‘นักสู้’ อย่างซามูไรกันแน่

เป็นคำตอบที่ไม่มีผิดและถูก

แต่จะยิ่งดีกว่านั้นคือ การเป็นซามูไรที่มีความเป็นนักสู้ และสามารถพกช้อนเงินติดตัวมาด้วยก็ยิ่งดี เพราะทุกวันนี้ซามูไรเก่งๆ ไม่ได้ใช้ดาบฟาดฟันอุปสรรคเพียงอย่างเดียว แต่ซามูไรก็ต้องพกช้อนไว้กินข้าวเหมือนกัน….

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน’

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *