มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดในการสร้างทีมที่เต็มไปด้วยคนวัยยี่สิบกลาง ๆ อย่างไรให้เติบโต
ผมนิ่งคิดไปสักพัก และก็พบว่ามีหลายข้อที่จำเป็นต้องเติมให้แก่พวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะเติบโตไปทิศทางแบบไหนก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นต่อการทำงานเป็นอย่างมากเลยทีเดียว จะมีอะไรบ้างนั้น ผมจะไล่เป็นข้อ ๆ ให้ฟังครับ
1. การสื่อสาร
ข้อนี้เรียบง่าย แต่ทำไม่ง่ายนะครับสำหรับเรื่องการสื่อสาร บางคนมีทักษะ Hard Skill ที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพตัวเองดีมาก ๆ เช่น ด้านการเขียน ด้านโปรแกรม แต่เรื่องการสื่อสารนั้นดันเป็นหลุมพรางที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ไปไหน
เพราะการสื่อสาร ไม่ได้หมายถึง เราจะสื่อสารไปสู่คนที่ทำงานด้วยอย่างไร แต่การสื่อสารมีมิติของมัน ทั้งเรื่องการพูด การฟังกับคนที่อยู่ตรงหน้า การอ่านความคิด และความเข้าใจของคนที่อยู่ตรงหน้า การดีไซน์คำ ประโยค และน้ำหนักมูดโทนของเสียงที่เราจะสื่อสารออกไปให้คนฟังเปิดใจรับฟังเราด้วยเช่นกัน
ใช่ครับ การสื่อสารคือ ศิลปะ ถ้ามีทักษะตรงนี้ติดตัว จะดีต่อการเชื่อมโยงกับผู้คนที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องคุยกับคนทำงานภาษาเดียวกันเท่านั้น ที่สำคัญมันจะเปิดโลกเรามาก กับความคิดเห็นของคนอื่น นี่แค่การสื่อสารข้อเดียวนะ
2. การบริหาร
ข้อนี้เป็นตัวตัดเหมือนกันว่า เราจะบริหารความสามารถของเราออกมาอย่างไรให้ได้ภายใต้เวลาที่คนทำงานมีเท่ากัน ซึ่งถ้าทำได้ นั่นคือ ความแตกต่างที่ชี้ให้เห็นว่า เราก้าวสู่ความเก่งกาจในการทำงานได้อีกระดับหนึ่งแล้ว
จริง ๆ เรื่องการบริหาร โดยส่วนตัวเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก ๆ เลย อาจเพราะด้วยหน้าที่ที่ต้องทำหลายสิ่งหลายอย่าง ทำให้รู้ได้ว่าการบริหารนั้นเป็นทักษะพิเศษมาก ๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะของเรื่องของชิ้นงานที่ต้องทำให้สมบูรณ์ตามกรอบเวลาที่วางไว้ แต่การบริหารยังมีมิติของเรื่องคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งคนเติบโตเป็นระดับเมเนเจอร์น่าจะเข้าใจดี ว่าทักษะนี้จำเป็นแค่ไหน ยิ่งถ้าวันใดไม่วางแผนก่อน วันนั้นน่าจะเหนื่อยแน่นอน และที่สำคัญการบริหารยังเอามาใช้กับเรื่องสุขภาพของตัวเองได้ด้วย ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญของการคิดและวางระบบในการทำงานทุกอย่างให้บรรลุไปได้ด้วยดี
3. การตัดสินใจ
ข้อนี้คือการยกระดับความรับผิดชอบของคนทำงานอย่างแท้จริง นั่นคือ การตัดสินใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ข้อนี้เองหัวหน้าจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้ทีมได้ตัดสินใจบ้าง ซึ่งมันอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิดก็ได้สำหรับทีม แต่สิ่งที่ได้มาคือการไว้วางใจ และทักษะการแก้ไขปัญหาตรงหน้าที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญมันคือการเติมภาวะผู้นำไปโดยที่เราไม่ได้บอกอย่างชัดเจน ที่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ได้ตัดสินใจไป และจะทำให้ทีมเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นผู้นำมาขึ้นด้วยเช่นกัน
4. ทุกคนจำเป็นต้องมีโควตาความผิดพลาด
ข้อสุดท้าย เป็นข้อที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องมี นั่นคือ การเปิดโอกาสให้ทีมได้ลองสิ่งที่จะมีโอกาสผิดพลาด จากพื้นฐานว่าอยากทดลองอะไรใหม่ ๆ เพราะบทเรียนที่ดีที่สุด มันมักมาจากความผิดพลาดที่เราคาดคิดไม่ถึง หรือขาดความรอบคอบเนี่ยแหละ ที่จะทำให้เราเก่ง แข็งแกร่ง และมีมุมมองที่กว้างและลึกขึ้น การมีเวทีให้ทีมได้กล้าคิด กล้าถาม กล้าตอบ กล้าคิด กล้าลอง กล้าทำ
แม้มันดูจะปวดหัวหน่อยสำหรับคนเป็นหัวหน้า แต่เชื่อเถอะว่าทั้งหมดที่เขียนมา ถ้าคุณไม่อยากเหนื่อยในการดูแลทีมไปตลอด คุณก็ต้องปล่อยให้สนามรบแห่งการทำงาน สั่งสอนให้พวกเขาได้สั่งสมประสบการณ์บางอย่างเพื่อการเติบโตของพวกเขา จนมีกราฟความเก่งที่โตมากพอที่จะมาช่วยรับผิดชอบงานใหญ่ ๆ ในอนาคตแทนคุณได้
ซึ่งความเก่งของหัวหน้าที่ทำให้แตกต่างกันจากคนอื่นๆ นอกจากการสร้างงานให้มาสเตอร์พีซแล้ว การสร้างคนนี่ก็เป็นอะไรที่ยากกว่างานอีกนะครับ
แต่ถ้าสร้างได้ มันคือ คุณสมบัติที่หาได้ยากว่าสำหรับคนคนหนึ่งที่จะเก่งทั้งงาน เก่งทั้งคน แถมยังบริหารอารมณ์ได้ในการเข้ากับผู้อื่นได้ดีอีกด้วย
โลกการทำงานต้องการคนแบบนี้…แต่ก็หาได้ยากเย็นไม่ต่างอะไรจากการถูกลอตเตอร์ลี่รางวัลที่ 1 เลย
ข้อควรระวังคือ การสร้างคนต้องดูด้วยว่าทัศนคติในการทำงาน การให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน เป็นอย่างไร ถ้าเราดันคนเก่งที่มีทัศนคติแย่แต่เก่ง เราอาจกำลังสร้างปีศาจตัวหนึ่งขึ้นมามีอำนาจใจองค์กรก็ได้นะ

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน