ทำงานอย่างไรให้เก่งแบบ Sherlock Holmes

11 January 2020

เชอร์ล็อก โฮล์ม คือ ตัวละครที่ถูกผลิตขึ้นมาจากฝีมือการเขียนของ เซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ที่จริงๆ แล้วแกประกอบอาชีพเป็นแพทย์ แต่วันหนึ่งดันว่างและเริ่มลองลงมือเขียนหนังสือจนเลยเถิดไปกันอย่างที่เราต่างรู้จักกันในฐานะนักเขียนชื่อดังไปแล้ว

วันนี้ไม่ได้มาเขียนเล่าเรื่องราวของอาเธอร์นะครับ แต่มีปัญหาหลายอย่างในการทำงานทั้งของผมและของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน น้องร่วมงาน หรือแม้กระทั่งภรรยาของผมก็มักมาแชร์ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานให้ฟังพร้อมขอคำแนะนำในการหาทางออก ซึ่งเอาเข้าจริงผมยังเอาตัวรอดลำบากเลย เลยมานั่งคิดดูว่าถ้าจะไขปัญหาในที่ทำงานเราควรติดตามความคิดของใครเป็นแบบอย่างในเชิงพฤติกรรมได้บ้าง ชื่อของเชอร์ล็อก โฮล์ม จึงเกิดขึ้นมาในความคิดทันที นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าน่าเอาไปใช้ในการทำงานครับ

สังเกตให้เป็น

มาตรฐานของการเป็นนักสืบแล้วโดยพื้นฐานต้องเป็นคนชอบสังเกต ซึ่งคนทำงานอย่างเราก็ควรมีลักษณะนี้เช่นกัน แต่ไม่ใช่การสังเกตในเชิงลบอย่างเช่นการสังเกตเพื่อจับผิด หรือสังเกตเพื่อการอยากรู้อยากเห็นประเด็นที่ไร้ประโยชน์นะ ใช้วิธีการสังเกตเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่งานหรือหาทางออกเมื่อเราหรือทีมงานกำลังเจอปัญหากันมากกว่า เช่น การสังเกตสีหน้าของเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าตอนเดินเข้ามาในออฟฟิศ และเราดันมีเรื่องหนักใจอยากจะมารายงานให้ฟัง ซึ่งบางครั้งการเข้าไปผิดจังหวะกับภาวะที่พวกเขายังเกิดความตึงเครียดอยู่

นอกจากปัญหายังไม่ได้ถูกแก้แล้ว เผลอๆ อาจจะได้รับระเบิดอารมณ์เข้าไปอีก หรือบางทีการสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของเพื่อนร่วม เช่น แต่งตัวดี แต่งหน้าสวย เราก็สามารถใช้ความสังเกตมาเป็นพื้นฐานสู่การชื่นชม เพื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานร่วมกันได้เช่นกัน

สร้างและหาหลักฐาน

ส่วนใหญ่ปัญหาในการทำงานของคนทำงานมักจะผิดพลาดที่ขั้นตอนการสื่อสารเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่องานขาดช่วงหรือผิดพลาดก็จะเกิดการล่าแม่มดหรือหาแพะรับบาปกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนเกิดบรรยากาศที่ไม่โอเคในการทำงาน หรืออยากร่วมงานต่อด้วยในครั้งต่อๆ ไป

การหัดสร้างหลักฐานจึงเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องหัดทำ ด้วยการประเมินไปก่อนล่วงหน้าว่า ถ้าขั้นตอนในการทำงานช่วงใดช่วงหนึ่งหลุดหล่นไป มันจะย้อนกลับมาทำร้ายเราได้หรือไม่อย่างไร และเราควรมีวิธีป้องกันไม่ให้กระบวนการสื่อสารในการทำงานหลุด และไม่ให้เราถูกโจมตีว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาได้อย่างไร การสร้างหลักฐานจึงสำคัญมากสำหรับการทำงานที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมากและมีขั้นตอนงานที่ซับซ้อน เราสามารถสร้างหลักฐานการทำงานจากการเขียนอีเมล การพิมพ์ข้อความไปบอกเพื่อนร่วมงานทาง Messenger หรือ Line ก็ย่อมได้เช่นกัน หลักฐานเหล่านี้จะทำให้เราสบายใจต่อตัวเองมากขึ้นในวันที่เกิดปัญหา

รับฟังก่อนตัดสิน

มีหนึ่งมาตรฐานของการทำงานของโฮล์ม คือการรวบรวมพยานและหลักฐานในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขต่อปัญหาที่เกิดขึ้น การรวบรวมพยานจากเพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับการลำดับเรื่องราวจากขั้นตอนในการทำงาน นอกเหนือจากจะทำให้เราและคนอื่นๆ เห็นภาพรวมและที่มาที่ไปอย่างเห็นได้ชัดแล้ว วิธีนี้ยังทำให้เราดูดีมีตรรกะในการไตร่ตรองคิดพิจารณาให้น้องๆ เพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าได้เห็นศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่ดีอีกด้วย

ฟังความเห็นจากเพื่อนคู่คิดสำคัญ

การแก้ไขปัญหานั้นบางครั้งไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวคนเดียว การมีเพื่อนคู่คิดคนสำคัญก็สำคัญไม่แพ้กัน เหมือนที่โฮล์มต้องมีหมอวัตสันค่อยช่วยเหลือทางความคิดอยู่เสมอ เพราะบางปัญหาที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการพิจารณาจากเหตุการณ์และหลักฐานแล้ว ประสบการณ์และมุมความคิดบางอย่างจากเพื่อนคู่คิดก็สามารถเป็นกุญแจสำคัญในการหาต้นตอความผิดพลาดในการทำงานที่เกิดขึ้นได้ รวมไปถึงวิธีแก้ไขและป้องกันในการทำงานร่วมกันต่อๆ ไปอีกด้วยครับ

ถ้าเราพอมีพื้นฐานทั้งหมดนี้ของโฮล์ม ก็น่าจะทำให้มีแนวทางในการทำงานได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าเกิดคดีมีคนตายในที่ทำงานอย่าทะลึ่งไปสืบสวนสอบสวนเองนะครับ รีบโทรเรียกตำรวจจะดีกว่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *