ชายธรรมดาคนหนึ่ง เขาแต่งตัวธรรมดา อันประกอบไปด้วยกางเกงยืน เสื้อเชิ้ต รองเท้าผ้าใบ กระเป๋าสะพายหนึ่งใบและเส้นทางการเดินทางไปที่ทำงานเส้นเดิมในทุกๆวัน
ชีวิตที่แสนธรรมดาจากบรรทัดด้านบนเป็นชีวิตของคุณหรือเปล่า
สำหรับผมมันใช่
ผมใช้ชีวิตแบบผู้ชายคนนั้นเป็นประจำแทบไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย ไม่เว้นแม้กระทั่งอาหารกลางวันซึ่งบางวันก็สั่งซ้ำอย่างอัตโนมัติ ฟังดูแล้วหากเปรียบชีวิตเป็นอาหารคงมีรสชาติที่จืดชืดพอสมควร แลดูชีวิตจะมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายด้วยวิธีการเดิมๆ อยู่ตลอด
คำถามคือ เราควรจัดการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตอย่างไร
การเพิ่มสีสันให้ชีวิตมากมายหลายทางซึ่งเชื่อว่าทุกคนได้เสพกับสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ คือ ดูหนัง ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ร้องคาราโอเกะ ออกกำลังกาย เป็นต้น
กิจกรรมทั้งหมดที่เขียนถึงล้วนแฝงไปด้วยพฤติกรรมที่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเสียเป็นส่วนใหญ่ หากมองภาพขยายกว้างมากขึ้นออกไปอีก เรากำลังเห็นการกวาดความสุขบางอย่างเข้าหาตัวเราเองจนกระทั่งเราพึงพอใจที่จะหยุดตามหาและรอจนกว่าความเบื่อหน่ายหรือความทุกข์จะเดินเข้ามาหาในชีวิตของเราอีกครั้ง วงจรพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตของเราอีก(หรือไม่)
การจัดการเรื่องราวในชีวิตให้มีความสุข เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่สิ่งที่ผมเขียน คือ สิ่งที่ผมเห็นเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวผมเอง แล้วจะมีทางอื่นอีกบ้างไหมที่จะเพิ่มความสุขในชีวิตของเรา
คำตอบของการหาความสุขอาจไม่ใช่เรา หากแต่เป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นเรื่องแปลกแต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไปในตัว
เจนนิเฟอร์ อาร์เคอร์ หัวหน้าคณะวิจัยจากสแตนฟอร์ด เธอได้ทำการศึกษาเรื่อง “การตั้งเป้าช่วยคนแล้วชีวิตจะมีความสุข” ซึ่งจากการศึกษา เธอพบว่าหนทางสู่ความสุขที่แท้จริงนั้น คือ การตั้งเป้าหมายช่วยเหลือผู้อื่นแบบเจาะจง เช่น การทำให้ผู้คนมีรอยยิ้มหรือการไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นต้น
หลังจากผมอ่านประเด็นการศึกษาของเจนนิเฟอร์จบลง ทำให้ผมนึกถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คุณบอย โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลงชื่อดังเคยอธิบายถึงการให้ ผ่านลักษณะธรรมชาติของมวลน้ำไว้ว่า
หากคุณผลักมวลน้ำออกจากตัวคุณ มวลน้ำเหล่านั้นจะไหลย้อนกลับเข้ามาหาตัวคุณ แต่หากคุณวักน้ำเข้าหาตัวเองมวลน้ำจะไหลออกจากตัวคุณ
เป็นเรื่องที่น่าแปลกแต่ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ สำหรับการให้กับความสุขที่เราจะได้รับ
ความสุขเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร ความทุกข์ก็เช่นกัน ความรู้สึกสองประเภทนี้มีลักษณะคล้ายการเวียนวายตายเกิดอยู่ในจังหวะชีวิตของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่แสนธรรมดาหรือเป็นวันพิเศษกว่าวันอื่นๆ
แม้สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นและดับลงตามสภาพของความสุขและความทุกข์ซึ่งดำรงอยู่ในชีวิต
คำถามต่อไปคือ เราควรจะหาความสุขในชีวิตอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนให้ถึงที่สุด คำตอบอาจจะเป็นสิ่งที่เจนนิเฟอร์ค้นพบในการศึกษา นั่นคือ การตั้งเป้าช่วยเหลือผู้อื่น เพราะความยั่งยืนของความสุขบนเส้นทางนี้ มีน้ำหนักที่จะเน้นคุณค่ามากกว่ามูลค่าซึ่งการได้มา แม้เราจะอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยทุนนิยมที่เน้นผลกำไรทางการผลิตไม่ว่าจะเป็นจากเครื่องจักรกลหรือพฤติกรรมจากการหวังผลของมนุษย์เองก็ตาม
หนังสือ The Art of Happiness at Work หนังสือที่รวมบทสนทนาระหว่างองค์ทะไลลามะกับโฮเวิร์ด ซี. คัทเลอร์ นายแพทย์ผู้ซึ่งได้ตั้งคำถามมากมายต่อชีวิตกับสรรพสิ่งรอบตัวเพื่อหาบทสรุปของความสุขจากท่านองค์ทะไลลามะในฐานะบุคคลที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่ง ช่วงท้ายบทของการสนทนาท่านได้ให้แง่คิดอย่างหนึ่งของการตั้งเป้าหมายให้เกิดสุขในชีวิตได้อย่างน่าสนใจ ในประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงตั้งแต่ชีวิตของชายธรรมดาคนหนึ่งตั้งแต่บรรทัดแรกจนมาถึงผู้ประกอบการหรือผู้บริหารระดับสูงที่ตั้งเป้าหมายทำยอดขายในการผลิตสินค้าและบริการ
ท่านบอกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถรับประกันความสุขอันสูงสุดของเราได้หรอก เราจะต้องเพิ่มอีกหนึ่งองค์ประกอบเข้าไป คือ การคำนึงถึงผลลัพธ์ของการผลิตและการกระทำของเราด้วยว่ามันจะมีผลต่อตัวเรา ต่อครอบครัวของเรา ต่อสังคมของเราและต่อโลกของเราอย่างไร
ความสุขอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการช่วยเหลือแบบที่เจนนิเฟอร์ศึกษา อาจไม่ต้องลงทุนไปกับสิ่งของมากราคา อาจไม่ใช่ผลกำไรจากการลงทุน แต่อาจเป็นวันที่เราตั้งเป้าหมายเล็กๆ อย่างการปรับเวลาการตื่นให้เร็วขึ้น การทดลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดกินข้าว การลองไปทำงานเส้นทางอื่น การเริ่มทักเพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุยกัน การพาครอบครัวออกไปกินข้าว การพาสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้าน การรดน้ำต้นไม้ การทำความสะอาดบ้าน การเปิดดูอัลบั้มรูปเก่า มีอีกมากมายที่ความสุขซุกซ่อนอยู่ในบางมุมของชีวิตที่เราเก็บมันเอาไว้ในลิ้นชักที่ถูกความเคยชินบดบัง
ความสุขที่เราค้นหามาโดยตลอดอาจไม่ได้อยู่ที่การกระทำเป็นลำดับแรก แต่หากอยู่ที่การเริ่มต้นตั้งคำถามให้แก่ตัวเราเอง ความสุขอาจเริ่มจากตรงนั้นและการหาคำตอบคือการกระทำเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างที่แท้จริงระหว่างความสุขกับความทุกข์
แท้จริงแล้วทั้งสองสิ่งอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดแต่เราต่างหากที่เป็นคนสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเอง
หมายเหตุ: บทความนี้คือส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก’

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน