แท่งชอลค์สีขาวกำลังลอยอยู่ในอากาศและพุ่งตรงมายังศรีษะของนักเรียนคนหนึ่ง
“ป๊อก!”
“นายโอม…ออกไปล้างหน้า”
นี่ไม่ใช่วีรกรรมที่น่าเอามาเขียนเล่าเผยแพร่ให้คนอ่านชื่นชมหรอกครับ แต่เป็นพฤติกรรมของร่างกายและสมองของชีวิตคนเรามากกว่าที่ต้องเผชิญกับความง่วงตั้งแต่วัยเรียนจนมาถึงวัยทำงาน อะอ่ะ…อย่าบอกนะว่าคุณไม่เคยแอบงีบตอนเรียนหรือตอนทำงาน สารภาพมาเถอะเพราะมันเป็นเรื่องปกติ
เจ้าของกิจการหรือเถ้าแก่ยุคก่อน อาจมองว่าการแอบงีบหลับในช่วงเวลางานนั้นคือการอู้งานรูปแบบหนึ่ง และทำให้งานที่ต้องทำไม่ดำเนินต่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่สมัยใหม่ที่เข้าใจพฤติกรรมของสมองและร่างกายมากขึ้นจะเห็นข้อเสียและวิธีแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบกับงาน แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เหตุนี่จึงทำให้เราเห็นพื้นที่งีบหลับ (NAP ZONE) ในองค์กรสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก
เจสสิกา สทีลแมน (Jessica Stillman) นักเขียนและคอลัมนิสต์เผยถึงงานวิจัยจาก the National Sleep Foundation ว่าครึ่งหนึ่งของคนทำงานในอเมริกายอมรับว่าการนอนไม่เพียงพอนั้นส่งผลต่อการทำงานควบคู่ไปกับสุขภาพด้วยเช่นกัน แถมยังมีข้อมูลที่ทำให้ผู้ประกอบการสะดุ้งจากผลกระทบต่อการนอนไม่พอของพนักงานอีกด้วยว่า นอกจากจะทำให้การสร้างสรรค์ผลงานลดลงแล้ว บริษัทยังสูญเสียรายได้โดยรวมไปกว่า 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกต่างหาก (Journal of Sleep, Sept 2011)
ถึงแม้ว่าหลายคนจะมองเรื่องการอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเรื่องการจัดการชีวิตส่วนตัว และผลการดำเนินงานก็ไม่ควรจะมาเหมารวมกัน แต่วิสัยทัศน์แบบนั้นอาจแคบไปสำหรับผู้ประกอบการที่ถนัดมองภาพรวมมากกว่า
หากขุดลงไปถึงเรื่องความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และคุณภาพของเนื้องานนั้น จะพบว่าสุขภาพของบริษัทจะดีได้นั้นก็ต่อเมื่อพนักงานจำเป็นต้องมีสุขภาพที่ดีควบคู่ไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับบริษัทก้องโลกอย่าง Google, Uber, The Huffington Post และ Ben & Jerry ซึ่งมีจุดร่วมเหมือนกันในการสร้างสรรค์ห้องงีบขึ้นมานั้นไม่ได้ทำเล่นๆ หรือเพื่อความเก๋ๆ แต่ยังเป็นนโยบายสำคัญในการดูแลพนักงานไปพร้อมๆ กับผลประกอบการของบริษัทด้วย แต่ทั้งนี้อีกจุดหนึ่งที่ต้องดูคือวิถี วัฒนธรรม และลักษณะของการทำงานในแต่ละประเทศด้วยว่าสอดคล้องกับการเหมาะให้งีบมากน้อยแค่ไหน
หากถามว่าถ้านอนไม่พอหลายๆ คืน จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน จอหน์ เมดินา นักชีววิทยา เคยบันทึกผลกระทบของการนอนไม่เพียงพอ โดยเขาแนะนำว่าภายในหนึ่งวันเราควรได้พักผ่อนราว 7-9 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังดีต่อการพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายและระบบทำงานของสมอง
จอหน์ยังเตือนคนทำงานด้วยว่า หากภายในหนึ่งวันเรานอนไม่พอต่อเกณฑ์เฉลี่ย 7-9 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาติดต่อนานถึง 5 วัน ความสามารถทางความคิดของเรานั้นจะไม่แตกต่างอะไรจากคนที่อดนอนอย่างต่อเนื่องนานถึง 48 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งคนที่ทำงานในแวดวงสร้างสรรค์ที่พักผ่อนไม่เพียงพอนี่น่าเป็นห่วงมากๆ ครับ
หากถามว่าการหลับระหว่างวันทำงานควรนานแค่ไหน ส่วนใหญ่ควรอยู่ราวๆ 15 – 30 นาที กำลังดี ซึ่งเวลาในช่วงนี้ได้รับคำแนะนำมาจาก มาร์ก โรสไคนด์ นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรนาซ่าที่ศึกษาเกี่ยวกับการหงีบหลับและสมรรถภาพการทำงาน โดยมาร์กกล่าวว่าการได้นอนหลับเฉลี่ยเพียง 26 นาที นั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามาร์กวัดได้อย่างไร แต่เอาเป็นว่าการได้งีบหลับก็แฮปปี้และพร้อมกลับมาทำงานได้อย่างมีสติแล้ว
ถ้าเราลืมกฏและข้อแนะนำทั้งหมดที่เขียนมาละว่า อดนอนไปเลยเพื่องานที่เรารัก ทำโต้งรุ่งไปเลยหลายๆ คืนเดี๋ยวไม่ทัน อันนั้นน่าจะเกิดจากการบริหารเวลาของเราแย่มากกว่าครับ แหม่…ก็เล่นทำงานจนลืมดูแลสุขภาพตัวเองไปเลย ซึ่งมีกรณีศึกษาที่เราต้องย้อนไปถึงปี 1959 เป็นเรื่องราวของ ปีเตอร์ ทริปป์ ดีเจชาวนิวยอร์ก ที่ได้ลองของกับแคมเปญการอดนอนถึง 200 ชั่วโมง เพื่อระดมทุนให้กับมูลนิธิในอเมริกา (ปีเตอร์ควรออกมาวิ่งแบบพี่ตูนน่าจะดีกว่านะ)
ก่อนที่แคมเปญนี้จะเริ่มขึ้น ปีเตอร์อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาสังเกตพฤติกรรมก่อนและหลังของเขาด้วย เมื่อเวลาผ่านไป 72 ชั่วโมงหรือวันที่ 3 พฤติกรรมของปีเตอร์ยังคงปกติ แต่พอถึงวันที่ 5 พฤติกรรมของปีเตอร์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อารมณ์ของเขาแปรปรวน และเริ่มมีอาการหลอนต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก ปลายทางที่น่าทึ่งคือเขาฝืนการอดนอนจนครบ 200 ชั่วโมงได้สำเร็จไปพร้อมกับความล้มเหลวของสภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจไปในตัว
สุดท้ายใครอยากอึดทึกแบบปีเตอร์ก็ตามใจครับ แค่อดนอนคืนเดียวเราก็จะบ้าอยู่แล้ว หันมาทำให้สุขภาพแข็งแรงไว้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวอย่างอื่นก็จะแข็งตามเองครับ ผมหมายถึงงานนะครับไม่ใช่อย่างอื่นนะจ๊ะ
ขอให้คนทำงานทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงครับ

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน