เด็กตัวน้อยๆ จำนวนหนึ่งถูกเชิญให้เข้าห้องที่มีเพียงมาร์ชเมลโล่หนึ่งชิ้นวางยั่วยวนอยู่ตรงหน้า ทว่ามีกฎอยู่ว่าภายใน15 นาทีที่อยู่ในห้องนี้ เด็กคนใดไม่กินมาร์ชเมลโล่จะได้เพิ่มอีกชิ้นหนึ่ง
หลังจากประตูปิด ภาพตัดสลับมาที่อาการของเด็กแต่ละคนที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับคนดูได้อย่างสนุกสนาน
เด็กบางคนพยายามเบือนหน้าหนีและหลบสายจากมาร์ชเมลโล่
บางคนอดไม่ไหว จึงตัดสินใจหยิบมาร์ชเมลโล่เข้าปากและเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้คือการทดลองอันโด่งดังที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘ทฤษฎีมาร์ชเมลโล่’ (Marshmallow Theory) ของ วอลเตอร์ มิเชลล์ (Walter Mischel) นักจิตวิทยาจากสแตมฟอร์ด ที่เชื่อว่าความยับยั้งชั่งใจจะเป็นปัจจัยนำพาความสำเร็จมาในชีวิต
ทฤษฏีมาร์ชเมลโล่ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆ มากมายในการทำงาน หรือแม้กระทั่งนักลงทุนในตลาดหุ้น ที่ต้องอดทนอดกลั่นต่อราคาที่วิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
หากจะเรียกทฤษฎีของวอลเตอร์ มิเชลล์ ในสำนวนภาษาไทยว่า ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ก็พอได้เช่นกัน ซึ่งหากเรานำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานคาดว่าผลลัพธ์น่าจะดีขึ้นไม่มากก็น้อย
ใช่ว่าการยับยั้งชั่งใจจะเป็นจุดเริ่มต้นประกายไฟแห่งความสำเร็จเพียงอย่างเดียว ทว่าการยับยั้งตัวเองได้นั้นยังก่อให้เกิดการควบคุมอารมณ์ การแยกผิด ชอบ ชั่ว ดี การวางแผน ความมีระเบียบวินัย อันเป็นพื้นฐานที่คนรุ่นใหม่ถูกความรวดเร็วในยุคเทคโนโลยีกลืนกินไปเกือบเสียหมด
ยิ่งควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ นอกจากจะทำให้เกิดโอกาสสูงในการมีปากมีเสียงกับเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างได้ง่ายแล้ว โอกาสในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็ยิ่งน้อยลงไปอีกเช่นกัน เพราะต้องแข่งกับเวลาและความคาดหวังในคุณภาพงานจากหัวหน้าหรือลูกค้า
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ‘การยับยั้งชั่งใจ’ หรืออาจจะเรียกได้ว่า ‘การรู้ทันตนเอง’ เป็นเรื่องสำคัญที่เราสามารถดูแลและควบคุมได้ถ้ามีสติเพียงพอ
ซึ่งจะว่าไปแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยองค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ 3 อย่าง นั่นคือ ยีนส์จากพ่อแม่ สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู และประสบการณ์เรียนรู้ในชีวิต ที่มีอิทธิพลเบื้องต้นในการหล่อหลอมให้เราสามารถบังคับตัวเองให้อยู่ในลู่วิ่งเพื่อไปยังเส้นชัยได้
เรื่องราวทั้งหมดที่เขียนขึ้นมานั้น เคยถูกเล่าผ่านการประชุมแห่งหนึ่ง จนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งทักทวงและเห็นต่างจากสมมติฐานดังกล่าว พวกเขาบอกว่า ‘การยับยั้งชั่งใจ’ เป็นกรอบกำหนดให้มนุษย์ใช้ชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีรัก โลภ โกรธ หลง ทุกอย่างดำเนินตามระเบียบวิธีเหมือนกันหมด
หากมนุษย์ทุกคนเลือกที่จะไม่กินมาร์ชเมลโล่เลย โลกใบนี้คงไม่มีคนอย่างไอนส์สไตน์ หรือศิลปินระดับโลกที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย สรุปได้ว่าทฤษฎีดังกล่าวจะกดทับความคิดสร้างสรรค์ไม่ให้ออกมาจากมนุษย์นั่นเอง…
ผมนึกและจินตนาการตามและมีความคิดเห็นว่า ‘ดี’ ที่คนกลุ่มนั้นได้ทักทวงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะทำให้ผมไขความลับจากเรื่องที่พวกเขายกบุคคลระดับโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ขึ้นมาเปรียบเทียบพร้อมกับเบื้องหลังความสำเร็จของเขา
ไอน์สไตน์ ขึ้นหิ้งว่าเป็นบุคคลที่มีมันสมองอันซับซ้อนและอัจฉริยะเกินมนุษย์ทั่วไป จนมีการเก็บสมองของเขาไว้เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าทำไม เขาถึงคิดทฤษฎีสัมพันธภาพอันโด่งดังได้
ในวัยเด็กไอน์สไตน์จัดอยู่ในเด็กที่เรียนไม่เก่ง รวมทั้งระดับการใช้ภาษาอยู่ในขั้นต้องพัฒนา จนพ่อแม่ของเขาคิดว่าไอน์สไตน์มีไอคิวต่ำกว่าปกติ
ที่โรงเรียน ไอน์สไตน์มักถูกเพื่อนล้อเลียน รวมถึงคุณครูที่คอยกดดันให้ไอน์สไตนตั้งใจเรียนให้ดีขึ้นกว่าเดิม และด้วยความไม่ถนัดในวิชาที่เรียน จึงทำให้ผลการเรียนย่ำแย่ ส่งผลให้ไอน์สไตน์ต้องออกจากโรงเรียน แต่การออกมาครั้งนี้คือจุดที่ทำให้เขาได้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ
เขามุ่งมั่นกับวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาฟิสิกส์ ที่เป็นวิชาพื้นฐานสำคัญอันนำมาสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เท่าที่โลกเคยมี
หากมองให้ดีแล้วไอน์สไตน์ไม่ใช่อัจฉริยะโดยกำเนิด แต่ความอัจฉริยะเกิดจากการเป็นนักเรียนรู้ที่ดีและลงลึกในเรื่องที่เขาสนใจ ทว่ากว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้สำเร็จนั้น เขาต้องมีการยับยั้งชั่งใจตนเองต่อคำล้อเลียนและแรงกดดันจากผลการเรียนต่างๆ สารพัด
การก้าวผ่านบาดแผลในช่วงนั้นด้วยความอดทนอดกลั้น เพื่อรอเวลาและโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างแท้จริง นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยิ่งได้พิสูจน์แล้วว่าการเดินทางที่เขาเลือกเดิน คือ เส้นทางที่เขากำหนดเองจนประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่มาจากการศึกษา ทดลอง วางแผน มุ่งมั่น สร้างสรรค์ และอีกมากมาย
ทั้งหมดล้วนเกิดจากจุดเริ่มต้นของการยับยั้งหรือการรู้ทันตนเองที่มีต่อเป้าหมายและการวาดภาพแห่งความสำเร็จในชีวิตควรเป็นอย่างไร
เมื่อเราวาดภาพความสำเร็จพร้อมกับความเชื่อมั่น เราจะรออะไรอยู่ถ้าไม่ลงมือทำแล้วเก็บเกี่ยวความคิดระหว่างทางที่ค่อยๆ สร้างสรรค์ให้เติมเต็มผลงานให้ผลิบานออกมาอย่างสวยงาม
ย้อนกลับไป ณ ห้องประชุมในวันนั้น ความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ความยับยั้งชั่งใจก็สำคัญเช่นกัน
แต่หากเรานำมาเทียบกันโดยมีความฝันก้อนหนึ่งที่เราอยากให้เป็นจริง สิ่งใดที่เราควรยึดเป็นหลัก สิ่งใดที่เราสามารถเติมได้ทีหลัง
แม้มาร์ชเมลโล่หนึ่งชิ้น และเรื่องราวของไอน์สไตน์อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่มันก็ชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จได้เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วบนโลกใบนี้…

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน