บริเวณออฟฟิศ ก้นบุหรี่ที่กองอยู่เต็มพื้น ณ สวนย่อม คือ หลักฐานที่ครีเอทีฟหลายคนทิ้งเอาไว้ให้ผมตั้งสันนิฐานไว้ว่า ช่วงนี้พวกเขาคงเครียดมากกว่าช่วงก่อนอย่างแน่นอน
ซึ่งบริเวณนั้นมักเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความคิดที่มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ที่ครีเอทีฟในองค์กรมาพบปะกันแบบมิได้นัดหมาย
และเมื่อรวมตัวกันเยอะ บริเวณสวนย่อมจะมีควันสีขาวพวยพุ่งออกมาอย่างมากมาย จนแลดูเหมือนไฟไหม้สวนยังไงยังงั้น
แม้ผมจะไม่ใช่สิงห์อมควัน แต่บ่อยครั้งผมก็เข้าไปเสวนากับพี่น้องตามประสาคนคุ้นเคย
ผมตั้งคำถามว่า ทำไมชอบมานั่งตรงนี้ คำตอบที่ได้ คือ
หาที่สูบบุหรี่
หัวไม่แล่น
รวมข้อหนึ่งกับข้อสองและอยากแลกเปลี่ยนกับคนอื่น
ผมผงกหัวไปตามเหตุผล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับไปส่วนมาก คือ ความคิดปิ๊งแว๊บอะไรที่ออกมา และมุมมองจากเพื่อนร่วมงานที่มาแชร์ความคิดเห็น
พฤติกรรมเหล่านี้ของคนทำงานเชิงสร้างสรรค์ ที่ต้องใช้มันสมองอย่างหนักหน่วงอยู่สม่ำเสมอนั้น ต้องต่อสู้กับอาการตันทางความคิดที่ถูกรุมเร้าจากความคาดหวังของหัวหน้าบ้าง ลูกค้าบ้าง และตัวเองบ้าง
ดังนั้น การปลีกวิเวกออกมาจากพื้นที่เดิมๆ มักจะเติมเต็มความสดใสให้กับสมอง ร่างกาย และจิตใจได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนทำงานบางส่วนที่ชอบตั้งคำถามกับพฤติกรรมเหล่านี้ว่า การคิดไม่ออกแล้วออกมาเดินสูบบุหรี่ กดโทรศัพท์มือถือ คุยเล่นกันนอกเวลางาน มันคือข้ออ้างในการพักผ่อนเวลางานหรือเปล่า
หนังสือ The Accidental Creative เขียนโดย Todd Henry ได้เขียนถึงการทำงานของสมองได้อย่างน่าสนใจ
สมองเป็นระบบที่ทรงประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่ง ซึ่งการสร้างสรรค์ การจดจำ และการขบคิดต้องใช้พลังงานมหาศาล
แม้สมองจะมีน้ำหนักแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักร่างกาย แต่มันยังต้องอาศัยออกซิเจนและกลูโคสถึง 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
นั่นหมายความว่า การพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ปลอดโปร่งหรือกินอาหารที่แปรเป็นน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยให้สมองแล่นได้เหมือนกัน
ในขณะเดียวกัน เวลาที่เราเหนื่อยล้า เรามักจะคิดอะไรไม่ค่อยออกและเชื่อมโยงอะไรไม่ค่อยได้ นั่นเพราะสมองขาดพลังงานที่จำเป็นสำหรับการทำงานนั่นเอง
ข้อมูลของ Todd Henry อาจเป็นการอธิบายถึงศักยภาพของสมองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าที่คนไม่ได้ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์โดยตรงจะเข้าใจ
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงคิดเหมือนผมว่า กลไกในการทำงานช่างซับซ้อนเกินกว่าที่คิดไว้มากทีเดียว
แม้สมองจะเป็นแกนหลักในการทำงานให้ออกมาสมบูรณ์ แต่แรงเสริมที่จะทำให้สมองทำงานได้อย่างดีมีประสิทธิภาพก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการบริหารงานในแต่ละวันด้วย
โทนี ชวาร์ตซ์ ผู้เขียนหนังสือ How to Be Excellent at Anything เขียนว่า การบริหารพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จพอๆ กับการบริหารเวลา
ประเด็นของโทนี ชวาร์ตซ์ น่าสนใจตรงที่มันสามารถนำมาตอบคำถามกับหัวหน้าหรือพนักงานด้วยกันเองที่ชอบตั้งคำถามถึงครีเอทีฟที่เดินออกไปสูบบุหรี่ เล่นโทรศัพท์ หรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ณ บริเวณสวนหย่อมได้
ชวาร์ตซ์ เขียนไว้ว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่เรานั่งทำงานวันละกี่ชั่วโมง แต่อยู่ที่ว่าเรามีพลังงานมากแค่ไหนและนำไปใช้สร้างคุณค่าอย่างไรบ้างต่างหาก
ชวาร์ตซ์ยังเขียนย้ำต่ออีกว่า ผลการวิจัยจำนวนมากบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จะต้องมีช่วงเวลาที่เราจดจ่ออย่างแน่วแน่สลับกับช่วงหยุดเป็นระยะๆ
แต่บางครั้งเรากลับทำงานหลายอย่างพร้อมกัน โดยที่ไม่ได้จดจ่อกับงานใดงานหนึ่งอย่างจริงจัง และบางครั้งเราก็ทำงานจนไม่ยอมให้สมองได้พักผ่อนบ้างเอาเสียเลย ซึ่งนั่นทำให้ผลงานออกมาครึ่งๆ กลางๆ
เสียงหัวเราะและควันบุหรี่ที่พวยพุ่งออกมาจากพุ่มไม้หลังออฟฟิศ
สายตาของคนที่ยังมองว่าพวกเขาอู้งาน อาจเป็นเพียงชุดความที่ก่อจากความไม่เข้าใจเพียงเท่านั้น
ซึ่งใครจะไปรู้ว่าระหว่างที่เสียงหัวเราะได้ดังไปพร้อมกับควันบุหรี่นั้น
จะเต็มไปด้วยการทำงานของสมองอันหนักหน่วงที่กำลังปะติดปะต่อความคิดจากสิ่งต่างๆ มากมาย ที่กำลังทำงานเพื่อตอบโจทย์งานขายที่พวกกำลังหาทางออกที่ดีที่สุดด้วยความคิดสร้างสรรค์
หมายเหตุ: บทความนี้อยู่ในหนังสือ สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน