ทำไมความเข้าอกเข้าใจจึงเป็นทักษะสำคัญของเจ้านาย

31 July 2021

เมื่อคนทำงานที่มีแบคกราวในชีวิตแตกต่างกัน แต่ต้องมาร่วมกันทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน แค่คิดว่ากว่าจะนำทุกคนมารวมกันต่อภาพเพื่อฉายให้เห็นความสำเร็จที่ตั้งไว้ภายใต้ความแตกต่างนี้ ก็ชวนปวดหัวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ ซึ่งคีย์แมนที่จะทำให้ภาพความสำเร็จของทีมเกิดขึ้นได้ ย่อมหนีไม่พ้นผู้นำอย่างหัวหน้าแน่นอน ยิ่งทำงานในแวดวงที่ต้องสื่อสารกับคนเป็นหลัก ยิ่งต้องมีความเข้าอกเข้าใจคนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจิ๊กซอว์ที่จะต่อภาพความสำเร็จให้สมบูรณ์ในโลกของการทำงานยุคนี้ต้องอาศัยคำที่เรียกว่า Empathy Skill  

ต้องหัดเข้าใจหากไม่อยากให้พนักงานเป็นหนี้สิน

Empathy เป็นชื่อเรียกสั้นๆ แต่กลับนำไปใช้งานได้ไม่ง่าย เก๋ และเท่ เหมือนชื่อที่ถูกเรียก เพราะเป็นทักษะที่ต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจตัวเอง และผู้อื่น โดยในช่วงหลายปีให้หลังมีผู้นำหลายองค์กรเริ่มให้ความใส่ใจต่อเรื่องนี้มากขึ้น นั่นเพราะ ‘พนักงาน’ เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากที่สุดในองค์กรนั่นเอง และหนึ่งในวิธีเจียรไนจากพนักงานธรรมดาให้กลายเป็น Talent ขององค์กรได้ย่อมต้องใช้ความเข้าใจความต้องการของพวกเขาเป็นพื้นฐาน และในทางกลับกันพนักงานก็สามารถกลายเป็นหนี้สินขององค์กรได้หากไม่ให้ความใส่ใจในการพัฒนา

การเข้าอกเข้าใจมีหลายสเตท  

Empathy นั้นมีมิติมากกว่าที่เราเข้าใจ โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

Affective empathy: การเข้าอกเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะดีใจ หงุดหงิด หรือร้องไห้

Somatic empathy: การเข้าอกเข้าใจด้วยการแสดงออกแก่ผู้อื่น เช่น การปลอบด้วยการโอบกอด

Cognitive empathy: การเข้าอกเข้าใจจากสภาวะจิตใจของผู้อื่น

5 ข้อสำคัญของการสร้าง Empathy Skill

จากประเภทของ Empathy เราจะเห็นได้ว่ามีหลากหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบก็ขึ้นอยู่กับบุคคลตรงหน้าว่ามีภาวะอย่างไรให้เราได้แสดงความเข้าอกเข้าใจอย่างถูกเวลาและถูกจังหวะ แต่การจะเข้าใจพนักงานหรือลูกน้องของตัวเองนั้นทักษะการสร้าง Empathy ต้องเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและความเข้าใจของหัวหน้าก่อน ซึ่งสามารถฝึกได้ดังนี้

  • ต้องรู้จักประวัติ ลักษณะนิสัย และความสนใจของลูกน้อง
  • อย่าหัดเป็นคนที่ด่วนสรุปและตัดสินคนเร็วเกินไป
  • ฟังให้เยอะ…พูดให้น้อย
  • ทบทวนและนึกถึงความต้องการของลูกทีมอยู่บ่อยๆ
  • ทักทาย พูดคุย และหมั่นสังเกตความรู้สึกของทีมอยู่บ่อยๆ

เอาแค่ 5 ข้อนี้ ถ้าหัวหน้าอย่างเราทำได้ เชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีกับทีมอย่างแน่นอน อย่างน้อยทักษะการบริหารคนของเราจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อควรระวังของ Empathy คือการอย่าให้อำนาจและสปอยล์มากเกินไปไม่เช่นนั้นภาระจะตกมาอยู่ที่หัวหน้าเอง

แท้จริงแล้วเราทุกคนมี Empathy DNA

สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าทุกคนมีพื้นฐานความเข้าอกเข้าใจผู้คน แต่ขึ้นอยู่ว่าจะนำทักษะเหล่านี้มาใช้และแสดงออกมากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้ง Empathy Skill ก็ถูกบดบังจากวิถี วัฒนธรรม ความเชื่อขององค์กรที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง จนบางครั้งกลายเป็นดาบสองคมที่คัดคนเก่งออกไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ทุกอย่างยังไม่สายหากเราให้โอกาสตัวเองได้ทบทวนสิ่งที่เคยเกิดขึ้น และความต้องการของผู้คนรอบข้างที่เราไม่เคยใส่ใจ ไม่แน่ปัญหาที่เราเคยคิดว่าใหญ่โต อาจกลายเป็นเพียงแค่เส้นผมบังภูเขา ด้วยการเริ่มต้นเข้าอกเข้าใจตนเองก่อนเป็นลำดับแรก

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *