ทำไมเรามักโทษคนอื่น…ก่อนโทษตัวเองเสมอ

29 May 2020

คุณคือหนึ่งผู้โดยสารที่กำลังเดินทางด้วยรถบัสเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง

หนทางที่คุณจะไป ต้องผ่านหุบเขาหลายลูกก่อนจะเข้าถึงที่หมาย

เมื่อรถบัสขับเข้าสู่พื้นที่หุบเขา คุณดันปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน

จนแล้วจนรอด คุณทนไม่ไหว จึงต้องรีบเดินไปบอกคนขับรถให้จอดเทียบข้างทาง

เพื่อทำกิจธุระให้เสร็จโดยใช้เวลาไม่นาน

คุณรีบกุลีกุจอลงไปอยู่หลังพุ่มไม้ กระทั่งทำกิจธุระจนเสร็จ

ระหว่างที่คุณกำลังเดินกลับไปยังรถเพียงอีกไม่กี่ก้าวเท่านั้น

ก้อนหินขนาดใหญ่ได้ร่วงลงมาใส่รถบัสคันที่คุณนั่งอย่างรุนแรง

รถบัสแตกกระจายไปคนละทิศคนละทาง

เม็ดฝุ่นและเศษผงต่างๆ นาๆ กระจายไปทั่วพื้นที่

ร่างกายของคุณเต็มไปด้วยเศษผงและฝุ่นจากเหตุการณ์นี้

ไม่มีผู้โดยสารคนใดรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงคนขับรถและผู้ช่วยคนขับด้วย

ชั่วพริบตาเดียว คุณคงจะคิดอย่างทันทีว่า ฉันโชคดีอะไรเช่นนี้

โชคดีที่ลงมาเพราะปวดปัสสาวะ

หากคำตอบที่ผมเขียนนั้น ตรงกับใจที่คุณกำลังคิดอยู่ละก็ จงอย่าแปลกใจครับ

เพราะความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นกลไกการทำงานของมนุษย์ที่ต้องปกป้องตัวเองก่อนเสมอ

ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่ง

คุณคือสาเหตุการเสียชีวิตของผู้โดยสารคนอื่นๆ

เพราะการตัดสินใจให้คนขับจอดเทียบข้างทาง

ซึ่งตรงกับจุดที่หินร่วงลงมาทับรถบัสทั้งคันนั้นเอง

แต่คำตอบที่สองกลับไม่ได้ผุดขึ้นมาในใจหรือในความคิดของคุณตั้งแต่แรก

เพราะกลไกเราทำงานด้วยการปกป้องตัวเราเองจากความผิดก่อนเสมอ

สิ่งเหล่านี้คือความเคยชินที่น่ากลัว ซึ่งมักเกิดขึ้นกับการทำงานเช่นกัน

เรามักเห็นลักษณะอาการจากเรื่องก้อนหินร่วงใส่รถบัสทุกครั้งในวงการประชุม

ทุกครั้งที่มีการถามไถ่ถึงงานที่ล่าช้า งานที่ขายไม่ได้ งานที่ควรจะปรับปรุง ฯลฯ

ส่วนใหญ่เมื่อเราถูกโจมตีเรามักมองหาเงื่อนไขจากคนอื่นก่อนเสมอ

และไม่แปลกถ้าเราจะได้ยินสารพัดเหตุผลจากการจับเพื่อนร่วม
งาน ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต มาเป็นตัวประกัน

โดยที่ไม่ได้มองย้อนกลับมาที่ตัวเองเลยว่า

ตนนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้หินก้อนนั้นร่วงลงใส่รถบัส

ทุกครั้งหลังการประชุมเสร็จ ผมกับทีมและที่ปรึกษาอาวุโส

จะนั่งกันช้อนตะกอนความคิดจากการประชุมเสมอ

ที่ปรึกษาอาวุโสสอนให้เราเห็นข้อดีและข้อที่ควรระมัดระวังในการแลกเปลี่ยนในวงประชุม

ซึ่งผู้ที่เข้าในวงประชุมก็เปรียบเสมือนผู้โดยสารที่กำลังนั่งรถคันเดียวกันไปยังจุดหมายเดียวกัน

เช่นกันกับการถกเถียงและแลกเปลี่ยน

เราควรต้องรับรู้อยู่เสมอว่า วาระประชุมวันนี้คืออะไร

การรับรู้วาระในการแลกเปลี่ยนจะช่วยประหยัดเวลาและผลักดันงานไปไกลกว่าเดิม

ดีกว่ามัวแต่ขับรถออกนอกเส้นทางจนเสียเวลา

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผมและทีมได้เรียนรู้ประสบการณ์จากที่ปรึกษาอาวุโสนั่นคือ

– การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่องาน (Subjective)

– การแสดงความคิดเห็นที่ยึดงานเป็นที่ตั้ง (Objective)

ซึ่งที่ปรึกษาอาวุโสเปรียบสองคำนี้เป็นตะกร้าสองใบอันสำคัญที่จะทำให้เราแยกความคิดเห็นจากผู้ร่วมวงประชุมคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ผมนึกแล้วก็คิดถึงระบบแยกขยะตามสวนสาธารณะและห้างสรรพสินค้า

ที่ใช้สีและภาษาสื่อให้ประชาชนแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะมีพิษ ใส่ในถังที่เตรียมไว้

ที่ปรึกษากล่าวว่า

“ปัญหาการถกเถียงที่ไม่รู้จบ เพราะไม่มีใครแยกความคิดกับความรู้สึกออกจากงาน ซึ่งทำให้เราหาทางออกที่ดีที่สุดไม่เจอ หรือไม่ก็เสียเวลาในการคุ้ยหาคำตอบในถังที่เต็มไปด้วยความคิดและความรู้สึก”

ผมเห็นด้วยทุกประการที่ผู้อาวุโสนำประสบการณ์มากลั่นกรองและเปรียบเทียบให้

จนเห็นภาพที่ชัดเจนและวิธีนี้มันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนทำงานทุกคน

คำสอนและคำตอบจากผู้อาวุโสนั้นสอดคล้องกับเหตุการณ์รถบัส

ถ้าเรารู้ตัวว่ากำลังจะร่วมเส้นทางไปกับเพื่อนร่วมงาน เราจะคุยกันเข้าใจด้วยใจที่เปิดกว้าง

เราจะมองปัญหาที่งานเป็นหลักมากกว่าปัญหาทางความคิดส่วนตัว
หรือไม่ก็แสดงได้โดยแยกถังเอาไว้อย่างชัดเจน และร่วมเดินทางต่อ

แม้เหตุการณ์จะเลวร้ายเหมือนหินที่เปรียบเสมือนปัญหาและอารมณ์ร่วงใส่ความคิดระหว่างทางก็ตาม

แต่ถ้าต่างคน ต่างคิดได้ว่า

ต้นเหตุของหินก้อนนั้นมาจากแห่งหนใด มากกว่าการโทษดวงชะตาในการทำงาน

หินก้อนนั้นที่ตกลงมาอาจมีน้ำหนักเป็นเพียงแค่กรวดเล็กๆ ก้อนหนึ่งในที่ประชุมเท่านั้นเอง…

หมายเหตุ: บทความนี้อยู่ในหนังสือ สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *