การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้ ก่อให้เกิดความวุ่นวายมากมายทั้งเรื่องการสร้างผลกำไรต่อองค์กร รวมถึงการบริหารภายใต้สถานการณ์ที่ผันผวนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนการดำเนินงานและความรู้สึกของพนักงานที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก
นั่นทำให้บทบาทของผู้นำองค์กรจำเป็นต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อคอยสกัดปัญหา สร้างโอกาส และเสริมกำลังใจให้แก่ทีมในเวลาเดียวกัน
นี่จึงเป็นคำถามสำคัญ ว่าบุคลิกของผู้นำในวิกฤตแบบนี้ควรมีบุคลิกลักษณะแบบไหนที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้รอดพ้น ปลอดภัย และดีต่อใจไปพร้อมกัน
Ambivert Leadership คือบุคลิกของผู้นำในภาวะวิกฤตที่เริ่มถูกพูดถึงและเป็นที่จับตามมองมากขึ้น
หลายคนอาจจะเคยได้ยินและรู้จักบุคลิกประเภท Extrovert ที่มีพฤติกรรมชอบเข้าร่วมสังคม และ Introvert มักมีพฤติกรรมตรงกันข้าม ส่วน Ambivert นั้นก็เปรียบเสมือนค่ากลางระหว่าง Extrovert กับ Introvert นั่นเอง ซึ่งหมายความว่าคนที่มีบุคลิกประเภทนี้จะมีลักษณะที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ง่ายและเป็นธรรมชาติกว่านั่นเอง
ประเด็นของ Ambivert Leadership นั้นได้รับความสนใจจากนักวิจัยและนักจิตวิทยาเชิงองค์กรมากมายที่เข้ามาศึกษาค้นคว้า เช่น Adam Grant ผู้เป็นทั้งอาจารย์ นักจิตวิทยา และนักเขียนหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่าง Give and Take , Originals และ Think Again
โดย Adam Grant ศึกษาในหัวข้อ Challenge Notion of Extrovert more Successful and Productive in Sale Environment ซึ่งบทสรุปของ Grant พบว่า Extrovert และ Introvert จะมีลักษณะการสื่อสารและการรับฟังที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ส่วน Ambivert นั้นจะมีส่วนผสมที่ลงตัวมากกว่า นั่นคือเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ก่ออีโก้หรือความมั่นใจในตัวเองเกินไป และโฟกัสกับคนที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนศาสตราจารย์ประจำที่ McGill และ Oxford อย่าง Karl Moore ก็ศึกษาบุคลิกของผู้นำแบบ Ambivert ไว้ด้วยเช่นกัน โดยเขาได้ทำการสำรวจผู้คนในระดับ C Executive มากถึง 350 คน และผลปรากฏว่ามีผู้นำแบบ Introvert 40% Extrovert 40% และ Ambivert 20% ซึ่งนับว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
ภาพรวม Karl Moore บอกว่าผู้นำแต่ละประเภทก็มีจุดเด่นที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป แต่ภายหลังที่โลกเราเข้าสู่ยุคโรคระบาดอย่างโควิด-19 ผู้นำก็จำเป็นต้องปรับบุคลิกและวิธีคิดตามโลกไปเหมือนกัน
ดังนั้น การมีบุคลิกสุดโต่งแบบที่เคยเป็น อาจเป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาเพื่อการเรียนรู้และปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น และหนึ่งในทางออกก็คือการมีบุคลิกแบบ Ambivert นั่นเอง
คำถามสำคัญคือ เราจะเปลี่ยนบุคลิกและพฤติกรรมให้ไปอยู่ในโซน Ambivert ได้อย่างไร
คำแนะนำที่เข้าใจง่ายและวัดผลได้ก็คือ การระบุลักษณะพฤติกรรมที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลงไปหาค่ากลางมากขึ้น เช่น ถ้าปกติเราเป็นคนพูดเยอะ ก็ลองบังคับพฤติกรรมให้เป็นคนที่หัดฟังผู้อื่นมากขึ้น หรือถ้าเราเป็นคนฟังเยอะเกินไป ก็ลองหัดหาพื้นที่แสดงความคิดเห็นบ้างก็นับเป็นการลับคมทางความคิดตัวเองได้เหมือนกัน แต่ทั้งหมดที่ทำต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นด้วยว่ามันส่งผลดีมากกว่าผลเสียหรือไม่
ส่วนความถี่และวิธีการวัดผลต่อการเปลี่ยนแปลง ให้เราลองปรับพฤติกรรมแบบนี้ 3-5 วันต่อสัปดาห์ และลองกำหนดด้วยการให้คะแนนว่า สิ่งที่เราได้ปรับนั่น น่าพึงพอใจแค่ไหน
หากเราทดลองทำแต่สุดท้ายยังพบว่าตัวเองนั้นยังไม่มีสติและความรู้สึกต่อการตระหนักรู้ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และยังมีความรู้สึกอึดอัดในการปรับตัวต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด และการแสดงออก นั่นเป็นสัญญาณว่าเราอาจจะยังไม่พร้อมที่จะขยับเข้ามาสู่ Ambivert Leadership บุคลิกของผู้นำที่หลายคนต้องการในสถานการณ์แบบนี้
อ้างอิง: Why ambiverts are better leaders
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน