เช้าวันหนึ่ง ณ ร้านกาแฟในออฟฟิศ ขณะที่ผมกำลังอ่านหนังสือและดื่มกาแฟ มีน้องในออฟฟิศเดินเข้ามาทักทายด้วยสีหน้าที่ไม่สู้ดีนัก เธอสั่งกาแฟทิ้งไว้แล้วลากเก้าอี้มานั่งคุยกับผม ผมจึงตัดสินใจปิดหนังสือ เพราะคาดว่าน้องต้องมีเรื่องหนักอกหนักใจมาแน่ๆ
“มีปัญหาอะไรมาล่ะสิ” ผมทักเธอ
เธอเล่าถึงปัญหามาอย่างยาวเหยียด จนผมต้องรอให้เธอทิ้งช่วงด้วยจังหวะถอนหายใจยาวๆ ซึ่งเป็นจังหวะที่ผมสามารถพูดแทรกเธอได้ เท่าที่จับใจความได้ เธอมีความรู้สึกกลัวความไม่มั่นคงของการทำงาน สาเหตุที่กลัว เพราะเธอเพิ่งตัดสินใจซื้อคอนโดไปไม่นาน เธอจึงมีภาระที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ผนวกกับอายุยังน้อย ก็คาดเดาได้ว่าเงินเดือนก็ยังไม่น่าจะเกินตัวสักเท่าไหร่
ผมจึงบอกให้เธอใจเย็นๆ ไม่ใช่แค่เธอเองที่กลัว เพราะผมเองก็เคยกลัวมาก่อนเช่นกัน
หากมองโลกในแง่ดี ความกลัวลักษณะนี้น่ากลัวน้อยกว่าการกลัวอย่างไม่รู้อะไรเลย หรือการไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นในชีวิตเราบ้าง เปรียบได้ว่ามีประตูอยู่สองบานให้เราเลือก โดยที่เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังประตูบานไหนซ่อนจดหมายไล่ออกไว้รอให้เราเปิดไปพบมัน ดังนั้น ความกลัวลักษณะนี้เราสามารถวางแผนเพื่อเผชิญกับมันได้ อย่างน้อยก็อาจจะเจ็บตัวน้อยกว่า
ผมบอกเธอไปว่า จริงๆ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปเยอะ เพราะเป็นยุคที่เราสามารถออกแบบชีวิตได้ยืดหยุ่นมากขึ้น ประตูแห่งโอกาสมีอยู่หลายบาน ขึ้นอยู่ที่เราว่าจะเดินไปหาประตูเหล่านั้น หรือสร้างประตูของเราขึ้นมาเอง เธอขยับแว่นสายตาเล็กน้อย สายตาเธอพอมีประกายขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนที่เริ่มเห็นแสงสว่างจากความมืดในถ้ำอันมืดมน
ผมถามเธอกลับไปว่า ชอบทำอะไรบ้างในยามว่าง
“ชอบเขียนนิยาย” เธอตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว
ผมถามต่อว่าเขียนทุกวันหรือเปล่า เธอตอบกลับมาว่านานๆ เขียนที จากนั้นเธอก็ยกอุปสรรคมามากมายให้ผมฟัง บ้างก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ในแต่ละวัน และไม่รู้ว่าของการเขียนงานนิยายจะเป็นอย่างไร เธอขยับแว่นอีกครั้ง
สุดท้าย ผมเชียร์ให้เธอเขียนต่อไป และลองให้เธอหาวิธีบังคับตัวเองให้เขียนอย่างสม่ำเสมอ หากสามารถรักษาความสม่ำเสมอได้ ก็ยกระดับไปดูเรื่องคุณภาพของเรื่อง และภาษาที่ใช้ต่อไป
ผมให้เหตุผลไปว่า การมีงานที่ชอบ หรือมีโปรเจกต์พิเศษส่วนตัวจะช่วยพยุงอารมณ์ ความคิด และทิศทางของชีวิตไว้ได้พอสมควร มันจะช่วยไม่ให้ชีวิตเราจมอยู่กับปัญหาของงานประจำมากจนเกินไป และการได้ทำในสิ่งที่เรารัก และหลงใหลจะก่อให้เกิดความสนุกระหว่างที่ทำ ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้เป็นการเยียวยาตัวเองวิธีหนึ่ง และจะดีกว่านี้หากมันสามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้แก่เรา
ยิ่งฟังเธอเล่าพบก็สรุปได้ว่า ปัญหาของเธอไม่ต่างอะไรจากการที่เธออยากนำปลาวาฬหนึ่งตัวลงไปทอดในกระทะหนึ่งใบ แต่คิดจะทอดทั้งตัวก็คงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่จะแก้ไขได้คือการค่อยๆ ชำแหละเนื้อปลาวาฬออกเป็นส่วนๆ นั่นเอง
การพุ่งไปที่ผลลัพธ์ก่อน โดยปราศจากการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา หรือการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นอุปสรรคอย่างแรกที่ควรตั้งสติ และตั้งคำถามกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าว่าควรจะจัดการอย่างไรกับมัน
สตีฟ แคมป์ ผู้ก่อตั้ง Nerdfitness.com ผู้เขียนหนังสือชื่อยาวมากอย่าง ‘Level Up Your Life: How to Unlock Adventure and Happiness by Becoming the Hero of Your Own Story.’ ได้ชี้ให้เห็นถึงกลยุทธ์การทำให้เป้าหมายในชีวิตประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ซึ่งสตีฟอาศัยโครงสร้างของเกมเป็นรูปแบบในการพิชิตเป้าหมาย ซึ่งมีอารมณ์ขันอย่างสนุกสนานมาก
สตีฟ เผยว่า เราต้องเปลี่ยนมุมมองชีวิตที่เคร่งเครียดให้เป็นเรื่องสนุกอย่างการเล่นเกมซะ ซึ่งมุมเหล่านี้จะทำให้คุณรู้สึกสนุกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง แม้มันจะดูเป็นเรื่องงี่เง่า แต่ความงี้เง้าก็มีความสนุก และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมาย ความฝัน และทำให้ชีวิตมีดีขึ้นไปพร้อมกับความสุข
ทุกครั้งที่สตีฟเผชิญกับปัญหา จากประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมา เขาจำแนกวิธีการมองปัญหาเพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายอยู่ 3 ข้อ คือ
1 มีเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้ผู้คนก้าวผ่านปัญหาอันย่ำแย่ไปได้ คือ การมองสถานการณ์เหล่านั้นให้เป็นเกมที่ต้องเอาชีวิตรอด
2 สตีฟ อ้างอิงถึง ชอว์ อาเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสุข เผยว่าหนทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับความเครียดคือการมองปัญหาให้มีความท้าทาย ไม่ใช่มองว่ามันเป็นอุปสรรค
3 เด็กๆ ที่ทำสิ่งต่างๆ ได้ดี เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกออกแบบให้เป็นเกม
เกมนี่แหละครับที่สตีฟนำมาใช้เป็นหลักจิตวิทยาในการจูงใจให้คนที่กำลังท้อแท้ หรือมองการบรรลุเป้าหมายเป็นเรื่องยาก ซึ่งวิธีของสตีฟสามารถช่วยให้คนจำนวนกว่า 300,000 คนประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับตัวเองด้วยการไปออกกำลังกายมาแล้ว
สตีฟ ยกตัวอย่าง หากคุณอยากมีสุขภาพและหุ่นที่ดี ก็ต้องออกกำลังกาย ซึ่งการออกครั้งเดียวคงไม่เห็นผลอย่างแน่นอน เพราะเป้าหมายส่วนใหญ่ต้องใช้เวลา ดังนั้นลองตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายแต่ละครั้งให้เหมือนเก็บเลเวลในเกมไปเรื่อยๆ เช่น มาออกกำลังกายวันนี้เก็บได้ 10 คะแนน ครั้งหน้าตั้งเป้าหมายขอ 20 คะแนน ทำไปเรื่อยๆ จนเป็นกิจวัตรอย่างต่อเนื่องและในที่สุดผลลัพธ์ก็จะออกมา ซึ่งระหว่างทางคนทำก็สนุกไปกับเกมชีวิตที่เกิดขึ้นด้วยการท้าทายตัวเองไปในตัว
แท้จริงแล้วรูปแบบเกมของสตีฟสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การออมเงิน การออกกำลังกาย การปลูกต้นไม้ ฯลฯ สามารถนำมาดัดแปลงได้หมด สุดท้ายเราจะเห็นความก้าวหน้าในสิ่งที่เราทำอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกิจวัตรอันไหนต้องอาศัยการสั่งสมเวลา นอกเหนือจากการพิชิตเป้าหมายได้แล้ว เรายังได้ผลกำไรของการเป็นผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย ซึ่งผมเคยเขียนเอาไว้ในตอน โอเมก้าหมื่นชั่วโมง
หลายครั้งที่ผมอ่านหนังสือไปเจอการเปรียบระหว่างชีวิตกับเกม ซึ่งเอาเข้าจริงไม่คิดว่ามันจะสามารถประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกันได้อย่างสนุกเหมือนที่สตีฟอธิบายไว้ แต่คิดลงไปลึกๆ ชีวิตก็คือเกมอย่างหนึ่งที่ต้องพบเจอกับปัญหา และอุปสรรคมากมาย กว่าจะผ่านแต่ละด่านไปได้
บางครั้งเราต่างก็ล้มแล้วล้มอีก จนถอดใจที่จะกลับมาเล่นกับมันอีกครั้ง แต่หากใจยังรักหรือยังอยากท้าทายความสามารถของตัวเองอยู่ วันหนึ่งเราก็อาจกลับมาเล่น คราวนี้ไม่ได้กลับมาเล่นแบบเดิม แต่กลับมาเล่นด้วยกลยุทธ์และการวางแผนมาอย่างรัดกุม
กลยุทธ์และแผนเหล่านั้น เปรียบได้จากครั้งแรกที่เราพยายามนำปลาวาฬทั้งตัวลงไปทอดในกระทะ จนสุดท้ายเราพบว่าการชำแหละ และแบ่งมันออกเป็นส่วนๆ ง่ายกว่ากันเยอะ ถึงแม้จะใช้เวลาลำเลียงนำไปทอดนานหน่อย แต่เชื่อเถอะครับว่า
ทุกส่วนของปลาวาฬมีความสุกอยู่แน่นอน
ความสุขของคนทอดก็เช่นกัน…
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน