ปรับตัวไม่ทันเปลี่ยนแปลงไม่เป็น บทเรียนความยุ่งของการทำงาน

5 September 2021

เราพอจะเอ่ยได้ว่าเวลาเป็นสมบัติของคนทุกคนที่มีเท่ากัน แต่ความแตกต่างนั้นคือผลลัพธ์ของการใช้มันให้หมดไป

ปัจจัยหนึ่งต่อการใช้เวลาให้หมดไปอย่างมีประสิทธิภาพในการทำงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากแนวทางการบริหารงานของผู้นำด้วยเช่นกัน ยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ผู้นำยิ่งต้องมีกลยุทธ์การสื่อสารที่รวดเร็ว ชัดเจน และสอดคล้องต่อบริบทที่เปลี่ยนไป

นั่นทำให้เราเริ่มเห็นหลายองค์กรมีการปรับผังให้เป็นแนว Flat Organization หรือองค์กรที่เน้นสื่อสารแนวราบ เพื่อลดทอนขั้นตอนต่อการตัดสินใจหลายทอดให้สามารถสื่อสารและตัดสินใจต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

ไม่ว่าผู้นำจะยุ่งมากแค่ไหน แต่เรื่องการบริหารก็ยังคงเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำควรมีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนโอกาส หรือยับยั้งปัญหาที่กำลังลุกลามให้ทุเลาลงได้

แน่นอนว่าทุกสิ่งที่ทำย่อมมีเวลาเป็นต้นทุนต่อการตัดสินใจของผู้นำและสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้ตามอยู่ทุกครั้ง

MARTIN BOROSON กับ CARMEL MOORE ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเวลาให้แก่ผู้นำองค์กรต่างๆ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการบริหารเวลาในการทำงานของผู้นำลงในสื่ออย่าง Fastcompany ได้อย่างน่าสนใจไว้ว่า

หน้าที่ของผู้นำคือการบริหาร และการบริหารย่อมต้องใช้เวลาไปพร้อมกับการสื่อสารในวาระสำคัญ และเป็นธรรมดาที่พวกเขาจะยุ่งเอามากๆ ที่สำคัญความยุ่งนั้นก็ควรเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้นำอยู่แล้ว และผู้นำจะถูกมองว่าเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น ก็ต้องดูที่ผลลัพธ์ของการบริหารความยุ่งอันแสนปกติที่ต้องรับผิดชอบนั่นแหละ

ซึ่งทั้งสองก็ยอมรับว่าผู้นำจะถูกมองอยู่สองมุมจากความยุ่งของพวกเขาเท่านั้น นั่นคือ ยุ่งเพราะงานมันล้นจริงๆ กับ บริหารความยุ่งไม่เป็น

แม้ว่าฟังดูแล้วผลลัพธ์มันก็คล้ายๆ กันนั่นแหละ แต่ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปว่า เรากำลังมีผู้นำที่ยุ่งเพราะตั้งใจทำงานกับยุ่งเพราะบริหารงานไม่เป็นจริงๆ หรือเปล่า

แน่นอนว่าในฐานะผู้ตามคนหนึ่งเราก็เห็นอกเห็นใจต่อความเสียสละของผู้นำที่ต้องใช้ความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจมาบริหารจัดการเพื่อให้องค์กรอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตที่รุนแรงมากขึ้น

แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็คิดว่าทักษะการบริหารที่เชื่องช้าและไม่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ต่อความยุ่งของผู้นำ ที่อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังหมุนเข็มนาฬิกาขององค์กรให้ถอยหลังกลับไปสู่จุดที่ไม่ควรกลับ และนั่นอาจเป็นการย้อนเวลาอันแสนยาวนานซึ่งสวนทางต่อความน่าจะเป็น และกว่าที่องค์กรจะหมุนเข็มนาฬิกากลับมาให้ตรงเวลาอย่างที่ควรจะเป็น เราก็อาจต้องใช้เวลาในอนาคตของใครหลายๆ คน มาทดแทนจากการบริหารความยุ่งไม่เป็นแบบที่ MARTIN BOROSON กับ CARMEL MOORE บอกไว้นั่นแล

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *