ปลุกความคิดสร้างสรรค์อย่างไรในการทำงาน

4 February 2020

หลายปีการทำงานค่อยๆ คลายคำตอบให้แก่ผมว่า ‘กรอบ’ และ ‘ข้อจำกัด’ คือทรัพยากรที่ทำให้จินตนาการกับความคิดสร้างสรรค์มีความสนุก และมีความชัดเจนต่อผลงานที่ทำออกมา เขียนมาแบบนี้หลายคนอาจร้องยี้ เพราะกรอบและข้อจำกัดคือสิ่งที่เราอยากวิ่งหนี    และไม่อยากเผชิญหน้าต่อการทำงานด้วย

ไม่แปลกที่ความคิดเช่นนั้นจะปรากฎในความคิดลึกๆ ของเรา เพราะงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่มักจะมีคำว่า ‘คิดนอกกรอบ’ ประกบคู่อยู่ด้วยเสมอ เพียงแต่นั่นเป็นวิธีคิดเพื่อกลับมาตอบโจทย์ที่อยู่ในกรอบอยู่ดี หากจะพูดง่ายๆ ก็คือ เราหนีกรอบและข้อจำกัดเหล่านั้นไม่พ้น แต่เราสามารถอยู่ร่วมกับมัน ได้ด้วยจินตนาการที่จะสร้างสรรค์ให้แตกต่างออกไปจากเดิม

ไมเคิล จอร์แดน เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ช่วงเวลาในสนามที่เขาต้องชู้ตบาสให้ลงห่วง สิ่งแรกที่เขาทำคือจินตนาการว่าลูกบาสที่เขาปล่อยไปจากมือนั้นจะลอยแวกอากาศแล้วสามารถทำคะแนนได้อยู่เสมอ เช่นเดียวกับเฟอร์นันโด ตอร์เรส กองหน้าทีมชาติสเปน ที่เผยว่าก่อนลงสนาม เขาจะจินตนาการถึงการพังประตูให้แก่ทีมเช่นกัน จินตนาการจึงเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่คนในแวดวงต่างๆ นำไปใช้ เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งกรอบของจอร์แดน และตอเรส นั่นคือ ห่วงบาส และประตูนั่นเอง

สมัยเรียน ผมมักจะหนีเรียนวิชาสามัญของตัวเอง เพื่อไปเรียนวิชาโฆษณาร่วมกับเพื่อนสาขาอื่น ไม่ว่าจะเป็น การเขียน Radio Spot, TVC, Print Ad เป็นต้น

ระหว่างเรียนมีการแจกโจทย์ให้นักศึกษาได้ลับคมสมองผลลัพธ์ที่ผมเรียนรู้ คือการไม่มีกรอบทำให้ผมหลงทาง และไร้ซึ่งกระบวนการคิด ทว่าระหว่างทางได้ใช้จินตนาการคิดงานกันอย่างสนุกสนาน ทุกอย่างเป็นไปได้หมด เพราะนี่คือโลกจำลองที่เราสามารถคิดอะไรก็ได้ แต่พอในชีวิตจริง มันไม่ได้หมือนในห้องเรียน

แจ็ค ฟอสเตอร์ ครีเอทีฟผู้คร่ำวอดในวงการสร้างสรรค์ ได้นำประสบการณ์จริงที่เขาเคยไปสอนวิชาโฆษณาให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่แจ็คลองแจกโจทย์ให้นักศึกษาคิดงาน แจ็คพบว่าอุปสรรคสำคัญต่อการคิดงาน คือการต่อยอดเพื่อสร้างไอเดียทางเลือกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

แจ็คยกตัวอย่างโจทย์ที่ได้มอบให้แก่นักศึกษาว่า “คุณคิดว่าครึ่งหนึ่งของ 13 คือเท่าไหร่” นี่เป็นคำตอบที่แสนง่ายดาย แน่นอนทุกคนตอบว่า “หกครึ่ง”

แจ๊คยังถามย้ำคำถามเดิมอีกว่า “คุณคิดว่าครึ่งหนึ่งของ 13 คือเท่าไหร่” นักศึกษาบางคนเงียบ   แต่กลับมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งตอบกลับมาว่า “หกจุดห้า” จากนั้นแจ็คก็ถามคำถามเดิมไปให้นักศึกษาอีก คำตอบที่แจ็คได้กลับมามีดังนี้ครับ

 “สี่” นักเรียนคนหนึ่งตอบ เพราะคำว่าสิบสาม (Thirteen) มีตัวหนังสืออยู่ถึงแปดตัว ซึ่งครึ่งหนึ่งของแปดก็คือสี่

“11 กับ 01” นักศึกษาตอบ และบอกว่าในระบบเลขฐานสอง สิบสามเขียนได้ว่า 1101 เพราะฉะนั้น ครึ่งหนึ่งก็คือ 11 และ 01

นักศึกษาคนหนึ่งเดินมาที่กระดาน แล้วเขียนคำว่า ‘Thirteen’ จากนั้นเขาลบตัวหนังสือครึ่งล่างออก และชี้ไปยังส่วนที่เหลือแล้วบอกว่า นี่คือครึ่งหนึ่งของ 13

ยังมีคำตอบอีกมากมายที่เต็มไปด้วยจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ที่พุ่งเข้ามาทลายโจทย์ที่ถูกควบคุมด้วยกรอบและข้อจำกัดที่สามารถผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่จากสิ่งที่เหลืออยู่ ซึ่งทำให้ผมนึกถึงเพจ ‘Lowcost Cosplay’ อันโด่งดังจากฝีมือ‘อนุชา แสงชาติ’ หรือที่หลายคนเรียกเขาสั้นๆ ว่า ‘ชา’

สื่อต่างประเทศยกสถานะให้เขาเป็น ‘ศิลปิน’ ที่สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว แต่กว่าจะมาเป็นชา ‘Lowcost Cosplay’ ที่เรารู้จักในฐานะผู้สร้างสรรค์งานที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่สามารถทำให้โดนใจคนในโลกออนไลน์หลักแสนได้นั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรดา

ชาเป็นคนเชียงใหม่ ในวัยเด็กเขาใช้ชีวิตอยู่กับความเหงา เพื่อนน้อย นั่นคือเหตุผลของการใช้ชีวิตอยู่กับจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นมา

“สมัยเป็นเด็ก ผมมีชีวิตแบบเหงาๆ อยากเล่นสนุกก็ต้องเล่นคนเดียว จินตนาการเอา เหมือนเราคุยอยู่กับเงา ดีดลูกแก้วคนเดียว คุยคนเดียว ท้าทายตัวเอง ดีดเสร็จก็สลับไปเป็นฝ่ายตรงข้าม จินตนาการว่าสู้อยู่กับเพื่อน”

ชาสารภาพว่าไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบเรียน ส่งผลให้เขาจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น และเหมือนสถานการณ์นำพาชีวิตเขามาเรื่อยๆ กระทั่งชาตัดสินใจเดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ

สุดท้าย งานที่ชาทำคือการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา สถานที่เต็มไปด้วยความเงียบ ความเหงา และอาจเป็นสถานีปลายทางแห่งชีวิตของผู้สูงอายุหลายๆ คน บรรยากาศลักษณะนี้คงไม่น่าเอื้ออำนวยจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์สนุกๆ แน่นอน แต่ไม่ใช่กับชา

ชาเล่าว่า วันหนึ่งเขาเห็นกองผ้าสีแดงจำนวนมากของผู้สูงอายุ เขาพินิจกองผ้าเหล่านั้นอยู่หลายรอบ จนกระทั่งความคิดไปเชื่อมโยงต่อการแต่งตัวของลีโอไนดัส หนึ่งในนักรบของกองทัพสปาตันในภาพยนตร์เรื่อง 300 ชาไม่รอช้าที่จะนำผ้าผืนแดงมาสวมแล้วเบ่งกล้ามโพสท์ท่า พร้อมกับพิมพ์ข้อความประกอบว่า “ข้าคือลีโอไนดัส” จากนั้นรูปภาพ และข้อความของเขาก็ปรากฎบนโลกออนไลน์ จนเกิดการแชร์อย่างรวดเร็ว มีคอมเม้นท์ในเชิงบวกมากมายที่ชาได้รับ ทำให้เขาเริ่มเห็นโอกาส และความสามารถของตัวเองที่จะก้าวต่อไปได้

ทุกวันนี้ชายังคงใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์เสนอผลงานการ Cosplay ด้วยต้นทุนง่ายๆ จากสิ่งของรอบๆ ตัว ซึ่งกลายเป็นจุดขายของเขาที่สามารถสร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

กรอบและข้อจำกัดจึงกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายความสนุก หากเราสามารถนำจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์มาใช้ร่วมกับมันได้ ไม่ว่าจะเป็นห่วงบาส ประตูฟุตบอล คำถามครึ่งหนึ่งของเลข 13 หรือการใช้สิ่งของรอบตัวมาสร้างสรรค์ให้คล้ายคลึงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ซึ่งเต็มไปด้วยกรอบข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

ขึ้นอยู่กับว่า เรามองกรอบและข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นปัญหาหรือโอกาส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *