ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาร่างกายและมันสมองถูกกักอยู่ในห้องประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลากว่า 4 วัน เพื่อพัฒนาโปรเจกต์ชิ้นเก่าและชิ้นใหม่ให้ดีขึ้น
ระหว่างการแชร์ความคิดอยู่นั้น ผมพบว่ามีปัจจัยอยู่หนึ่งอย่างที่เป็นกรอบสำคัญต่อการพัฒนางาน คือ ‘ความหลุดกรอบ’
‘ความหลุดกรอบ’ ไม่ใช่การคิดฟุ้นซ่านและทิ้งโจทย์หลักที่ได้รับมา แต่เป็นการคิดหนีข้อจำกัดที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นให้มากที่สุดแล้วจึงนำมาขัดเกลาให้คมและตอบโจทย์ที่ได้รับ
กระบวนการลักษณะนี้จะเสริมสร้างบรรยากาศให้สนุกขึ้นและมอบทางเลือกใหม่ๆ ให้ตัวงานมากกว่าเดิม
บางครั้งไอเดียที่ไม่ได้ถูกเลือกใช้ในวันนี้อาจเป็นไอเดียหลักของโปรเจกต์ในวันข้างหน้าก็ได้ ที่สำคัญการคิดหลุดกรอบในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องตั้งโปรเจกต์ใหม่เสมอไป แต่อาจนำมาใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราอยู่ก็ได้
ขณะประชุมอยู่นั้นผมก็นึกถึงเหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยสแตน ฟอร์ด นักเรียนจำนวนหนึ่งถูกแบ่งกลุ่มออกเป็นหลายทีม
โดยแต่ละทีมจะได้รับซองขาวหนึ่งซองและเมื่อพวกเขาเปิดซองนั้นก็พบว่ามีเงินจำนวน 5 ดอลลาร์อยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเงินตั้งต้นต่อการทำภารกิจพ่วงกับโจทย์คือทำอย่างไรก็ได้ให้เงินงอกเงยมากที่สุดโดยมีระยะเวลากำหนด 5 วัน
สุดท้ายแต่ละกลุ่มต้องมานำเสนอวิธีการและผลลัพธ์ที่หน้าชั้นกลุ่มละ 3 นาที วัตถุประสงค์ของภารกิจนี้คือการหัดให้นักเรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาต่อข้อจำกัดที่มีอยู่นั่นเอง
หลังจากได้รับโจทย์ มีนักเรียนบางกลุ่มตะโกนมาว่า “ไปลาสเว กัสหรือไม่ก็ซื้อลอตเตอรี่สิ” อย่าว่าแต่ที่สแตนฟอร์ดเลย ผมว่าอาจมีผู้อ่านบางคนก็คิดแบบนี้เช่นกัน รวมถึงตัวผมเองด้วย 555
เมื่อถึงวันนำเสนอ มีไอเดียมากมายหลั่งไหลออกมาจากความคิดของเด็กๆ เช่น เปิดบริการล้างรถ ตั้งซุ้มขายน้ำมะนาว โดยนำเงิน 5 ดอลลาร์ ไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อสร้างผลกำไรจากต้นทุน
กระทั่งมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งออกมานำเสนอผลลัพธ์ที่สร้างรายได้กว่า 600 ดอลลาร์ นั่นเท่ากับว่าพวกเขาสร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงกว่า 400 เปอร์เซ็นต์จากต้นทุน 5 ดอลลาร์
สงสัยใช่ไหมครับว่า พวกเขาทำได้อย่างไร ผมเองก็อึ้งกับวิธีคิดของนักเรียนกลุ่มนี้เช่นกัน ลองไปศึกษาความคิดของพวกเขากันครับ
ขั้นแรกพวกเขาตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ต่อเงินทุนและระยะเวลาที่กำหนดเป็นอันดับแรก จากนั้นก็พยายามสำรวจความเป็นไปได้ทุกทาง จนพวกเขาคิดว่าควรเลิกที่จะจดจ่ออยู่กับเงิน 5 ดอลลาร์นี้ซะ และควรตีปัญหาที่อยู่ตรงหน้าให้กว้างขึ้น
นั่นคือ การตั้งคำถามใหม่ว่า ‘เราจะหาเงินได้อย่างไรหากไม่มีเงินทุน’
เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไปแต่เป้าหมายยังเหมือนเดิม พวกเขาใช้ข้อสังเกตร่วมกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อไขปัญหารอบๆ ตัว จนพบทางสว่างอย่างน่าทึ่ง
พวกเขาสังเกตว่าปัญหาทั่วไปที่พบได้ในเมืองนี้คือการเข้าแถวรอหน้าร้านอาหารดังในคืนวันเสาร์ ช่องโหว่นี้จึงเป็นโอกาสของพวกเขา
พวกเขาลิสต์รายชื่อร้านอาหารชื่อดังในเมืองและจับคู่กันตระเวนจองโต๊ะตามร้านอาหารที่วางแผนไว้ จากนั้นจึงขายคิวจองให้แก่ลูกค้าที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อลดการเสียเวลาในการต่อแถว
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสแตนฟอร์ดถูกผมหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างระหว่างพักทานข้าวกลางวันกับเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกันพัฒนาโปรเจกต์
จากนั้นเราเริ่มมีมุมมองที่แปลกใหม่มากขึ้น สนุกกันมากขึ้น มีเรื่องเล่าและความคิดที่เหนือความคาดหมายจากช่วงเช้ามากมายเป็นทางเลือกให้พวกเราได้เก็บไว้ใช้ในงานต่อๆ ไป
สุดท้าย เราอาจไม่ได้ค้นพบการตระเวนจองโต๊ะร้านอาหารชื่อดังและขายคิวจองเพื่อสร้างผลกำไรที่งดงามเหมือนเด็กนักเรียนเหล่านั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การหัดตั้งสมมติฐานให้มาก ใช้สายตาให้กว้าง สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ที่เปรียบเสมือนประตูล่องหนท่ามกลางกำแพงอันหนาแน่น
ที่มีเพียงคุณเท่านั้นที่จะมองเห็นโอกาสต่างจากคนอื่นๆ
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก’
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com
=========================
TWITTER : https://twitter.com/Office04TH
WEBSITE : https://office04.org/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน