ริเน็น หนังสือปรัชญาธุรกิจญี่ปุ่นที่คนทำงานควรอ่าน

12 April 2020

ถ้าเอ่ยถึงคำว่า ‘ญี่ปุ่น’ มีไม่กี่สิ่งที่ผมจะนึกถึงอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคืองานเขียนของ อาจารย์ กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม เกตุวดี Marumura นักเล่าเรื่องที่นิยมเล่าถึงแนวคิดอันหลากหลายที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นผ่านบริบททางวัฒนธรรม ความเชื่อ แนวคิด และปรัชญา ผ่านตัวบุคคลที่ใช้สิ่งเหล่านี้มาขับเคลื่อนผ่านสินค้า งานบริการ หรือแม้กระทั่งองค์กรก็ตามที แก่นการเล่าเรื่องเหล่านี้ทำให้เธอฝากผลงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

Japan Gossip เมาท์ญี่ปุ่นให้คุณยิ้ม

สุโก้ย! Marketing-ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น

japan love gossip-กระซิบรักฉบับญี่ปุ่น

Slow Success ยิ่งใหญ่ได้ด้วยก้าวเล็กๆ

แน่นอนว่าเปิดมาแบบนี้ผมกำลังจะมาคุยกับผลงานเล่มล่าสุดที่ผมอ่านของ อ.กฤตินี นั่นคือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น จาก สนพ. We Learn

ขอสารภาพตามตรงว่าเคยเห็นหนังสือเล่มนี้ผ่านตามาหลายรอบแล้ว แต่ก็ยังมาได้ตัดสินใจซื้อมาอ่านสักที จนกระทั่งพี่ที่ทำงานด้วยกันคนหนึ่งแนะนำผมว่าเป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรอ่าน ทันทีที่ได้โอกาสก็เลยซื้อกลับมาอ่านโดยทันที

ภายหลังจากอ่านบทนำจบและเห็นคอนเซปต์กับโครงหนังสือ ผมก็สัมผัสได้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมาะแค่คนที่อยากจะทำธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังเหมาะกับคนที่ยังคงสับสนในการกำลังสร้างธุรกิจ หรือคนทำงานประจำที่ฝันอยากมีธุรกิจของตัวเองสักครั้งเช่นกัน

ทั้งหมดอยู่ในคำว่า ‘ริเน็น’ คำเดียว

ริเน็น คือคำผสม ระหว่างคำว่า ‘ริ’ กับ ‘เน็น’

‘ริ’ แปลว่า เหตุผล

‘เน็น’ แปลว่า สติ

พอรวมกันแล้ว ‘ริเน็น’ จึงแปลว่า เหตุผลที่เกิดจากสติ หรือที่เรารู้จักในคำว่า ‘ปัญญา’ นั่นเอง

การนำปรัชญา ‘ริเน็น’ มาเล่าในหนังสือเล่มนี้ของผู้เขียนถือเป็นหัวใจหลักของเล่มที่ผมชื่นชอบมากๆ และยังสามารถทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนจากการเปรียบเทียบประกอบกับตัวอย่างขององค์กรที่นำปรัชญานี้ไปใช้ ผสมกับข้อมูลเชิงลึกในแต่ละกรณีศึกษาที่ผู้เขียนถนัดอยู่แล้ว บวกกับแบคกราวที่ผู้เขียนเคยเรียนและทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วยยิ่งทำให้การอ่านไปในแต่ละบทยิ่งสัมผัสความชัดเจนเข้าไปใหญ่

ผู้เขียนเปรียบการบริหารขององค์กรไว้ 2 แบบ คือ แบบต้นไผ่ กับ ต้นสน

ต้นไผ่ ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการเติบโตได้เร็วและสร้างผลผลิตได้เยอะ การสร้างผลกำไรจึงเป็นเป้าหมายอันดับแรกของผู้บริหารที่เน้นการเติบโตแบบต้นไผ่

ต้นสน เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้โตหวือหวาแต่โตแบบยั่งยืน แถมไม่ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนผ่านไปร้อน หนาว ผลิ ต้นสนที่แข็งแรงก็ยังยืนยันแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปให้ร่มเงาพร้อมกับใบสีเขียวที่ไม่เปลี่ยนไปตามเวลาที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าการสร้างกำไรก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโต แต่เป้าหมายแรกที่ผู้บริหารแนวต้นสนใส่ใจคือ การทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และสังคม เป็นต้น

ภาพรวมของหนังสือยังใช้โครงสร้างของต้นไม้มาเป็นแกนหลักในการร้อยเรียงแต่ละบทให้ค่อยๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงจากปรัชญาริเน็นไปด้วยอย่างเรียบง่ายแต่ส่งผลทุกครั้งที่ได้พลิกอ่านในแต่ละบทครับ

การอ่านริเน็นนั้นเหมือนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของต้นสนต้นเล็กๆ ตั้งแต่บทนำไปจนบทสุดท้ายที่มันค่อยๆ เติบใหญ่ในความคิดและความรู้สึกของเนื้อหาและธุรกิจที่มีอยู่จริงในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปี นี่เป็นสิ่งตอกย้ำว่าหลักคิดการทำธุรกิจที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่ผลกำไรอย่างเดียว

แน่นอนว่าถ้าเราอยากลุกขึ้นมาทำธุรกิจสักครั้งในชีวิต โจทย์ใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้ให้ไว้คงไม่ใช่ว่าธุรกิจของเราจะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเมื่อไหร่ แต่กลับเป็นคำถามที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง และต้องใช้เวลาในการคิดหาคำตอบอย่างรอบด้านว่า ธุรกิจของเราสร้างความสุขให้ผู้เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งถ้าวันหนึ่งธุรกิจของเราหายไปจากโลกนี้แล้ว จะส่งผลต่อโลกในวันพรุ่งนี้หรือไม่

เป็นหนังสืออีกเล่มที่ใครสนใจเรื่องแนวคิดธุรกิจฉบับญี่ปุ่นผมขอแนะนำครับ แต่ก็อยากเตือนว่าแนวคิดของญี่ปุ่นหรือกรณีศึกษาบางเรื่องมันก็อาจจะเหมาะกับโครงสร้างและบริบทของคนญี่ปุ่นจริงๆ บางเรื่องผมคิดทบทวนแล้วว่าไม่สามารถนำมาใช้ในบ้านเราได้หมด แต่อย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่าถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสทำธุรกิจด้วยมือตัวเองนั้น

เราจะเลือกปลูกและดูแลพันธุ์ไม้แบบไหนระหว่าง ต้นไผ่ กับ ต้นสน

ไม่มีผิดหรือถูกครับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมของเราล้วนๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *