หลังจากมีการประกาศออกมาว่า โควิดเป็นโรคประจำถิ่น บวกกับการเริ่มผ่อนปรนมาตรการสวมหน้ากากอนามัยในบางพื้นที่ รวมถึงความชะล่าใจของคนทำงานหลาย ๆ คน เล่นเอาซีซั่นนี้หลายคนก็ไม่รอดที่จะติดโควิดและเข้ากระบวนการรักษาตัวไปตามระเบียบ
ซึ่งผลกระทบจากที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ พี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่เคยติดโควิดครั้งแรก และครั้งที่สองก็คือ ความเหน็ดเหนื่อยที่ง่ายกว่าเดิม และมันอาจส่งผลต่อร่างกายของเราในระยะยาวเหมือนกัน ซึ่งบางคนก็เปรย ๆ ว่าเหมือนมันส่งผลกระทบต่อพลังในการทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยนะ
แน่นอนว่าเมื่อต้นทุนทางด้านสุขภาพของเราไม่เหมือนเดิม โอกาสที่จะป่วยก็บ่อยมากขึ้น พอป่วยบ่อยประสิทธิภาพการทำงานมีโอกาสลดลง ส่วนที่เพิ่มมากขึ้นก็คือสิทธิ์ในการใช้ลาป่วยที่มีอย่างจำกัดในแต่ละปี ซึ่งบางบริษัทก็ไม่มีนโยบายนำไปทบใช้ในปีถัดไปด้วย เรื่องสุขภาพจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญ ที่หากเกิดผลกระทบในเชิงลบก็ทำให้ชีวิตการทำงานล้มเป็นโดมิโนเอฟเฟกได้
จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า…ถ้าลาป่วยบ่อย ๆ เราจะมีสิทธิ์โดนไล่ออกได้ไหม ?
คำตอบคือ ได้นะครับ !
พอมาถึงขอบเขตเรื่องแบบนี้ ต้องเข้ามาดูการตีความในแง่ของกฎหมายด้วย โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้มีการวินิจฉัย เหตุของการลาป่วยบ่อยและถูกเลิกจ้างได้ว่า
“การลาป่วยจำนวนมากหลายวัน แสดงว่าลูกจ้างมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการลาป่วยบางครั้งลูกจ้างมิได้ลาป่วยจริงแต่เป็นการลาป่วยเท็จ และจงใจละทิ้งหน้าที่ การเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”
อ่านมาแบบนี้ ลูกจ้างแบบเราก็มองว่าแล้วนายจ้างต้องรับผิดชอบอะไรด้วยไหม แน่นอนครับทางกฎหมาย หลังจากเลิกจ้างแล้ว ทางนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ทางลูกจ้างด้วยนะ (เพราะการเลิกจ้างแบบนี้ไม่ได้เป็นเหตุตามมาตรา 119 พรบ. คุ้มครองแรงงาน)
เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย ถ้าใครลาป่วย การขอใบรับรองแพทย์ก็เป็นหลักฐานช่วยยืนยันได้ว่า อาการป่วยของเรานั้นเกิดขึ้นจริง และทำให้ทางบริษัทมีข้อมูลและหลักฐานในการรับทราบสุขภาพของเราด้วย ซึ่งก่อนถึงขั้นจะไล่ออกหรือเลิกจ้างจริง กรณีที่เราป่วยและใช้สิทธิ์ลาบ่อย ถ้าเราเป็นคนทำงานที่เก่ง ดี และรับผิดชอบงาน เชื่อว่าส่วนมากบริษัทจะหาทางหาตำแหน่งหรือในที่ที่เหมาะสมให้กับเราครับ เพราะงานบางตำแหน่ง การไปหาคนใหม่เลยก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทั้งต้นทุนและผลลัพธ์ที่อาจคาดความแน่นอนจากพนักงานคนเก่าได้
แต่!! ถ้าเราดันทะลึ่งลาป่วย แล้วแถมสร้างใบรับรองแพทย์ปลอมขึ้นมา! เช่น ปลอมลายมือ หรือแอบเพิ่มจำนวนวันในการขอลาป่วยเพิ่มบนควาเห็นของแพทย์ ถือเป็นความผิดระดับกฎหมายอาญา ตามมาตรา 264 , 265 (กรณีใบรับรองแพทย์ออกโดยโรงพยาบาลของรัฐ)
รวมถึงมาตรา 268 ซึ่งนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกล่วงหน้า เรียกได้ว่า การปลอมแปลงเอกสารนั้นเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เราคิด ถึงแม้ว่าจะเกิดจากการลาป่วยของเรา แต่ถ้ามีเจตนาไม่ดี ก็ไม่มีผลดีที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราแน่นอน
นอกจากจะตกงาน ไม่มีรายได้แล้ว จะป่วยหนักกว่าเดิมจากความเครียดที่เพิ่มเติมอีกด้วย
ยังไงก็รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ เพราะมันเป็นต้นทุนสำคัญที่เราชอบมองข้ามกันเหลือเกิน
*** หากอ่านแล้วชอบเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงานแบบนี้ สามารถสั่งซื้อหนังสือ คลินิกกฎหมายแรงงาน ไขปัญหา HR ยุคใหม่ รวมประเด็นถามตอบที่พบบ่อยสุด พร้อมคำอธิบายกฎหมายและฎีกาอ้างอิง
สอบถามเพิ่มเติมและสั่งซื้อได้ที่ทาง เพจ https://www.facebook.com/labourlawclinique


Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน