บ่อยครั้งที่เวลาเดินเข้าสู่ครึ่งปีหลังของการทำงาน ผมกับพี่ๆ มักจะตั้งคำถามว่า ปีนี้จะไปเที่ยวไหน ไปอย่างไร ใช้เงินเท่าไหร่ และแผนการทุกอย่างถูกเขียนมาอย่างดิบดี ทว่าบ่อยครั้งแผนการเหล่านั้นก็พับเก็บอยู่ใต้ลิ้นชักที่ทำงานเสมอมา
หลายปีที่ผมและพี่ร่วมงานใช้สิทธิ์ลาป่วย ลากิจ มากกว่าลาพักร้อน อาจเพราะเรายังหนุ่มยังแน่นยังมีพลังเหลือเฟือต่อการทำงานโดยไม่ได้หวงสิทธิการใช้ลาพักร้อนแม้แต่น้อย
จนวันหนึ่งหลังประชุมเสร็จกับที่ปรึกษา หัวหน้าพวกเราเอยปากวางแผนลาพักร้อนกับครอบครัวในช่วงปลายปี หัวหน้าเอยมาว่าไม่ได้เห็นทะเลมาหลายปีแล้ว คำเอยสั้นๆ ของหัวหน้าทำเอาผมสะดุ้งเล็กน้อย นี่เราทุ่มเทร่างกายและจิตวิญญาณให้แก่องค์กรมากเกินไปหรือเปล่า
ในขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาก็กำลังวางแผนไปเที่ยวญี่ปุ่นปลายปี หลังจากทำงานอย่างหนักหน่วงมาหลายปี
ที่ปรึกษาสอนพวกเราว่าเมื่อองค์กรมอบสิทธิให้พนักงานแล้วจงใช้สิทธิ์เสียบ้าง อย่ารักองค์กรมากเกินไป ทุกอย่างมีความสมดุล
ผมมานั่งคิดแล้วสิทธิในการลาพักร้อนก็คือ ช่วงปิดเทอมเล็กๆ ของพนักงานอย่างหนึ่ง เมื่อนึกถึงคำว่าปิดเทอมความทรงจำสมัยเรียนก็วนกลับมาอีกครั้ง ผมเห็นตัวเองเอาแต่เล่นกีฬา เล่นเกม เรียนพิเศษ เสียส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความคิดที่จะค้นหาความชอบ ความถนัดใดๆ ซึ่งก็โทษอะไรไม่ได้เพราะผมเชื่อว่าหลายคนเติบโตมาในระบบการเรียนเพื่อให้สอบเข้ามหาลัยดีๆ ได้มากกว่าเรียนเพื่อค้นหาตนเอง ซึ่งแตกต่างจากการเรียนของตะวันตกที่มีวัฒนธรรม ‘Gap Year’
หนูดี (วนิษา เรซ) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ Gap Year ได้อย่างน่าสนใจ เธอธิบายว่า
เด็กนักเรียนตะวันตกหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย พวกเขาจะใช้เวลาหนึ่งปีเต็มก่อนเข้าสมัครเรียนมหาวิทยาลัย เดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ หรือขอสมัครฝึกงานตามสายอาชีพที่พวกเขาสนใจ บางคนก็ไปเป็นอาสาสมัครก็มี
เพราะพวกเขาอยากรู้จักตัวเองและโลกที่กว้างใหญ่ให้มากขึ้น อย่างน้อย พวกเขาก็จะได้รู้ว่าอาชีพที่ใฝ่ฝันไม่ได้สวยงาม และน่าทำอย่างที่คิด
การออกไปรับประสบการณ์ระหว่างหนึ่งปีเต็มนี้ ก็จะทำให้พวกเขามีมุมมองต่อสายอาชีพอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
ผลลัพธ์ของการค้นพบตัวตนหรืออาชีพที่น่าสนใจนั้น ทำให้พวกเขามีเป้าหมายต่อการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีคุณค่านั่นเอง
หลังอ่านเรื่องของ Gap Year จบลง หลายคนคงมีอาการเสียดายที่ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้ว แต่ผมมองว่าเราสามารถนำแนวคิด Gap Year มาใช้ได้อีกครั้ง
ใช่ครับ สิทธิการลาพักร้อนของพนักงานธรรมดาอย่างเรานี่แหละ แม้ระยะเวลาอาจจะไม่ได้นานเท่าของนักเรียน แต่การลาพักสัก 5-7วัน บางองค์กรก็ได้ถึง 10 วัน ซึ่งผมว่าก็เพียงพอแล้วนะครับที่เราจะออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวเองอีกครั้ง
เพราะผมเชื่อว่าคนทำงานหลายคนยังคงสับสบและก็กำลังค้นหาอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองอยู่หรือกำลังหาไอเดียในการทำธุรกิจเสริม หรือบางคนก็ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ประกอบการก็ดีอยู่เช่นกัน
การออกเดินทางเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการหาแรงบันดาลใจในอินเตอร์เน็ต เพราะเราไม่ได้เห็นเพียงอย่างเดียว แต่เราจะสัมผัส รู้สึก และรับรู้รายละเอียดเล็กๆ น้อยจากประสบการณ์เหล่านั้นด้วย
อ่านจบแล้วหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่น ปากกาหนึ่งด้าม พร้อมกับปฏิทิน และลองดูว่าเราจะไปพักร้อนช่วงไหนดี ไปไหนดี ไปกับใคร ไปอย่างไร ใช้เงินเท่าไหร่ ประสบการณ์ดีๆ รอเราอยู่ครับ
เพราะบางครั้ง การจ่ายเงินเพื่อไปเที่ยวพักร้อนเพียงทริปเดียว อาจเปลี่ยนชีวิตใครบางคนไปตลอดกาลเลยก็ได้
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก’
===========================
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com
=========================
TWITTER : https://twitter.com/Office04TH
WEBSITE : https://office04.org/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน