คุณจำความรู้สึกแรกที่เริ่มต้นทำงานรับเงินเดือนได้ไหม…
ถ้าจำได้ลองทบทวนดูว่ามีความรู้สึกใดบ้างที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเต็มไปด้วยความตื่นเต้น กังวลใจ และการคาดเดาไม่ได้ว่าต้องเผชิญกับอะไร ถึงแม้ว่าในช่วงเป็นนักศึกษาจะเคยผ่านการฝึกงานเป็นระยะเวลาหลายเดือนมาบ้าง
ทว่าเอาเข้าจริงความเข้มข้นก็คงไม่เท่าการใช้แรงกาย และแรงใจเพื่อแลกกับเงินเดือนที่บริษัทจ้างเรามาหรอก จากนั้นชีวิตของเราก็เข้าสู่วงจรการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ จะเกิดช่องว่างการหยุดพักก็ต่อเมื่อตัดสินใจลาพักร้อน หรือไม่ก็ลาออกเพื่อรอเริ่มงานใหม่ ซึ่งยังถือเป็นช่วงที่ปะติดปะต่อได้ ไม่ได้หลงลืมวิธีการทำงานในสายงานที่ตัวเองทำอยู่มากนัก
สำหรับคนที่ต้องลายาวไปหลายเดือน เพื่อไปจัดการภารกิจส่วนตัวอย่าง ลาบวช ลาคลอด ซึ่งใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนกว่าจะกลับมาทำงานก็คงต้องเคาะสนิม เพื่อเรียกจังหวะการทำงานที่คุ้นเคยกลับมา แต่คนที่เคยลาออกไปทำงาน ตามความต้องการของตัวเองโดยใช้ระยะเวลาหลายปี แล้วอยากกลับมาทำงานอีกครั้ง
คุณคงคิดว่า มันสายไปแล้วล่ะ ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งหางานยาก ถึงแม้จะบอกว่ามีโอกาสก็ตามที แนวโน้มของสังคมผู้สูงวัยน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของโครงสร้างการทำงาน และการเปิดโอกาสให้แก่บุคคลที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น
แครอล ฟิชแมน โคเฮน อดีตนักการเงินที่ลาออกจากการทำงานร่วม 11 ปี หลังจากเธอตัดสินใจกลับมาสมัครงานอีกครั้งพร้อมกับประสบการณ์ และความรู้สึกมากมายที่ต้องต่อสู้กับตัวเธอเอง รวมถึงโอกาสจากนายจ้างที่ไม่ค่อยเปิดรับมากนัก
แครอลอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า การสมัครงานเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบรับจากนายจ้าง เพราะว่าพวกเขาจะดูประวัติการทำงานของคุณ เมื่อพบว่าคุณหายจากแวดวงการทำงานในตำแหน่งที่สมัครไว้หลายปี โอกาสการถูกเลือกเข้าทำงานก็ยิ่งน้อยเข้าไปอีก แถมหากเข้าไปได้แล้วคุณก็ต้องเสียเวลาตั้งต้นใหม่
แม้สุดท้ายแครอลจะมีงานทำแล้วก็ตามเธอก็ไม่ได้กังวลว่าคนจะดูแคลนเธออย่างไร เธอเผยอย่างจริงใจว่า หลังจากหยุดพักเป็นเวลานาน เพราะต้องใช้เวลาดูแลลูกถึง 4 คน ทำให้เธอตามข่าวด้านธุรกิจการเงินไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ และยังเกิดความไม่มั่นใจต่อการสัมภาษณ์กับนายจ้าง ถึงแม้จะมีพื้นฐานเกี่ยวกับแวดวงทางด้านธุรกิจการเงินก็ตาม เหตุนี้เธอจึงกลับมาสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์วอลสตรีท และอ่านมันตลอดหกเดือนเต็ม จนเธอสามารถจับประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจการเงินได้อีกครั้ง
แครอลยังบอกอีกว่า จากประสบการณ์ของเธอที่เคยถูกนายจ้างสัมภาษณ์มามากมาย มีอยู่สองประเด็นใหญ่ๆ ที่นายจ้างกังวล ประเด็นแรกคือความล้าหลังการใช้เทคโนโลยี และประเด็นที่สองคือ แรงกระตุ้นในการทำงาน (Passion)
ในประเด็นแรก แครอลยอมรับว่าตนเองล้าหลัง แต่ปัญหาเหล่านั้นเป็นแค่ปัญหาชั่วคราวที่เอาชนะได้ด้วยการเรียนรู้อย่างตั้งใจ และต่อเนื่อง เธอสารภาพว่าตอนแรกใช้โปรแกรมเพาว์เวอร์พอทย์ (Power Point) ไม่ถนัดเท่าไหร่ ทว่าทุกวันนี้มันเป็นโปรแกรมที่เธอใช้บ่อยที่สุดไปแล้ว พออ่านประเด็นแรกของแครอลจบลง ผมยอมรับและเห็นด้วยกับเธอว่าความล้าหลังบางอย่างจะไม่ติดตัวเราไปตลอด ถ้าเราหัดเรียนรู้ที่จะฝึกใช้ ผมเองก็คล้ายเธอที่ต้องเปลี่ยนจากการใช้โปรแกรมเพาว์เวอร์พอย์ทมาใช้โปรแกรมคีย์โน๊ต (Key Note) ในการนำเสนองานเป็นบางครั้ง
ส่วนประเด็นเรื่องแรงกระตุ้นในการทำงาน เป็นเรื่องยากกว่าประเด็นแรก เพราะการห่างหายจากแวดวงการทำงานไปนาน ผนวกกับอายุที่มากขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามมากมายว่าจะมีแรงกระตุ้นทำงานเพียงพอหรือไม่ แครอลบอกว่านั่นคือคำถามที่คุณต้องหาคำตอบมาพิสูจน์ด้วยความพยายามอย่างหนัก ว่าคนแบบพวกเธอยังมีพลังในการทำงานไม่แพ้คนหนุ่มสาว
เรื่องของแครอลอาจจะดูไกลตัวไปหน่อย เพราะคงไม่มีใครทิ้งช่วงเวลาการทำงานจมหายไปนานกว่า 11 ปี แล้วคิดจะกลับมาทำงานใหม่อีกแล้ว แต่ในโลกฝั่งตะวันตก นอกเหนือจากเรื่องของรายได้ที่พวกเขาต้องดิ้นรนหางานทำเพื่อยังชีพกันแล้ว อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของคุณค่าต่อการมีชีวิตอยู่นั่นเอง
แม้หลายคนจะเริ่มมีอายุมากขึ้น แต่หากตนเองมีความสามารถพิเศษที่ยังสร้างประโยชน์ต่อสิ่งต่างๆ ได้ สิ่งที่ตามมานอกเหนือจากรายได้ ก็คือ การปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันจนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ รวมถึงความท้าทายใหม่ๆที่เข้ามาสร้างสีสันในชีวิต
ผมไม่ได้สื่อว่าให้เราเกาะเก้าอี้เอาไว้ แล้วไม่ยอมเสี่ยงที่จะออกไปเผชิญความท้าทายในที่ใหม่ๆ เพราะผมเชื่อว่าในโลกของการทำงานมีทั้งคนประเภทที่เก่ง ซึ่งพร้อมที่จะไปยืนอยู่ที่ไหนก็ได้ ส่วนอีกประเภทหนึ่งก็เป็นขั้วตรงข้าม ที่ควรระมัดระวังเหมือนกัน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แม้ภายในบริษัทอาจดูนิ่งเฉย ทว่าภายนอกกำลังวุ่นวายและมีคนพร้อมที่จะนั่งเก้าอี้แทนเราได้เสมอ ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้ คนหนุ่มสาวอาจไม่ได้แข่งกันเองอีกต่อไปแล้ว ที่เพิ่มเติมมาคือกลุ่มคนวัยเก๋าที่ผ่านโลกและประสบการณ์มามากมาย ซึ่งจะกลายเป็นกำลังหลักต่อการทำงานในอนาคต…
แม้บางคนคิดว่าการทำงานประจำจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วปลายทางของการทำงานไม่ว่าจะประเภทอะไรก็ตามนั่นคือการมีรายได้ ใช้จ่ายอย่างเป็นสุข และมีความสามารถที่สร้างคุณค่าให้ผู้อื่น
ที่สำคัญทุกเช้าที่เราตื่นนอนขึ้นมา และยังรู้ว่ามีงานทำ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าการไม่รู้ว่าวันนี้เราจะทำอะไร…
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน