ลูกน้องอู้งาน แต่งานเสร็จตลอดทำยังไงดี

4 July 2022

มีกระทู้หนึ่งใน Pantip ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากการตั้งคำถามของคนที่คาดว่าเป็นหัวหน้างานคนนึง โดยคำถามเป็นแนวทางว่า “ลูกน้องแอบอู้งาน ทำตัวไม่มีระเบียบวินัย แต่งานเสร็จตลอด ควรทำอย่างไรดีครับ” ซึ่งในเนื้อหาของกระทู้นี้ ไม่ได้มีการบอกลักษณะและอุตสาหกรรมของงานที่ทำอยู่ว่าเป็นงานลักษณะไหน

ทันทีที่อ่านคำถามนี้จบ ก็คิดติดตลกว่า ลูกน้องที่รับผิดชอบงานได้เสร็จเร็วก่อนเวลาที่กำหนด กำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบากจากมุมมองของหัวหน้า ส่วนหัวหน้าก็อาจกำลังสับสนกับความเข้าใจในการบริหารงานบางอย่างที่ไม่มีความชัดเจนหรือเปล่า ซึ่งก็ยังหาคำตอบที่ตายตัวไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ…ทำไมคนเป็นหัวหน้าถึงเอาเรื่องข้างในมาตั้งคำถามในกระทู้

ย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นลูกน้อง ผมพบเจอกับหัวหน้าหลากหลายสไตล์ มีทั้งแบบสายเข้ม สายเป๊ะ สายอ่อนโยน ซึ่งจุดร่วมที่ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าได้จากที่ผมคอยสังเกต คือ การมีความชัดเจนต่อความรับผิดชอบเกือบทุก ๆ ด้านในการทำงาน

ความชัดเจนในที่นี้คือ ใครรับผิดชอบอะไร บริหารงานส่วนไหนก็ทำไป จะเสร็จเร็วก็ไม่ว่า แต่เสร็จช้ากว่าเดทไลน์มีปัญหาแน่!

ที่สำคัญกว่านั้นคือ งานต้องมีคุณภาพ และอาจด้วยประสบการณ์ที่ทำงานมาแต่ในบริษัทเอกชน และเจอหัวหน้าที่ชัดเจนไม่ได้งี่เง่ามากนัก อารมณ์แบบพี่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ยังไง เลยน้อยมาก ก็เลยไม่ค่อยเห็นปัญหาลักษณะการบริหารเวลางานให้ลูกน้องมากนัก

แต่ต่อให้มีคนที่เป็นหัวหน้าก็จะรู้ว่าเขาควรต่อยอดความสามารถของลูกน้องที่ทำงานเร็วมีคุณภาพดีอย่างไรให้มีประโยชน์ต่อลูกน้องและบริษัทเอง

อีกมุมหนึ่งที่ผมโชคดี คือการถูกให้เกียรติจากหัวหน้าเสมอ กรณีหากทำงานเสร็จเร็วก่อนกำหนด น้อยนักที่จะโยนงานให้เพิ่ม ในทางตรงกันข้าม พวกเขามักปล่อยให้ผมไปผ่อนคลาย หรือมีอิสระเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้หายใจหายคอได้โล่งขึ้นหน่อย

อีกมุมหนึ่งที่ถูกสอนมาเสมอคือ การให้เคารพเวลาในการทำงานเป็นอย่างมาก ซึ่งหัวหน้าที่เจอส่วนใหญ่มักสอนไปเป็นแนวทางเดียวกัน ผมจำได้ว่ามีหนึ่งในอดีตหัวหน้าสอนไว้ว่า

“พยายามรับผิดชอบงานในเวลางานให้เสร็จ เราจะได้แบ่งความรับผิดชอบไปในส่วนอื่นของชีวิตด้วย เพราะทุกคนมีเงื่อนไขบางอย่างที่บริษัทไม่รู้ มีแต่ตัวเราเท่านั้นแหละที่รู้ดีที่สุด”

จนกระทั่งวันที่ผมขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนได้บ้างแล้ว การได้กลับมาเห็นคำถามบนกระทู้นี้ ก็ทำให้เห็นตัวเองในอดีต และมองลูกน้องที่ต้องดูแลอยู่ด้วยความเข้าอกเข้าใจพวกเขามากขึ้น โดยไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ของเนื้องานที่เขาทำออกมา แต่ต้องเข้าใจถึงชีวิตและศักยภาพการทำงานของพวกเขามากกว่าการตัดสินจากการทำงานเสร็จเร็วหรือช้าเท่านั้น

ถ้ายังเข้าใจแบบนั้น ผมว่าตัวหัวหน้าเองน่าจะเป็นปัญหาของเรื่องนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *