เชื่อว่าไม่มีใครอยากทำงานช้า ในวันที่โลกการทำงานขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็วที่เปลี่ยนแปลงจนบางครั้งเราก็เหนื่อยที่จะตามเหมือนกัน แต่ก็ต้องปรับตัวตามให้ทันต่อไปเพื่อความเก่งที่เพิ่มขึ้น แค่คิดก็เหนื่อยแล้วเนอะ
การบริหารจัดการเรื่องเวลาจึงเป็นทั้งศาสตร์และทักษะที่มนุษย์เงินเดือนจำเป็นต้องพกติดตัวเอาไว้ใช้งานในทุกวันทำงาน เพื่อไม่ให้งานตามมาหลอกหลอนถึงบ้านในช่วงเวลาหลังเลิกงาน
เขียนถึงการบริหารเวลาแล้ว เคยได้ยินข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเกี่ยวกับความฉลาดที่แยบยลของโปรแกรมเมอร์ต่างชาติคนหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนขี้เกียจเอามาก ๆ แต่สามารถกลับบ้านตรงเวลาไปพร้อมกับการส่งงานก่อนเวลามาอย่างต่อเนื่อง จนมีเวลาเล่นเกมและดูหนังในบางช่วงของเวลางาน
กระทั่งโปรแกรมเมอร์คนนี้ถูกไล่ออกเพราะพบว่า งานที่เขาทำนั้น เขาได้นำไปว่าจ้างให้โปรแกรมเมอร์จีนข้างนอกบริษัททำต่อ และให้ส่งมาให้เขาก่อนเวลาที่กำหนดเพื่อจะได้ตรวจเช็กอีกทีก่อนส่งให้เจ้านายและทำให้เขาสามารถกลับบ้านอย่างตรงเวลาได้ทุกวัน
ความลับก็คือ โปรแกรมเมอร์ต่างชาติคนนี้ค่าจ้างที่สูงกว่าโปรแกรมเมอร์จีน 3-4เท่า แต่เขานำส่วนต่างไปจ้างต่อ เพื่อทำให้ตัวเขามีเวลาในการไปทำอย่างอื่นมากขึ้น และสามารถกลับบ้านได้ตรงเวลาทุกวันนั่นเอง
ตอนอ่านประเด็นนี้จบ ก็มีความรู้สึกสองอย่างคือ เป็นคนขี้เกียจที่ฉลาด กับ เป็นคนขี้เกียจที่คิดสั้นเหมือนกัน แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไร
ทีนี้ประเด็นของโปรแกรมเมอร์คนนี้ที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ จนความลับแตกก็เกิดจาก การที่เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าของเขาสังเกตว่า เขาดูชิลเป็นพิเศษ ไม่ได้รู้สึกว่ามีความยุ่ง ความวุ่นเหมือนโปรแกรมเมอร์คนอื่น ๆ ซึ่งประเด็นตรงนี้ก็น่าสนใจ ในมุมมองของคนรอบกายและผู้มีอำนาจที่จับตาดูอยู่
ศาสตราจารย์ จูเลียน เบียร์คินชอว์ และ จอร์แดน โคเฮน ได้อธิบายภาวการณ์ทำงานเพิ่มเติมว่า มนุษย์เราชอบรู้สึกดีตอนที่ตัวเราเองกำลังยุ่ง หรือกำลังวุ่นวายกับงานบางอย่างอยู่ ซึ่งโดยส่วนตัวก็คิดว่านี่คือกับดักกับความคิดของผู้มีอำนาจด้วยเหมือนกัน พวกเขาอาจจะอุ่นใจว่าลูกน้องขยันทำงานต่าง ๆ เพื่อให้บริษัทเติบโต แต่มองอีกมุมหนึ่งก็น่าคิดต่อว่า การที่ยุ่งขนาดนั้น พวกเขาอาจกำลังเจอปัญหาการบริหารเวลาที่แย่อยู่ก็ได้นะ
สองศาตราจาร์ยก็เลยมีวิธีมาแนะนำด้วย 3 คำถามเพื่อหาคำตอบให้เราทำงานได้เร็วขึ้น
1. เลิก
ตั้งคำถามว่า เราสามารถเลิกทำอะไรได้บ้าง? หรืองานนี้ให้คุณค่าอะไรกับเรามากน้อยแค่ไหน?
เอาจริงคำถามนี้ถ้าเราอยู่ในบริษัทเล็กๆ ไม่ต้องตั้งคำถามหรอก เพราะต้องทำทุกอย่าแน่ๆ แต่ถ้าเป็นบริษัทระดับกลางถึงใหญ่ ขอบเขตหน้าที่จะชัดเจน เราต้องปกป้องสิทธิ์เวลาของตัวเองให้ดี
2. มอบหมาย
ก่อนอื่นเราควรตั้งคำถามว่า งานนี้เหมาะกับเราไหม หรือมีคนทำแทนเราได้หรือเปล่า?
งานบางงาน เราอาจจะสามารถทำเองได้ และงานบางงานเราอาจไม่เหมาะสมหรือมีเวลาในการดูแลไม่เพียงพอ การมองหาคนทีเหมาะสมเพื่อมอบหมายงานก็เป็นอีกหนึ่งทางออกในการบริหารงานและเวลาไปได้เหมือนกัน
3. คิดใหม่
การคิดใหม่ในที่นี้คือ การหาหนทางในการทำงานด้วยวิธีใหม่ที่ประหยัดเวลามากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมาก
จากเรื่องราวทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าเป็นอย่างมากในการบริหาร แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อให้ขาดก็คือ เมื่อเราบริหารเวลาในชีวิตประจำวันอย่างงานประจำได้แล้ว เราควรจะต่อยอดเวลาที่มีมากขึ้นด้วยการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป เพื่อสร้างโอกาสในอนาคตเพิ่ม หรือจะนั่งดูหนังกินขนมแบบโปรแกรมเมอร์ต่างชาติที่โดนไล่ออก นั่นก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องคิดต่อในการบริหารชีวิตและความไว้วางใจกับเพื่อนร่วมงานและผู้มีอำนาจด้วยเหมือนกัน เพราะหลักการบริหารนั้น ไม่ได้มีแค่เวลาเพียงอย่างเดียว
อ้างอิง: ใช้เวลาเป็นไม่ต้องเก่งก็ไปได้ไกลกว่า

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน