สรุปไอเดียและกลยุทธ์ของ Universal Studio Japan ที่มนุษย์เงินเดือนเอาไปประยุกต์ใช้ได้

8 March 2020

มีโอกาสได้อ่านหนังสือ ‘ทำไมรถไฟเหาะของ USJ ถึง วิ่งถอยหลัง’

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการฟื้นฟูสวนสนุกที่ซบเซา

ให้กลายมาเป็นสวนสนุกที่ทุกคนในโลกอยากมาเล่นสักครั้ง

จากสวนสนุกธีมปาร์คภาพยนตร์ปกติ

สู่ศูนย์รวมความบันเทิงระดับโลกที่คัดสรรมาแล้ว

โมริโอกะ สึโยชิ แก้ไขและสร้าง USJ ได้อย่างไร เรามีสรุปไอเดียมาให้ครับ

ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยความเชื่อและความมุ่งมั่น

ที่ โมริโอกะ สึโยชิ มีอยู่เต็มเปี่ยม

พร้อมกับความคิดเชิงการตลาดและความคิดสร้างสรรค์

เช่น วาระครบรอบ 10 ปี ของ USJ ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มีงบให้จัดอะไรได้มากนัก

แต่ โมริโอกะ สึโยชิ ก็หาทางออกด้วยกลยุทธ์

‘ไม่มีเงินไม่เป็นไร สร้างความประทับใจก่อนเอาไว้เป็นพอ’

ทางแก้ของ โมริโอกะ สึโยชิ เน้นว่า

  • ต้องสร้างความประทับใจกับผู้ร่วมงาน
  • ต้องขยายฐานคนมาให้กว้างขึ้น หมายถึง เด็กและผู้ใหญ่สามารถเดินทางมาได้
  • ต้องประยุกต์เอาสิ่งเก่ามาเล่าใหม่ และสามารถออกสื่อได้ตลอดปี
  • หาช่วงเวลาเทศกาลที่เหมาะสม เช่น วันฮาโลวีน
  • จุดเด่นที่ดึงทุกคนให้มาที่งาน เช่น การมีต้นไม้ที่สว่างที่สุดในโลก

แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ โมริโอกะ สึโยชิ เน้นก็คือ

การนึกถึงมุมมองผู้บริโภคเป็นหลัก

เพราะหากนักการตลาดไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้

ไม่ว่าจะคิดไอเดียหรือกลยุทธ์อะไร

ก็จะไม่มีวันสร้างผลลัพธ์ได้เข้าเป้าเลย

อีกหนึ่งในการเฟ้นหาไอเดียเพื่อมาเติมความสนุกให้ USJ นั่นคือ กลยุทธ์การใช้ซ้ำ

หมายถึงการออกไปสอดส่องดูไอเดียจากสวนสนุกหรือที่อื่นๆ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

ซึ่งการใช้ซ้ำในความหมายของ โมริโอกะ สึโยชิ ไม่ได้หมายถึงการลอกเลียนแบบ

แต่คือการนำโครงความคิดมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับต้นทุนที่มีอยู่

ซึ่ง โมริโอกะ สึโยชิ มองเห็นข้อดีของการใช้ซ้ำ 3 ข้อ คือ

1. โปรเจกต์สามารถเดินหน้าได้ไวแบบก้าวกระโดด

2. ประยุกต์ไอเดียที่เคยถูกการันตีว่าได้ผลทำให้โอกาสประสบความสำเร็จมีมากขึ้น

3. การสำรวจไอเดียเหล่านี้ ต่อให้เราไม่ใช่ก็ได้ไอเดียในการเก็บสต๊อกมากขึ้น

นอกจากการมีกลยุทธ์การใช้ซ้ำแล้ว โมริโอกะ สึโยชิ ยังมีวิญญาณของการเป็นนักคิดอยู่เต็มเปี่ยม

ในคืนหนึ่งที่เขากำลังหลับใหล แต่ยังคงคิดภาพเครื่องเล่น Hollywood Dream ซึ่งเป็นรถไฟเหาะของ USJ ที่จู่ๆ ภาพรถไฟเหาะอันคุ้นตากลับมีการเคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้ามอย่างแปลกตาและสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เล่นได้มากมาย

คืนนั้น โมริโอกะ สึโยชิ สะดุ้งตื่น และบันทึกไอเดียในความฝันของเขา เสียงกรี๊ดร้องด้วยความตื่นเต้นของผู้เล่นในความฝัน คือหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้ USJ มีชื่อในทุกวันนี้ และเป็นที่มาของเครื่องเล่น Hollywood Dream – The Ride Backdrop รถไฟเหาะวิ่งถอยหลังนั่นเอง ที่ได้เปิดตัวในปี 2013 และยังได้สร้างสถิติ เป็นเครื่องเล่นที่มีคนต่อคิวยาวนานที่สุดในญี่ปุ่น นานถึง 9 ชั่วโมง  40 นาที เลยทีเดียว

องค์ประกอบในการเฟ้นหาไอเดียของ โมริโอกะ สึโยชิ มีอยู่ 3 องค์ประกอบด้วยกันได้แก่

1. กลยุทธ์: ประกอบด้วย เป้าหมาย กลยุทธ์ ไอเดีย

เป้าหมาย : เพิ่มจำนวนผู้เยี่ยมชนให้ได้ 10 ล้านคนต่อปี

กลยุทธ์: ขยายกลุ่มด้วยการดึงดูกลุ่มครอบครัว

ไอเดีย: สร้างโซนครอบครัวขึ้นมาเพิ่ม  

2. คณิตศาสตร์ องค์ประกอบนี้ไม่ใช่แค่การคำนวณ แต่คือตรรกะความเป็นไปได้ในการทำงาน

3. การตลาด คือ ต้องรู้ว่าเราจะสื่อสารกับใคร ด้วยวิธีอะไร

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ถึงแม้ว่าจะเขียนถึงไม่เยอะ แต่ก็นับว่ามีความสำคัญในการเนรมิตให้ USJ เป็นสวนสนุกที่ขึ้นชื่อติดอันดับโลกคือ การมีพาร์ทเนอร์ที่เชื่อมั่นในตัว โมริโอกะ สึโยชิ อย่าง เกล็น กัมเปล ซีอีโอ ของ USJ นั่นเอง

โมริโอกะ สึโยชิ ไม่ได้มองว่า USJ เป็นแค่พื้นที่สวนสนุกอย่างเดียวแต่เขายังมองว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมอะไรหลายๆ อย่างในประเทศญี่ปุ่น เช่น สวนสนุกแห่งนี้เป็นที่ระบายความเครียดให้แก่กลุ่มผู้หญิงญี่ปุ่น เพราะจากสถิติผู้หญิงญี่ปุ่นนิยมไปเที่ยวสวนสนุกบ่อยกว่าผู้หญิงอเมริกันถึง 2 เท่า! และกลุ่มที่ชอบเที่ยวสวนสนุกมากที่สุดในโลกก็คือ ผู้หญิงญี่ปุ่น มีการวิเคราะห์กันว่าเกิดจากภาวะความกดดันที่สะสมในสังคมนั่นเอง และพื้นที่สวนสนุกก็เป็นพื้นที่ให้ระบายความเครียดและความกดดันที่อัดอั้นอยู่

สุดท้าย โมริโอกะ สึโยชิ มองว่าสวนสนุกคือแหล่งสร้างเม็ดเงินเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอีกทางหนึ่ง และที่สำคัญกว่านั้นคือ สวนสนุกสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่ทุกคนได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมาจากประเทศไหนก็ตาม นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวของตำนานที่ยังคงขับเคลื่อนความสนุกในชีวิตให้ทุกคนที่ได้ไปเยือน Universal Studio Japan ครับ

อ้างอิง: หนังสือ ทำไมรถไฟเหาะของ USJ ถึงวิ่งถอยหลัง สนพ. We Learn

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *