หมดยุคหัวหน้าที่เก่งงานแค่อย่างเดียว

10 December 2022

ปี 2022 กำลังจะผ่านไปอีกปี แน่นอนว่าสิ่งที่คนทำงานหลายคนนิยมทำกันก็คือ การนั่งคิดเพื่อตกผลึกว่า ปีที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง รวมถึงผมเองด้วยเช่นกัน ซึ่งมีทั้งขาของคนทำงานคนหนึ่ง กับ ขาของการเป็นหัวหน้าคนอีกส่วนหนึ่ง

ซึ่งสิ่งที่คิดว่าได้เรียนรู้มากกว่าการจะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ก็คือการหัดพัฒนาทีมให้เก่งขึ้นไปด้วย ซึ่งเป็นบทบาทของหัวหน้าที่จำเป็นอย่างมากที่ต้องฝึกฝน

หลายครั้งที่ผมคุยกับพ้องเพื่อนและพี่ ๆ ที่มากประสบการณ์เด้านการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในวงการเดียวกันหรือคนละวงการ ความท้าทายที่ส่วนใหญ่พูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันในการวัดความสามารถของตัวเองนั้น คือ การบริหารคน!

จนผมพอจะสรุปบทบาทของการเป็นหัวหน้าพร้อมกับประสบการณ์ร่วมของตัวเองมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ครับ

1. หัวหน้าคือนักสร้างหัวใจ

ไม่แน่ใจว่าเคยอ่านเจอที่ไหน ที่บอกว่าอยากรู้ว่าวัฒนธรรมและวิถีการทำงานของออฟฟิศเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งอ่านวัฒนธรรมแต่ให้ดูที่หัวหน้าเป็นอันดับแรก เพราะหัวหน้าคือหัวใจของวัฒนธรรมในที่ทำงาน นั่นคือสิ่งแรกที่ใครสงสัยว่าบุคลิกที่ทำงานเป็นอย่างไร ดูที่หัวหน้าได้ก่อนเลยเป็นอันดับแรก ซึ่งก็เห็นด้วยเหมือนกัน

2. หัวหน้าคือนักสร้างบรรยากาศ

ออฟฟิศคือสถานที่ที่ส่วนใหญ่พวกเราใช้เวลามากกว่าอยู่บ้านเสียอีก การสร้างบรรยากาศที่ดี จะส่งผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจ และความรู้สึกต่อการอยากมาทำงาน แถมต่อให้เจองานยากๆ ทีมงานก็ยังรู้สึกมีความหวังว่า บรรยากาศในทีมที่ดีจะช่วยให้การทำงานที่ยากในครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

3. หัวหน้าคือนักออกแบบประสบการณ์

ก่อนจะเป็นหัวหน้าในทุกวันนี้ หัวหน้าย่อมต้องเคยผ่านการเป็นลูกน้องมาก่อน ซึ่งต้นทุนของการเป็นลูกน้องมา จะทำให้ได้เห็นสิ่งที่หัวหน้าคนก่อนหน้าในชีวิตการทำงานมาพอสมควร ซึ่งสามารถนำสิ่งที่ดีมาต่อยอด และตัดทิ้งในสิ่งที่ตอนเป็นลูกน้องรู้สึกไม่ดีออกไปได้ เช่น การเปิดโอกาสให้ทีมได้มีพื้นที่คิดเพื่อลองผิดลองถูก และไม่ซ้ำเติมในจังหวะที่พวกเขาผิดพลาดจากความพยายามในการทำงาน แต่ควรชี้ทางจากประสบการณ์​เพื่อให้่ทีมกล้าเปิดใจที่จะมาปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หัวหน้าและทีมต่างมีพัฒนาการทางความคิดทั้งในและนอกกรอบมายิ่งขึ้น

4. หัวหน้าต้องคิดถึงจังหวะเติบโตของทีม

คนเป็นหัวหน้าจะเอาใจทีมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องปูทางให้ทีมเห็นอนาคตด้วยว่า อยู่ที่นี่แล้วจะเติบโตไปได้ยังไง และมีความเหมาะสมที่จะอยู่ไปในระยะไหนเพื่อการโตที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หัวหน้าจำเป็นต้องมองหาทักษะที่เป็นจุดร่วมสำคัญที่บริษัทต้องการ และมีความสอดคล้องไปกับงานที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น มายด์เซต ทักษะ และอารมณ์​

5. หัวหน้าต้องรู้จักวันที่ตัวเองจะต้องก้าวลง

ข้อนี้อาจจะเจ็บปวดหน่อยสำหรับคนเป็นหัวหน้า แต่เพราะองค์ความรู้ทุกอย่างมันหมดอายุเร็ว และเปลี่ยนแปลงไว ทำให้อายุของคนเป็นหัวหน้าอาจจะสั้นลงกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้ ถ้าไม่คิดจะหา Input อะไรใหม่ๆ มาเติมและแลกเปลี่ยนกับทีมอยู่เสมอ ดังนั้น การมีประสบการณ์ที่มาก อาจไม่ได้เป็นตัวตอบเรื่องการเป็นหัวหน้าแบบระยะยาวได้ ถ้าความรู้ ความเข้าใจ ไม่โตไวไปพร้อมกับงานและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป

สุดท้าย การเป็นหัวหน้าที่เก่งแต่งานอยู่ได้แต่จะอยู่ยาก

ต้องยอมรับว่า โลกการทำงานหนักไปที่การเน้นแต่ผลลัพธ์จนไม่คอยหันมาตรวจสอบหลังบ้านกันเท่าไหร่ ว่าฟันเฟืองเล็กๆ อย่างคนทำงานว่า พวกเขามีคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร และความเข้าใจในตัวพวกเขาของเรามีมากแค่ไหน อย่าลืมว่าความคิดของเราที่เกิดขึ้น ก็มาจากแรงกายแรงใจพวกเขาทั้งนั้น การหมั่นก้มตัวลงไปชุบชูใจพวกเขาด้วยการพูดคุย และสอบถามการทำงานบ้าง ก็ไม่ต่างอะไรกับการหยอดน้ำมันหล่อลื่นและกันสนิมทางความรู้สึกในการทำงานร่วมกันได้เช่นกัน

หวังว่าพอจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับการตั้งหลักใหม่กับตัวเองกับทีมงานในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *