อยากทำงานที่ Google ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

30 May 2020

เมื่อไม่นานมานี้มีการจัดอันดับ CEO ขวัญใจพนักงานมหาชนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดทำโดย glassdoor.com บริษัทจัดจ้างงานในสหรัฐ ที่ได้ตั้งเงื่อนไขการสำรวจไว้ว่า CEO ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมีพนักงานในบริษัทมากกว่า 1,000 คนขึ้นไป และการวัดผลนั้นต้องวัดจากสัดส่วนของพนักงานในองค์กรที่ให้ความร่วมมือในการทำแบบสำรวจและเห็นด้วยกับแนวทางบริหาร

ผลปรากฎอันดับหนึ่งได้แก่ Larry Page จาก Google ตามมาด้วย Mark M.Parker จาก Nike, Charles C.Butt จาก H-E-B , Mark Zuckerberg จาก Facebook และ Scott Schere จาก Ultimate Software ตามลำดับ

แม้ผลสำรวจจะจบลง แต่ประเด็นที่น่าสนใจและน่าเขียนต่อนั้นคือเรื่องวัฒนธรรมของ Google ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่คนทั่วโลกอยากทำงานด้วยมากที่สุดแห่งหนึ่ง วัฒนธรรมองค์กรของ Google น่าสนใจตั้งแต่บรรยากาศการทำงานที่มีพื้นที่พักผ่อนทางกายและอารมณ์ต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างสวยงามและใช้สอยได้จริง

เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญซึ่งอาจเรียกได้ว่า ‘จิตวิญญาณ’ ของ Google คือ การรับคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งความสำเร็จของบริษัทที่ได้สร้างสรรค์ออกไป

คำถามคือ Google ต้องการคนประเภทไหน

คนเก่ง เรียนจบสูง อย่างเดียวหรือเปล่า

คำตอบคือไม่ใช่

บริษัท Google ไม่ต้องการคนเรียนเก่งและจบสูง โดยให้เหตุผลว่า เด็กเรียนเก่งสอบได้คะแนนสูงไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนทำงานดีเสมอไป และเกรดเฉลี่ยสูงของนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย ไม่สามารถเป็นดัชนีชี้ความสามารถในชีวิตการทำงานจริงได้ แต่บริษัทต้องการคนทำงานคล่องแคล่วและสร้างสรรค์มากกว่า

Laszlo Bock รองประธานฝ่ายบริหารบุคลากร (HR) ของ Google ได้ให้ข้อมูลว่า มีคุณสมบัติข้อหนึ่งสำหรับคนที่จะได้เข้าทำงานที่นี่คือ ‘ความสามารถในการเรียนรู้’

Laszlo Bock ได้ขยายความหมายของการเรียนรู้ว่า คล้ายการเก็บข้อมูลหลายๆ อย่างมาผสมผสานก่อเป็นความรู้ในการทำงานให้สำเร็จ ซึ่งเด็กเรียนเก่งบางรายไม่สามารถนำมาโยงให้เป็นองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาได้

ข้อสองคือ ‘ความเป็นผู้นำ’ Laszlo Bock บอกว่า “คำว่าผู้นำของเราหมายความว่าเมื่อเกิดปัญหา คุณจะสามารถก้าวออกมานำคณะได้หรือไม่ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เมื่อถึงเวลานั้น คุณสามารถถอยหลัง และหยุดการเป็นหัวหน้าทีมและปล่อยให้คนอื่นนำได้หรือไม่”

นั่นหมายความว่า การเป็นผู้นำที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่บนบัลลังค์อย่างเดียว แต่ต้องมีความพร้อมที่จะยอมสละอำนาจในจังหวะที่เหมาะสมด้วย ซึ่งคุณต้องเก่งพอที่จะยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่มีคนเก่งกว่าคุณและที่สำคัญคุณพร้อมจะให้เขานำหรือเปล่า Laszlo Bock เรียกคุณสมบัตินี้ว่า “ความถ่อมตนทางปัญญา” (Intellectual Humility)

ผลสำรวจหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า คนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ๆ จำนวนไม่น้อยเติบโตในหน้าที่การงานไม่ได้ เพราะมีทัศนคติผิด ๆ ที่คิดว่าตนเก่งกว่าคนอื่น

Laszlo Bock ยังอ้างถึงพฤติกรรมและแนวคิดของเด็กจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงว่ามักมีท่าทีต่อชีวิตที่ผิด เช่น ถ้าสิ่งดีๆ เกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะฉันเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้ามีอะไรแย่ๆ เกิดขึ้น นั่นเป็นฝีมือของใครสักคนที่ไม่ใช่ฉัน หรือเป็นเพราะฉันไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอในการทำงานชิ้นนั้น หรือเพราะสภาพตลาดเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งสอดคล้องกับสำนวนไทยอย่าง ‘รำไม่ดี โทษปี่ โทษกลอง’ ทัศนคติเหล่านี้ตรงข้ามกับสิ่งที่ Google ต้องการ

คนที่ Google ชอบคือ คนทำงานที่มีความรักงาน ทุ่มเท พร้อมจะแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเผ็ดร้อนเพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง

แต่หากมีข้อมูลใหม่ที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อน เขาควรยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่ออาจจะไม่ถูกต้องเสมอไปและพร้อมจะถอยให้ข้อเท็จจริงใหม่ได้กำหนดทิศทางของภารกิจนั้นๆ

Laszlo Bock สรุปว่าท้ายที่สุดแล้ว ปริญญาบัตรไม่ได้เป็นใบรับรองความสามารถในการทำงานได้ทุกอย่าง โลกแห่งความเป็นจริงจะเปิดรับเฉพาะคนที่รู้จักใช้สิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ให้ได้ผลในทางปฏิบัติเท่านั้น และโลกก็ไม่สนใจว่าคุณเรียนรู้มาจากไหนหรือเรียนมาอย่างไร ขอให้รู้จริงและพร้อมจะเรียนรู้เป็นพอ

Laszlo Bock ย้ำอีกว่าคนที่เขาจ้างมาทำงานจะต้องมี soft skills อาทิ ความเป็นผู้นำ ความถ่อมตน ความสามารถในการประสานงานกับผู้อื่น พร้อมที่จะปรับตัว รักการเรียนรู้อยู่เสมอ

ผมคิดเสมอว่าบริษัทอย่าง Google ที่ใช้เทคโนโลยีและระบบการจัดการข้อมูลมากมายให้มนุษย์ทุกคนได้ใช้กันนั้น ล้วนเป็นภาพที่สะท้อนให้เรารู้สึกและนึกคิดถึงกระบวนการทำงานที่ดีเยี่ยมของบริษัทระดับโลกแห่งนี้

การที่แลร์รี่ เพจ ได้รับตำแหน่ง CEO ขวัญใจพนักงานมาครองนั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าคนจำนวนมากล้วนโหวตให้กับเขาอยู่ทุกวัน ด้วยการใช้บริการ Google ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อนำมาประกอบใช้ในการทำงาน รวมถึงเนื้อหาที่คุณกำลังอ่านอยู่เช่นกัน…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *