สวัสดีชาวออฟฟิศ 0.4 ทุกคนครับ ในช่วงเวลาต้นเดือนแบบนี้ อยากทราบว่าเงินเดือนและรายได้ของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้างครับ แน่นอนว่าหลายคนรับรายได้เข้ามาก็พยายามรีบชำระหนี้สินไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต ผ่อนบ้าน คอนโด รถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่จะดีกว่าหากเรากันรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นเงินออมด้วย
ใช่ครับเงินออมที่เรามักเคยได้ยินตามกูรูและหนังสือการเงินเล่มต่างๆ แนะนำไว้นั่นแหละ ซึ่งวันนี้จะขอเขียนถึงการออมสักหน่อย เพราะคิดว่าเป็นพื้นฐานที่ทุกคนทำได้แน่นอน แต่ปัญหามีอยู่ 2 ข้อหลักๆ จากที่สังเกตคือ
1. ทำได้ต่อเนื่องแค่ไหน
2. อัตราการออมที่เหมาะสมและสามารถทำได้
สาเหตุที่เขียนถึงการออม เพราะผมมองว่านี่คือทักษะพื้นฐานที่ควรเกิดขึ้นกับทุกคน แม้ว่าหลายคนบอกว่าสถานการณ์ตอนนี้กูไม่มีจะแดกแล้วโว้ย แต่ก็อยากจะบอกว่าถ้ารายได้ขาดสภาพคล่องก็เน้นหารายได้ก่อนก็ได้ครับ แต่หามาแล้วก็ลงออมเล็กๆ น้อยๆ เสียหน่อยก็ดี ดีกว่าไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งนั่นมันก็เป็นประเด็นส่วนบุคคล แต่ประเด็นใหญ่กว่าก็คือ หลายคนคงจะทราบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่เกษียณแล้วเงินไม่พอใช้อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งสาเหตุก็มีหลากหลาย ทั้งวางแผนช้าเกินไป ออมและลงทุนในสัดส่วนไม่เหมาะสม ซึ่งรอบหน้าจะมาขยายประเด็นนี้อีกที
ส่วนเรื่องของการออมนั้น ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจแนวคิดมันเป็นอย่างดี แต่โจทย์แรกที่เขียนไว้คือ ทำได้ต่อเนื่องแค่ไหนเนี่ยแหละท้าทายมากๆ สารภาพตามตรงว่าผมเองเคยเป็นคนประเภทนี้ ที่ออมไปสักพักก็เอาเงินออกมาใช้ ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องที่ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขในบัญชีรวมถึงตัวเราด้วย ซึ่งวิธีแก้ไขมีอยู่ 2 อย่างจากประสบการณ์ คือ
– ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เราเห็นตัวเลขและพฤติกรรมของเราอย่างชัดเจนในแต่ละเดือน
– หากออมเองไม่ได้ ให้ใช้วิธีการตัดเงินบัญชีอัตโนมัติ ผ่านระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่หลายบริษัทมี หรือไม่ก็ลงทุนในกองทุนรวมแบบรายเดือนก็ได้ แต่ทางที่ดีตั้ง Calendar เตือนไว้แล้วเอาเข้าบัญชีออมทรัพย์ของตัวเองไว้ก่อนดีกว่าในช่วงแรก
โจทย์ที่สองคือ อัตราการออมที่เหมาะสม หากหลายคนเคยอ่านตำราการออมมา โดยมากเข้าก็แนะนำว่า ออมอย่างน้อย 10% หมายความว่าถ้าเงินเดือนเรา 20,000 บาท ต้องหักออมก่อนใช้ไปเลย 2,000 บาท สะสมไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อเก็บเป็นเงินก้อนสำรองฉุกเฉิน กรณีต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนเพื่อความอุ่นใจ แต่! หลายคนทำตามตำรากลับไม่มีความสุข เพราะค่าใช้จ่ายมันเยอะทำให้ขาดสภาพคล่อง ก็ต้องบอกตามตรงเลยครับว่า ไม่ต้องเน้นตามตำรามากนักก็ได้ แต่เอาวิธีคิดมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตจริงก็พอ แต่ถ้าบางคนมองว่าอยากเน้นตามตำราหรือคำแนะนำ เพราะมันทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็ว ก็สามารถทำได้ และไปหารายได้ทางอื่นๆ เพิ่มเอาก็ได้เช่นกัน
อีกมุมมองหนึ่งที่อยากแนะนำคือ อยากให้คำแนะนำเป็นกำแพงมากั้นขีดความสามารถของเราไว้ ซึ่งเราควรต้องประเมินความสามารถในการใช้จ่ายด้วยตนเอง เช่น ออม 10% แต่จริงๆ แล้วเรารายได้พอประมาณ ภาระไม่เยอะ กินอยู่ไม่เปลือง มีเงินเหลือทุกเดือน เราจะออม 20% ก็ได้ ไม่มีใครว่า ซึ่งก็ทำให้เรามีการออมโตกว่าค่าเฉลี่ยคนทั่วไปด้วยซ้ำ และยังไปถึงเป้าหมายออมเงินสำรองฉุกเฉิน หรือเป้าหมายได้เร็วขึ้นเป็นเท่าตัวด้วย
ถามว่าโจทย์ทั้งสองข้อหลักอะไรเป็นจุดร่วมก็ตอบได้เลยครับว่า ความคิดและพฤติกรรมครับ ซึ่งรวบเป็นคำสั้นๆ ก็คือ ‘นิสัย’ เราเนี่ยแหละ ที่เป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องการเงินนะ
หากอยากรู้ว่านิสัยมีมิติอะไรบ้าง ผมอยากแนะนำหนังสือ 2 เล่ม คือ
Tiny Habit The Small Changes That Change Everything (เปลี่ยนน้อยนิดเพื่อพิชิตทุกเป้าหมาย)
The Power of Habit (สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ด้วยนิสัยแค่ 1%)
ซึ่งทั้งสองเล่มมีแปลไทยเรียบร้อยแล้วครับ

หากมนุษย์เงินเดือนคนไหนมีเรื่องราวการออมที่น่าสนใจก็สามารถแชร์มาให้เราอ่านได้ก็ดีนะ
ถ้าชอบเนื้อหาแบบนี้ ฝากกดติดตามและกดแชร์เพื่อเป็นกำลังใจทั้งด้านการงานและการเงินด้วยนะครับ
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน