อยากเก่งแค่ไหนก็ไม่ได้ผลถ้าขาด THE POWER OF PURPOSE

26 May 2021

สวัสดีชาวออฟฟิศ 0.4 ทุกคนนะครับ ในสถานการณ์ที่ผันผวนทั้งเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานและเงินทองในบัญชีที่สั่นคลอนจากสภาวะเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เลยจาก COVID-19 เริ่มทำให้คนทำงานหลายคนอ่อนแรง สิ้นหวัง และรู้สึกหมดหนทางต่อการหาทางออกกับชีวิต

ซึ่งผมเชื่อว่านอกจากผลกระทบเชิงบุคคลแล้ว ในส่วนของการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ ก็สั่นคลอนไม่แพ้กัน ทางรอดที่สำคัญจึงต้องเริ่มจากวิธีคิดที่ทั้งแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และทนทานต่อเหตุการณ์ในเวลานี้ และหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจคือ THE POWER OF PURPOSE พลังของการกำหนดเป้าหมาย ที่เกิดการใช้จริงและทำจริง ที่ส่งผลให้บริษัทอสังหาฯ อย่าง AP THAILAND สามารถนำองค์กรและพนักงานกว่า 2,000 คนก้าวผ่านวิกฤตมาได้

ซึ่งผมได้มีโอกาสฟังการอธิบายถึงความสำคัญของแก่นแนวคิดและการนำไปใช้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงและทางรอดในเวลานี้จาก คุณมิ่ง วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่ได้เล่าให้ฟังไว้ในงาน Creative talk Conference 2021 มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ออฟฟิศ 0.4 สรุปมาให้คนทำงานที่อยากเก่งขึ้นได้อ่านกันครับ

PURPOSE คือเข็มทิศที่ทำให้ชีวิตไม่หลงทาง

คุณมิ่งอธิบายง่ายๆ ว่า PURPOSE คือ เป้าหมาย ถ้าเราหรือองค์กรไม่มีเป้าที่ชัดเจน หรือการหาความหมายให้ตัวเราเองต่อการทำงานว่า เราทำงานไปเพื่ออะไร อยู่ไปเพื่ออะไร จากสถานการณ์ที่ผันผวนฝุ่นตลบอบอวลเช่นนี้ ทิศทางในการก้าวต่อไปจึงยากลำบากแน่ๆ หากไม่มีคำตอบจากคำถามดังกล่าว ซึ่งนั่นแหละคือเป้าหมายที่สำคัญ

หากคิดไม่ออกลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราจะไปเชียงใหม่ เราสามารถไปถึงเชียงใหม่ได้หลายวิธีมาก เช่น นั่งรถ นั่งเครื่องบิน และอีกหลากหลายวิธีการ แต่หากขยายเข้าไปอีกว่าเป้าหมายในการไปเชียงใหม่ของเราจะไปให้ถึงด้วยจำนวนชั่วโมงเท่าไหร่ นี่คือความแตกต่างของการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน

ความท้าทาย 3 ด้านกับโลกใบเดิมที่ไม่เหมือนเดิม

ในมุมของคุณมิ่งยอมรับว่า ในยุค COIVD-19 แบบนี้ ได้บีบบังคับให้คนทำงานทุกคนต้องคิดเร็วทำเร็ว และที่สำคัญผู้บริโภคก็ยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ด้วยเช่นกัน คุณมิ่งยกตัวอย่างสถานการณ์การฉีดวัคซีน ที่ถึงแม้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผู้บริโภคก็ยอมรับที่จะสมัครลงทะเบียนเพื่อป้องกันดีกว่ารอให้ทุกอย่างพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งบริบทเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้ามาท้าทายทั้งตัวคนทำงานและบริษัทเป็นอย่างมาก โดยคุณมิ่งวิเคราะห์องค์ประกอบความท้าทายออกเป็น 3 ด้าน

1. DEMAND

ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปเป็นความท้าทายแรกที่ต้องเจอ คุณมิ่งแชร์ประสบการณ์ของ AP THAILAND เช่น ลูกค้าอยากได้บ้านที่สามารถ Customize ให้พวกเขาได้ ไม่ใช่ได้แบบธรรมดาแล้วเสร็จ แต่ต้องได้แบบ Real Time ด้วย นั่นเพราะลูกค้าเองก็อยากได้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนกัน นี่คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากกลุ่มลูกค้าในอดีตที่เคยเจอ วิธีแก้ไขคือการตั้งเป้าหมายว่าจะตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร ด้วยวิธีอะไร สุดท้ายคุณมิ่งและทีมได้มีการไปสัมภาษณ์ความต้องการของลูกค้าทั้งภาพเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อถอดความคิด ความต้องการ และประสบการณ์ที่ลูกค้าต้องการจริงๆ ในการนำมาสร้างสรรค์ออกแบบให้สอดคล้องกับพวกเขา

2. COMPETITOR

ยุคที่ผันผวนแบบนี้ทำให้การแข่งในตลาดดุดเดือดมากขึ้น อย่างอสังหาฯทุกคนจะพูดถึง 3 เรื่องหลักคือ Location Quality Innovation ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ยากจะแยกออกมาจากคู่แข่ง เพราะตอนนี้หลายคนก็เข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถเรียนรู้กันได้เร็วมาก ดังนั้น การแข่งขันที่ดีจึงไม่ได้วัดกันที่ฟังก์ชั่นอีกต่อไปแล้ว

3. COMPANY

การจะได้รับชัยชนะจากการแข่งขัน เราจำเป็นต้องมีทีมข้างในที่แข็งแกร่ง บริษัทจึงต้องมีเป้าหมายที่ชัด เพื่อสื่อสารออกไปให้ทุกคนในบริษัทได้รับรู้ต่อทิศทางและเป้าหมายที่จะไป โดยสิ่งที่สื่อสารนั้นต้องเข้าถึงและสามารถนำไปปรับใช้ทุกระดับตั้งแต่ตัวบุคคลไปจนถึงแผนก นั่นคือพลังของ THE POWER OF PURPOSE ซึ่งมีแก่นสำคัญอยู่ 3 ข้อหลัก

สร้างความเข้าใจ

การมี PURPOSE ที่ดี จะทำให้เราไปได้ไกลกว่าแค่การสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ แต่เราสามารถไปได้ไกลกว่า ลึกกว่า มีคุณค่ากว่า ด้วยการรับฟังและเข้าใจลูกค้า ซึ่งทำให้ลูกค้าเกิดความเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ และทำให้ลูกค้าเกิดพฤติกรรมที่ภักดีต่อแบรนด์ นี่คือพลังของความเข้าใจลูกค้า

สร้างประสบการณ์

พลังของเป้าหมายที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การสร้างประสบการณ์ของลูกค้ามากกว่าจะสร้างฟีเจอร์จากเทคโนโลยีทั่วไป โดยสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดความพิเศษอะไรเลย ถ้าเราไม่ถอดความต้องการของลูกค้ามาสร้างประสบการณ์ และส่วนใหญ่เทคโนโลยีมักจะเกิดการผสมผสานกันต่อการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย อย่างใน AP คุณมิ่งเล่าว่าเราไม่ตื่นเต้นกับฟีเจอร์ แต่เราจะตื่นเต้นกับการนำเทคโนโลยีไปสร้างอะไรให้กับลูกค้ามากกว่านั่นเอง  

สร้างวัฒนธรรม

การมี PURPOSE ที่ดี จะส่งผลต่อการสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร เพราะทุกคนจะเข้าใจเป้าหมาย กระบวนการ และเกิดอิสรภาพในการตัดสินใจในแต่ละหน่วยงานโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้บริหาร ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงานที่สอดคล้องกับยุคนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ บริษัทจำเป็นต้องมีการสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ถ้าไม่สื่อสารทุกอย่างก็จะย้อนกลับไปสู่ผู้บริหาร และความเชื่องช้าต่อการคิด ตัดสินใจ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าจะล่าช้าไปในที่สุด  

NOT PRODUCT BUT INSPIRE

การตั้งและส่งมอบ PURPOSE ที่ดีนั้นต้องเราต้องฟังเสียงและรับรู้ประสบการณ์ของลูกค้า อย่างของ AP THAILAND ไม่ได้มาแค่สร้างบ้าน แต่ PURPOSE ของ AP คืออยากให้การอยู่บ้านของลูกค้าดีที่สุด หากยังนึกภาพไม่ออก คุณมิ่งชวนเราไปมอง PURPOSE ของแบรนด์ไนกี้

ไนกี้ไม่ได้ผลิตแค่รองเท้า แต่ไนกี้กำลังสร้าง INSPIRATION & INNOVATION พร้อมเชื่อว่าทุกๆคนเป็นนักกีฬาได้ เขาเริ่มจากภายในก่อนด้วยการสร้างวัฒนธรรมและความเชื่อแบบนั้น จากนั้นจึงค่อยออกแบบให้มีสนามบาสให้เล่น มีโค้ชสอน หรือถ้าหลายคนเคยไป NIKE STORE ก็จะมีการทดลองวิ่ง มีสนามบาสให้ทดลองเล่น หากมองไปที่มุมโฆษณา ไนกี้ไม่ได้ทำการโฆษณาขายรองเท้า แต่ไนกี้ขาย INSPIRATION ที่เชื่อว่าทุกคนเป็นนักกีฬาได้ต่างหาก

ซึ่งวิธีคิดของ AP ก็เหมือนกัน เราเกิดมาเพื่อสร้างประสบการณ์ของลูกค้า เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าเพื่อให้เขาใช้ชีวิตในรูปแบบที่เขาต้องการ บ้านไม่ใช่แค่บ้าน แต่ทำบ้านยังไงให้มีประสบการณ์ที่มีความสุขมากขึ้น

แยกให้ออกว่า VOICE หรือ NOISE นั่นแหละ PURPOSE

นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าเราจะแยก PURPOSE ของลูกค้าที่แท้จริงออกมาได้อย่างไร แม้ว่าเราจะฟังเสียงของลูกค้าก็ตาม คุณมิ่งอธิบายว่าที่ AP เราแยก VOICE กับ NOISE จากศาสตร์ DESIGN THINKING  โดยใช้หลักที่ฟังเหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายนั่นคือ EMPATHY (ความเข้าอกเข้าใจ)

คุณมิ่งย้ำว่า มันยากและแตกต่างจากการทำรีเสิร์ชทั่วไป เพราะเราต้องคุยกับลูกค้าว่า ทำไมเขาถึงชอบฟีเจอร์นี้ และต้องถามไปต่อว่า ทำไมถึงคิดแบบนั้น จนกว่าเราจะถอดออกมาได้ว่า ลูกค้าชอบเพราะประสบการณ์และการคาดหวังจากประสบการณ์อะไรที่พวกเขาอยากจะได้

คุณมิ่งยกตัวอย่างกรณีถ้าเป็น NOISE เราจะได้รับข้อมูลความต้องการแค่ว่า อยากได้ห้องนอนใหญ่ๆ ครัวใหญ่ๆ ซึ่งหากเอาข้อมูลนี้ไปทำจริง ดันบอกแพง ดังนั้น เราจำเป็นต้องไล่ถามและขยายความว่าทำไมต้องห้องนอนต้องใหญ่ หรือความใหญ่มีความหมายอะไรไหม

หรืออย่างเช่น ลูกค้าอยากได้ครัวสวยๆ คำถามคือลูกค้าเคยทำกับข้าวไหม หรือแค่อยากโชว์เพื่อน หรือไว้รองรับแขก ดังนั้น เราต้องรู้ความต้องการและประสบการณ์ของลูกค้าที่แท้จริง เพื่อที่จะได้แนะนำฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ตรงความต้องการและเกิดความพึงพอใจ โดยครัวสวยๆ ที่ลูกค้าอยากได้ อาจตั้งอยู่ห้องกลางไว้โชว์ก็ได้ ถ้าเรารู้ว่าเป้าหมายของการมีครัวสวยๆ ของลูกค้าคืออะไร

THE POWER OF PURPOSE

จากเนื้อหาทั้งหมดมานี้ ผมเชื่อว่าเราน่าจะเห็นความสำคัญของพลังในการกำหนดเป้าหมาย รวมถึงกลยุทธ์และกลวิธีในการถอดประสบการณ์และความต้องการของลูกค้าจากประสบการณ์จริงของบริษัท AP THAILAND ที่คุณมิ่งได้มาแชร์ให้พวกเราฟังกัน

ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการกำหนดเป้าหมายหลายๆ อย่างในชีวิตนะครับ โดยเฉพาะเรื่องการเติบโตในสายงาน การขึ้นเงินเดือน และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าหากเราได้อ่านและเข้าใจอย่างแท้จริง

นี่คือโอกาสที่ดีอีกครั้งที่เราจะได้ทบทวนตัวเองว่าเป้าหมายที่เราจะไปให้ถึงนั้น

เราควรจะเดิน นั่งรถ หรือนั่งเครื่องบิน เพื่อที่จะไปถึงได้ตามที่วางแผนไว้ดี

นี่คือหลักคิดสำคัญของ THE POWER OF PURPOSE ครับ

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19

APPLE : https://apple.co/2TXdzUr

SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC

YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT

PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *