ผมเคยมีโอกาสไปฟังคุณเอกพล พงศ์สถาพร จอมทัพใหญ่จาก TIPCO มาบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำงานให้แก่เหล่าสตาร์ทอัพได้ฟังกันอย่างสนุกสนานมากๆ เพราะคุณเอกพลอนุญาตให้ยกมือถามได้ตลอดเวลาที่เขาบรรยายครับ
เชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ TIPCO แล้ว หลายคนมักจะนึกถึงน้ำผลไม้เป็นหลัก ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ TIPCO ไม่ได้เป็นแบรนด์ขายน้ำผลไม้ นั่นเป็นเพียงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ภายใต้ภารกิจหลักของ TIPCO ที่อยากนำสุขภาวะที่ดีมาสู่สังคม เขียนมาแบบนี้หลายคนอาจจะงงว่า อ่าว…ก็ฉันรู้จักแค่นั้นนี่หน่า แล้วมีอะไรที่ฉันน่าจะเคยเห็นอีกบ้าง
น้ำแร่ AURA
WAVE (Natural Sport Drink)
สัปปะรดหอมสุวรรณ
ร้านอาหาร August
นี่คือผลิตภัณฑ์บางส่วนที่อยู่ภายใต้แบรนด์ TIPCO ครับ ตอนที่คุณเอกพลเฉลยออกมาก็พบว่าผมรู้จัก น้ำดื่มออร่า กับ WAVE WAVE (Natural Sport Drink) ในขณะที่คนอื่นๆ ก็เคยได้ยินชื่อและเคยกินสัปปะรดหอมสุวรรณที่ตอนนี้วางจำหน่ายตาม Max Value เป็นหลัก ส่วนร้านอาหาร August ร้านอาหารที่เน้นอาหารสุขภาพก็อยู่ในช่วงทยอยเปิดครับ
ผลิตภัณฑ์ภายใต้ภารกิจ (Mission) นี้มีหลายคนสงสัยว่า อะไรคือหลักคิดที่ทำให้เกิดแนวคิดนี้ขึ้นมา คุณเอกพล ตอบได้อย่างเห็นภาพชักเจนไว้ว่า
หลักคิดของ Mission คือการที่คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณเกิดมาทำไม ส่วน Vision นั้น ก็คล้ายกันคือ คุณอยากเห็นอะไร TIPCO เกิดมากอยากนำสุขภาวะที่ดีมาสู่สังคม และอยากเห็นผู้คนมีสุขภาพที่ดีในทุกๆ ด้าน

นอกจากนั้นคุณเอกพลยังพาอธิบายภาพโดยรวมที่ TIPCO อยากจะไปในอนาคต ผ่านขั้นตอนการทำ Branding การหา Consumer Insight ที่เน้น Social Listening เป็นหลัก และการมุ่งมั่นทำ R&D (Research and Development) รวมถึงการกระโดดมาเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ให้แก่แบรนด์ SME รายย่อยที่อยากสร้างผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง เพื่อเพิ่มทักษะการผลิตและการเรียนรู้จากผลิตภัณฑ์ที่อยู่นอกขอบเขตของ TIPCO ด้วย และไม่มีนโยบายที่จะลอกเลียนแบบแต่อย่างใด
นอกเหนือเรื่องของแบรนด์และผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การบริหารคน ซึ่งพอพูดถึงเรื่องนี้คุณเอกพลก็ถอดหายใจและส่งรอยยิ้มกลับมาให้แก่ผู้ฟังโดยทันที ก่อนที่จะเอยขึ้นว่า
“บริหารอะไรก็ได้ไม่ยากเท่าบริหารคน”
คุณเอกพลเล่าว่า “ต้องยอมรับก่อนว่าเราไม่สามารถบริหารให้คนทุกคนเหมือนกันได้ ฉะนั้น เวลาประเมินพนักงาน คุณคิดว่าเราควรประเมินพวกเขาจากจุดแข็ง (Strength) หรือ จากจุดอ่อน (Weakness)”
มีหลายเสียงส่งคำตอบไปให้คุณเอกพล ซึ่งได้แต่ยืนฟังไปพร้อมกับรอยยิ้ม
คุณเอกพลเฉลยแนวทางการบริหารคนของเขาว่า สมัยก่อนเราอาจจะเน้นจุดอ่อน แต่เดี๋ยวนี้จุดอ่อนของแต่ละคนเป็นเรื่องที่แก้ได้ยากมาก แถมบางทีลงทุนแก้ไปแล้วก็เสียเวลาเสียต้นทุนหลายอย่างและไม่ได้อะไรกลับมา ดังนั้น เราควรกลับไปมองจุดแข็งของเขาว่า เขาทำอะไรได้ดี และเหมาะสมไหมต่อสิ่งที่ทำ
การหาจุดแข็งของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ดีที่สุด บางครั้งพอเราหาจุดแข็งของพนักงานเจอก็มีการออกแบบหน้าที่การทำงานให้ใหม่ก็มี (Design Job) ตอนที่ฟังคุณเอกพลพูดถึงเรื่องนี้ก็นึกถึงหนังสือ Strengths Finder ของ ดอน คลิฟตัน มาเหมือนกัน นี่อาจเป็นแนวทางที่น่าจะเอามาประยุกต์ใช้ได้กับจุดแข็งที่แต่ละคนมี
ความน่าประทับใจหลังจากนั้น คือ ความใส่ใจต่อพนักงานทุกระดับที่ยื่นเข้ามาสมัครงาน TIPCO เพราะทุกคนที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ คืออนาคตที่จะร่วมผลักดันภารกิจการนำสุขภาวะที่ดีสู่สังคม และการที่จะเกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นได้ต้องเริ่มจากภายใน และนี่คือขั้นตอนแรกๆ ที่คุณเอกพลใส่ใจ ด้วยการลงไปสัมภาษณ์พนักงานทุกระดับด้วยตัวเอง

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน