อาการปวดใจในการทำงาน อาจเริ่มตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์แล้ว
อาการของมันค่อย ๆ ออกฤทธิ์ ด้วยการทำให้เรากระวนกระวาย
ไม่อยากตื่นขึ้นมาในเช้าวันจันทร์ แถมยังแอบคิดในใจ
ถ้าลาออกได้ ก็อยากออกเลย แต่ติดตรงที่ภาระเยอะเหลือเกิน
.
จริง ๆ อาการปวดใจ เริ่มสังเกตได้จากสีหน้า แววตา และพลังในการทำงานที่ลดลง พร้อมกับความเงียบและความเครียดแฝง เพื่อเก็บอาการไม่ให้คนอื่นรู้
.
นอกเหนือจากนั้นยังอาจมีหลักฐานากสิ่งของที่วางอยู่บนโต๊ะ เช่น แผงยาชนิดพาราเซตามอล ที่ช่วยลดไข้จากอาการปวดหัว แต่ไม่ได้ลดอาการปวดใจเอาเสียเลย
.
ปัญหาปวดใจเป็นปัญหาโลกแตก โดยมากเกิดจาก 2 แบบ คือ ตัวงาน กับ ตัวคน
.
ข้อดีของตัวงานต้องแบ่งออกเป็นชนิดของมัน เช่น ตัวงานในเชิงของหน้าที่และคุณสมบัติที่เราขาดไปหรือเปล่า กับตัวผลงานที่กำลังทำอยู่
.
กรณีเป็นตัวงานที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของเรา ก็ต้องลองเช็กว่าจากระยะเวลาที่ทำมา เราเหมาะกับมันไหม และถ้าเพิ่มในสิ่งที่ขาดไป เราจะแฮปปี้ขึ้นหรือเปล่า
.
ส่วนตัวผลงานที่ทำอยู่ ถ้ามันทำให้เราปวดใจ ก็ลองเช็กภาพรวมว่าเป็นแค่งานนี้งานเดียวหรือไม่ ถ้าใช่ก็ลองเช็กดูอีกทีว่า ระยะเวลาที่งานนี้จะจบลงมันอีกนานแค่ไหน
.
แยกเป็นส่วนแบบนี้ก็พอจะเห็นอาการ เพื่อจ่ายยาในการหาคำตอบให้ตัวเองได้บ้าง
.
ทีนี้มาประเภทเรื่องของคน เป็นด่านที่ปวดใจที่สุดเหมือนกัน เพราะคนมันแก้ยาก จบก็ยาก ไม่เหมือนงานที่มีวันเดทไลน์
.
แต่เรื่องคนก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเยียวยาเลย ถ้าเราไม่ลองคุยกันแบบมีขอบเขต คือ ไม่เน้นอารมณ์เป็นส่วนเกี่ยวข้อง เพราะการคุยกัน นอกจากจะเปิดประตูเรื่องความคิดเห็น ยังเป็นการให้เรา ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน เห็นวิธีคิดและทัศนคติของกันและกันได้ตรงไปตรงมาว่า สุดท้าย ควรจะทำงานด้วยกันต่อ หรือไม่ก็แยกย้ายจากกัน
.
ซึ่งไม่ว่าจะจบลงตรงไหนก็ดีทั้งนั้น เพราะเราได้รู้เหตุผลจากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันแล้ว ที่สำคัญเป็นการเยียวยาความสงสัยและการคิดไปเองในบางส่วน ซึ่งมักเกิดขึ้นในสังคมดราม่าของออฟฟิศแบบไทย ๆ เป็นอย่างมาก
.
แต่ถ้าทั้งเรื่องงานและเรื่องคน ยังคงค้างคาไป ๆ มา ๆ อยู่แบบนี้
ต่อให้เรากินยาพาราเพื่อหวังว่าจะบรรเทาอาการปวดใจในออฟฟิศ
ลองใช้วิธีคิดเยียวยากับอาการเหล่านี้ดูก่อนก็ดีครับ

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน