ถ้าให้พูดถึงเรื่องเงินในเวลานี้ มนุษย์เงินเดือนหลายคนก็จะเริ่มปริปากบ่นกันถึงรายได้ที่เริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะไหนจะฐานเงินเดือนไม่ขยับมาหลายปี โบนัสก็ไม่มีมาหลายเดือน แถมยังมีวิกฤติเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้น จนเริ่มเข้าถึงสินค้าและบริการยากไปตาม ๆ กัน
สถานการณ์ในชีวิตประจำวัน
ระยะหลังเวลาผมเดินทางไปไหนมาไหนด้วยมอเตอร์ไซค์วิน หรือแกรปวิน ผมก็ลองสอบถามดูว่า เต็มถังเดี๋ยวนี้จ่ายเท่าไหร่ ปรากฏว่าตอนนี้ใช้เงินประมาณ 120 – 160 ถึงจะเต็มถัง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ 50-60 บาทก็เต็มแล้ว ราคาน้ำมันก็ขึ้นโหดเหมือนโกรธใคร ส่วนเรื่องการหารายได้จากลูกค้าก็เฉลี่ยเท่าเดิม ส่วนร้านค้าต่าง ๆ จากที่เคยคุย ก็ขายได้บ้างตามปกติสำหรับร้านที่มีหน้าร้าน ส่วนร้านที่ขายออนไลน์บางร้านก็มียอดขายลดลงจากการที่คนเริ่มกลับไปทำงานกันตามปกติกันบ้างแล้ว
กอดขาเก้าอี้สุดฤทธิ์
เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ การจะต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ต้องเริ่มจาก การรักษาแหล่งรายได้ให้เกิดความมั่นคงในระยะเวลาหนึ่งก่อน โดยเฉพาะงานประจำที่ทำอยู่ และก็ควรทวนให้รายละเอียดมากขึ้นด้วยว่า ตอนนี้เรามีสิทธิอะไรบ้างในบริษัท เช่น ประกันสังคม ประกันกลุ่ม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้เรารู้ว่าอย่างน้อยทำงานที่ปัจจุบันมีสินทรัพย์อะไรบ้าง
เงินฉุกเฉินสำคัญมาก
ข้อต่อไปคือ สัดส่วนของเงินสดในบัญชีสำรองฉุกเฉินว่ายังเข้าเกณฑ์ตำรา 6 เดือนไหม ถ้ามีอยู่แล้วจะใส่ต่อเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าเพียงพอแล้ว และงานที่เราทำอยู่กับความต้องการของตลาดยังมีโอกาสอยู่มาก หากตกงานขึ้นมากะทันหัน ก็นำเงินออมส่วนที่กันเปอร์เซ็นต์ไว้ในแต่ละเดือนไปลงทุนต่อ ตามความเหมาะสมของสภาพคล่องแต่ละคน
ลงทุนหาดอกเบี้ยที่รับได้มาต่อสู้เงินเฟ้อ
ทีนี้พอมาในหมวดการลงทุน ก็ต้องประเมินให้ดีว่า เงินที่เราจะเลือกลงทุนนี้จะนำไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่เรามีความรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับระดับความเสี่ยง รวมถึงการรอคอยได้นานแค่ไหน เพราะสินทรัพย์นั้นมีมากมายเหลือเกิน เช่น
– หุ้น
– กองทุน
– ประกัน
– หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล
– สลากออมทรัพย์
– บัญชีออมทรัพย์
ซึ่งสถานการณ์ ณ เวลานี้ สินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นและกองทุน (หุ้น) ก็มีความผันผวนอยู่พอสมควร บางคนอาจคิดว่า เงินก็เฟ้อ ตลาดหุ้นก็ขาลง การใส่เงินเข้าไปก็อาจทำให้เงินต้นหายไปทั้งมูลค่าและจำนวนที่ลงทุนไปก็ได้ในเวลานี้ การจะหาทางนำเงินสดไปรักษามูลค่าเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่าง หุ้นกู้ (เกรดเอ) หรือพันธบัตรรัฐบาล ที่มีกรอบเวลาและการจ่ายดอกเบี้ยที่ชัดเจน ถึงแม้จะไม่สูงมาก ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับคนที่ไม่อยากให้เงินสดนอนจมบัญชีอยู่เฉย ๆ
ส่วนสลากออมทรัพย์ก็น่าสนใจสำหรับคนทำงานที่เป็นสายลุ้นรางวัลใหญ่ไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าออมไปด้วยกินดอกเบี้ยนิด ๆ หน่อย ๆ ไปพร้อมกับลุ้นสลากสำหรับการเป็นผู้โชคดีในการรับรางวัลใหญ่ของแต่ละธนาคารที่ทำสลากออมทรัพย์ออกมาก็สร้างสีสันในช่วงนี้ได้ไม่น้อย
แต่ไม่ว่าเราจะเลือกลงทุนอะไร เงินสดก็ยังเป็นหัวใจสำคัญต่อการใช้ชีวิตอยู่ดี
ดังนั้น การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การบริหารหนี้สิน และการทำงบล่วงหน้าประจำปี จึงเป็นการประเมินอนาคตที่ต้องทำ เพื่อเราจะได้เตรียมตัวเอาไว้ได้เนิ่น ๆ ว่า ยุคเงินเฟ้อแบบนี้ ควรกอดเก้าอี้ไว้ให้แน่น ใช้เงินอย่างระมัดระวัง หักออมก่อนใช้เป็นประจำ และมองหาสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ที่อย่างน้อยยังมีดอกเบี้ยเล็ก ๆ น้อย ๆ มาต่อยอดมูลค่าเงินต้นไม่ให้จมไปกับเงินเฟ้อกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ซึ่งจากสถิติในวิกฤติที่ผ่านมา กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี กันเลยทีเดียว

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน