เจ็บปวดมากอย่าเก็บเอาไว้ แค่ระบายมันออกมา

8 June 2020

‘สุข คือ ความไม่กลัวอะไร’

คำตอบอันแสนสั้นของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้ผมฉุดคิดถึงความสุขในชีวิตของตนเองและผู้อื่นที่อยู่แวดล้อมตัวผม ไม่ว่าจะอยู่ในโลกจริงหรือโลกอินเตอร์เน็ตก็ตาม

ในเฟซบุ๊กของผมเต็มไปด้วยเพื่อนทุกระดับชั้น ไล่ตั้งแต่อยู่เฟรต คอนโด ทาว์นเฮาส์ ตึกแถว ไปจนถึงบ้านเดี่ยว

ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี ผมจะเห็นสิ่งที่เหมือนกันของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะระดับใดก็ตาม

นั่นคือ ‘ความสุข’ กับ ‘ความทุกข์’ ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนวนเข้ามาในชีวิตของเพื่อนแต่ละคน บ้างก็เป็นเรื่องความรัก สุขภาพ การเงิน การเงิน ฯลฯ

แต่หากคาดคะเนด้วยสายตาและความรู้สึกแล้ว ผมพบว่าการแสดงออกว่าตนเองมีความสุขจะมีปริมาณมากกว่าการเผยแพร่ความทุกข์ให้คนอื่นรับรู้

นี่จึงเป็นประเด็นที่ผมตั้งคำถามและสนใจว่า การเผยความทุกข์หรือมุมความอ่อนแอของเราให้ผู้อื่นรับรู้นั้นมันมีแต่ข้อเสียอย่างเดียวหรือไม่ และการซ่อนความอ่อนแอเหล่านั้นจะทำให้เราแข็งแกร่งในสายของตาบุคคลรอบข้างจริงหรือ…

ลองมองย้อนกลับไปยังสถานที่ทำงานของคุณสิครับ ว่าเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าแบบไหนที่คุณสามารถเข้าถึงง่ายกว่ากัน

เพื่อนร่วมงานที่เปิดใจ ไม่วางมาด หรือกรอบบางอย่างมากเกินไปใช่ไหมครับ หากคิดไม่ออก ลองนึกถึงลักษณะนิสัยของเพื่อนสมัยมัธยม นั่นจะทำให้คุณร้องอ๋อเลยทันที

หัวหน้าที่พวกคุณเข้าถึงยากก็เช่นกัน เพราะเขาไม่ยอมเผยมิติความอ่อนโยนมาให้พวกคุณเห็น ซึ่งจริงๆ แล้ว นอกเหนือจากเรื่องการทำงาน เขาอาจไม่ใช่ปีศาจแบบที่คุณเห็นในที่ทำงานก็ได้ แต่เพราะการทำงานนี่แหละที่ทำให้เขาต้องสร้างภาวะที่แข็งกร้าวและเด็ดขาด

ที่ปรึกษาของผมเคยเปรียบเปรยว่า พฤติกรรมเหล่านี้ของคนทำงานไม่ว่าจะเป็นระดับปฏิบัติการหรือผู้บังคับบัญชา ไม่ได้แตกต่างอะไรกับคุณหมอที่ต้องอธิบายอาการหรือโรคด้วยศัพท์แสงที่ยากๆ ให้คนไข้ฟังเสมอ

เพราะคุณหมอกลัวจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือนั่นเอง

ผมเองก็เคยมีความคิดเหมือนหลักการของหมอที่สื่อสารกับคนไข้นั่นแหละ

มาร์ก กูลสตัน เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ Just Listen ว่า

เวลาที่คุณกลัว เจ็บช้ำ หรืออับอาย ทว่าคุณยังเลือกที่จะฝืนปกปิดความรู้สึกเอาไว้ เพราะคุณเกรงว่าคนอื่นจะไม่นับถือ

มาร์ก แนะนำทางออกง่ายๆ ว่าให้คุณเผยความอ่อนแอในใจออกไปบ้าง ความกลัว ความเหงา หรือหาทางแก้ไขปัญหานี้ไม่ออก ซึ่งการเผยออกไปลักษณะนี้จะทำให้อีกฝ่ายสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงของคุณได้เช่นกัน

แท้จริงแล้วข้อมูลของมาร์ก กูลสตัน นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากซึ่งจำเป็นต้องประสานงานต่อเป็นทอดๆ การเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นระหว่างการทำงานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบอกความจริงแก่กัน เพื่อให้งานนั้นเดินหน้าต่อไป (แต่ส่วนใหญ่มักจะอมปัญหาจนกว่าจะเกิดเรื่อง)

การเผยความอ่อนแอออกไปนั้นใช่ว่าจะใช้ในเรื่องงานเพียงอย่างเดียว หากแต่จำเป็นต่อการให้คนในครอบครัวของคุณสัมผัสได้ด้วย

คีธ เฟอร์ราซซี ผู้เขียนหนังสือ Who Got Your Back ได้เปิดมุมมองให้เรามองเห็นการเผยความอ่อนแอของชีวิตในครอบครัวให้เป็นเรื่องสวยงาม

คีธบอกว่าการเผยความอ่อนแอออกไปให้กับคนในครอบครัวที่ห่วงใยคุณอยู่แล้ว จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและได้รับกำลังใจมากขึ้น โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งมีสายใยผูกพันทางกายและใจ

แม้ปกติท่านอาจจะพูดจาไม่เข้าหูหรือชอบบงการชีวิตเราบ้างก็ตาม แต่เมื่อคุณเผยรอยแผลแห่งความรู้สึก พนันได้เลยว่า ท่านจะไม่น้ำเกลือมาโรยซ้ำแน่นอน

ในทางกลับกันท่านจะใช้ความรู้และประสบการณ์มาช่วยไขปัญหาให้คุณมองเห็นทางสว่างมากขึ้น

สุข คือ การไม่กลัวอะไร

อาจไม่ใช่ความไม่กลัวต่อบุคคลแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้องด้วย เช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือแม้กระทั่งพ่อแม่พี่น้องในครอบครัว

หากแต่เป็นใจเราเองต่างหากที่ไม่ควรปกปิดหรือหลอกตัวเองให้อยู่ในโลกแห่งความสมบูรณ์แบบจนเกินไป

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วความสุขกับความทุกข์คือความจริงที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ามันคือส่วนหนึ่งของการสร้างความสมดุลให้แก่ชีวิตเรา

เพียงแต่สิ่งที่เราเห็นอยู่ด้านเดียว อย่างเช่น การแสดงความเสพ สุขบนเฟซบุ๊กนั้น

เป็นเพียงโลกมายาคติที่ถูกสมมติขึ้นมาเพื่อซ่อนความทุกข์ ความอ่อนแอ และความผิดหวัง เอาไว้เป็นความลับชั่วคราวเท่านั้นเอง …

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก’

อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4

SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com

=========================
TWITTER : https://twitter.com/Office04TH
WEBSITE : https://office04.org/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *