เป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าการหมั่นพัฒนาตัวเองคือทางรอดสำหรับการทำงานยุคนี้ และการพัฒนาคนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของผู้นำที่จำเป็นต้องหมั่นทำกับทีมงานเพื่อให้เกิดคุณภาพที่ดีขึ้นในหลายๆ มิติ เราจึงเห็นองค์กรใช้งบประมานส่งคนไปเรียนตามคอร์สที่สอดคล้องกับหน้าที่การงานกันมากขึ้น
แม้หลายคนอาจมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะเมื่อพัฒนาคนจนเก่งแล้ว หากวันหนึ่งเขาไม่อยู่กับเราจะทำอย่างไร แต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่น่ากลัวกว่าถ้าเราไม่พัฒนาคนเหล่านั้น แล้วถ้าพวกเขายังอยู่กับเรา นั่นคือ หายนะอย่างแท้จริง
สิ่งที่ผู้นำพอจะทำได้นั้นคือการ Coaching แบบ 1 on 1 Meeting ที่เป็นทั้งกลยุทธ์และกลวิธีต่อการพัฒนาคนที่ผู้นำหรือหัวหน้าสามารถนำไปใช้ได้ครับ ซึ่งหลายคนอาจรู้จักการประชุมแบบหนึ่งต่อหนึ่งจากหนังสืออันเลื่องชื่อของ Ben Horowitz อย่าง Hard Thing about Hard Things ที่ได้อธิบายถึงประโยชน์ของการประชุมนี้โดยภาพรวมว่า นี่คือการประชุมที่เปิดโอกาสให้ผู้นำได้ฟังทั้ง ความคิด ความฝัน และปัญหาของพนักงานทั้งเรื่อการทำงานและชีวิตส่วนตัวแบบที่ไม่เคยเข้าถึงและเข้าใจพวกเขามาก่อน
หากจะให้มองประโยชน์อีกมุมของการประชุมแบบหนึ่งต่อหนึ่งนั้น คือการฝึกให้ผู้นำกลายเป็นผู้ฟังและเปิดเวทีให้พนักงานได้เทความรู้สึกนึกคิดออกมากองให้หมด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำหาวิธีการเจียรไนให้พนักงานเหล่านั้นกลายเป็นเพชรเม็ดงามต่อการเติบโตในหน้าที่การงานให้สอดคล้องต่อเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้
กระบวนการของการประชุมแบบหนึ่งต่อหนึ่งนั่นไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน แค่เริ่มต้นด้วยการนัดตารางและเวลา โดยใช้เวลาไม่ต้องนานมาก เฉลี่ย 30 นาที และไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง เน้นบรรยากาศสบายๆ และมอบประเด็นหลักให้พนักงานเป็นคนเตรียมตัวมาเล่าให้ฟังเป็นหลัก ที่สำคัญสถานที่ที่นั่งคุยกันควรเป็นสถานที่ปิด เพราะการพูดคุยแบบเปิดอกจากพนักงานนั้นมักมีเรื่องที่เปราะบางซ่อนอยู่เสมอ
หลายคนอ่านมาถึงบรรทัดนี้อยากรู้ว่าถ้าจะนำการประชุมแบบนี้ไปใช้บ้างต้องเริ่มต้นอย่างไร เรามีเทคนิคในการเริ่มต้นมาฝากกันครับ
หากเรากำหนดเวลาพูดคุยกันประมาณ 30 นาที ลองใช้กฎ 10 : 10 : 10 ด้วยการแบ่งเป็น
10 นาทีแรก คุยเรื่องชีวิตส่วนตัว
10 นาทีต่อมา แลกเปลี่ยนความคิด
10 นาทีสุดท้าย ถามเรื่องการงาน การเติบโต และสิ่งที่อยากพัฒนาตัวเอง
ที่สำคัญทิศทางในการตั้งคำถามต่อพนักงานที่คุยด้วยควรเป็นในเชิงสนับสนุนหรือเปิดรับต่อปัญหาในสิ่งที่พวกเขาอยากให้เราแก้ไข ซึ่งการทำแบบนี้จะยังเป็นการสร้างความสนิทไว้เนื้อเชื่อใจ และยังเป็นการสร้าง Personal Engagement ไปในตัวด้วย ที่สำคัญการประชุมแบบหนึ่งต่อหนึ่งนี้ควรทำไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแล้วแต่เราจะกำหนด เช่น สัปดาห์ละครั้ง หรือ สองสัปดาห์ครั้ง
ที่สำคัญกว่านั้นการเลือกประชุมแบบหนึ่งต่อหนึ่งเราควรเลือกคนที่เป็นหัวหน้าในทีมมาก่อน หรือคนที่เรามองว่ามีแววและมีคุณสมบัติที่น่าสนใจพอต่อการพัฒนาความสามารถและสร้างประสิทธิภาพต่อบรรยากาศในการทำงานโดยรวมได้ สุดท้ายเทคนิคนี้ยังสามารถใช้กับพนักงานทุกระดับได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราคนที่เราเลือกนั้นเรามองเห็นอะไรในตัวเขา และเราอยากให้เขารู้จักเราในมุมใดบ้าง นอกเหนือจากภาพจำของการเป็นผู้นำที่มีแต่ภาพนั่งเซ็นเอกสารหรือยืนสั่งการเพียงอย่างเดียว
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน