เปลี่ยน ‘ความกลัว’ เป็น ‘ความตื่นตัว’ ทางเลือกเพื่อทางรอดของมนุษย์เงินเดือน

22 September 2020

หลายวันก่อนมีข่าวใหญ่ในวงการมนุษย์เงินเดือนออกมานั่นคือ บริษัทแห่งหนึ่งได้มีการปลดพนักงานจำนวนหลายร้อยคน แม้ว่าข่าวที่ออกมานี้จะยังมีความไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นสถานการณ์ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราได้ยินกันมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนแล้วกับสภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำว่า ความมั่นคงต่อการทำงานในองค์กรได้หดหายตายจากมนุษย์เงินเดือนยุคนี้ไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าหลายคนจะให้คำนิยามใหม่ว่า ความมั่นคงชั่วคราวในยุคนี้คือการได้สิทธิสวัสดิการในการดูแลรักษาคนในครอบครัวหรือไม่ก็การได้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่คอยสมทบให้ก็ดีใจแย่แล้ว

1) คำถามสำคัญคือ นั่นคือความพึงพอใจสูงสุดในชีวิตแล้วหรือ

สารภาพตามตรงสมัยที่ทำงานแรกๆ ผมก็คิดเหมือนความคิดเบื้องต้น อยากฝากชีวิตไว้กับบริษัทหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปจนถึงเกษียณ เก็บเงินปลูกบ้านไว้ที่ต่างจังหวัดอากาศดีๆ สักแห่ง แล้วมีลูกหลานมาวิ่งเล่น แบบโอ้โหหวานมาก

แต่พอทำงานมาถึง 10 ปีแรกของการทำงาน ความคิดที่อ่อนด้อยประสบการณ์พังทลายตั้งแต่ 4-5 ปีแรก จากประสบการณ์ทั้งเชิงโครงสร้างองค์กรและการทำงาน

ผมพบว่าการอยู่รอดด้วยการมีรายได้จากองค์กรอย่างเดียว คือ สิ่งที่เสี่ยงที่สุด ที่สำคัญโลกมันเปลี่ยนไปชนิดที่ใครหยุดงานไป 1 ปี ก็เหมือนห่างหายไปจากโลกการทำงานนับ 10 ปีเลยทีเดียว ขนาดผู้บริหารท่านหนึ่งที่ผมเคยไปฟังงานบรรยายเวทีหนึ่ง ยังยอมรับว่า ป่วยหนักไป 1 ปี กลับมาทำงานเกือบตามไม่ทันโลกแล้ว นี่คือเกมที่เปลี่ยนไปจากรุ่นพ่อรุ่นแม่เราอย่างสิ้นเชิง

2) ส่วนการแก้ไขปัญหา คือ การใช้ความกลัวมาขับเคลื่อนตัวเอง

อ่านไม่ผิดหรอกครับ ‘ความกลัว’ เนี่ยแหละครับเป็นทั้งเหรียญสองด้านอยู่ที่ว่าเราจะเอามาใช้ด้านไหน เมื่อเรากลัว เราจึงพยายามดิ้นรนจนค่อยๆ หาทางออกเจอบ้าง แม้มันจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็มีทางเลือกเล็กๆ น้อยๆ ไว้หน่อย

ทางเลือกเหล่านั้น คือ ทักษะใหม่ๆ ที่ถูกสร้างจากความกลัว เช่น ทักษะการหาไอเดียเพื่อหารายได้เพิ่ม ทักษะการเจรจาเพื่อเสนองาน ทักษะการทำงานในอาชีพที่เราไม่คิดว่าจะทำได้ เช่น การแปล การเขียน การขายของ การทำการตลาด การพูด เป็นต้น

ยิ่งกลัว ยิ่งต้องพยายามแล้วพยายามอีก จนกว่าความกลัวนั้นจะน้อยลง กลัวที่จะตกงาน กลัวที่ไม่มีรายได้ กลัวที่จะถูกทดแทน กลัวที่จะตามไม่ทันในสายอาชีพที่รัก เมื่อเราฝึกต่อสู่กับความกลัวเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ‘ความกลัว’ จะหายไปเพราะเราฝึกตัวเองจนชินกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงให้อยู่กับตัวเอง จนเรียกว่า ‘ความตื่นตัว’

3) ใช่ครับ ‘ความตื่นตัว’ คือการกลายพันธุ์ของคนที่ใช้ความกลัวให้เกิดประโยชน์

คนที่ตื่นตัวนั้น จากประสบการณ์ของผมทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายถึงจากคนที่รู้จักและติดตามผลงานของพวกเขา คือ เป็นคนที่ช่างสังเกตและจับชีพจรของตัวเองอยู่ตลอด แค่ฟังก็เหนื่อยแล้วนะครับ แต่นี่คือความจริงที่เราต้องสู้กับตัวเองและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

คนตื่นตัว นอกจากสังเกตแล้วชอบตั้งคำถามต่อตัวเองและผู้อื่น เพื่อชวนใช้ความคิดดักทางต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้ ซึ่งทักษะการชวนคิดกับตั้งคำถามเหล่านี้ ก็ต้องอาศัยการบ่มเพาะของประสบการณ์มาก เช่น คุยกับคนอื่นๆ มาก อ่านมามาก เห็นมามาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ถูกสร้างได้ โดยไม่ต้องพึงพาพรสวรรค์ใดๆ ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราเคี่ยวเข็ญตัวเองจากความกลัวจนเป็นความตื่นตัวมากพอไหม

ในมุมมองของผม สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก และมันก็ไม่ได้แบ่งด้วยว่า ตอนนี้คุณจะทำงานเป็นตำแหน่งอะไร หรืออายุเท่าไหร่ ก็สามารถสร้างคุณสมบัตินี้ได้เช่นกัน เพราะนี่คือพฤติกรรมที่เราสามารถออกแบบได้ จากความกลัวที่เกิดขึ้นในโลกของการทำงาน

ถ้าคิดไม่ออก ผมก็อยากให้ลองตั้งสมมติฐานเอาง่ายๆ ว่า ถ้าพรุ่งนี้บริษัทที่เราทำอยู่ได้ประกาศปลดเราออกจากงานกะทันหัน หรือลองสังเกตว่าเด็กรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาแย่งตำแหน่งงานที่เราทำ เพียงแค่นี้แล้ว ลองหาคำตอบต่อตัวเองหน่อยก็ได้ครับว่า

4) เราจะรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร

แน่นอนฟังดูแล้วน่ากลัว แต่ถ้าเราตื่นตัวตั้งแต่วันนี้ ด้วยการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมบริษัทยังจ้างเรา แล้วเราทำอะไรได้อีกนอกเหนือจากที่บริษัทจ้าง แล้วลองหาเวทีหรือโอกาสลองทำในสิ่งที่เราตั้งคำถามไว้ นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิด

ทั้งหมดไม่ใช่แนวทางใหม่…
แต่เป็นแนวทางที่ยุคสมัยบังคับให้เปลี่ยน

เปลี่ยนจากความกลัว….ให้เป็นความตื่นตัว

เพื่อยกระดับทักษะชีวิตให้ดีขึ้นเพื่อวันข้างหน้าครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *