เปิดใจ ไว้ใจ เชื่อใจ 3 สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ในการทำงาน

7 September 2020

เมื่อทำงานมาสักระยะหนึ่ง ผมมักตั้งคำถามว่า พื้นที่ในการทำงานร่วมกันระหว่างคนทำงานกับคนสั่งงานควรอยู่ในระยะไหนเพื่อให้งานออกมาดี เพราะลึกๆ เราเชื่อว่าทุกหน้าที่การทำงานต่างมีขอบเขตของความเชี่ยวชาญ จนกระทั่งไปเจอบทความของ Tina Seeling อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ได้เขียนกระบวนการเรียนรู้จากการทดลองผ่านเด็กจำนวนสองกลุ่มครับ
.
การทดลองนี้ได้แบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่มโดยเตรียมพื้นที่ทดลองไว้คือการนำท่อแต่ละอันเรียงไว้ตามลำดับเสียงสูงและต่ำ ซึ่งจุดมุ่งหมายของการทดลองนี้คือการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กครับว่าจะเป็นอย่างไรจากการได้รับข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันก่อนเดินเข้าไปในพื้นที่การทดลองเหล่านั้น
.
เด็กกลุ่มแรกได้รับข้อมูลเพียงแค่ว่ามีท่ออยู่ในห้อง
.
ส่วนเด็กกลุ่มที่สองได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนว่าท่อแต่ละอันนั้นมีความพิเศษของเสียงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
.
ทันทีที่เด็กกลุ่มแรกเดินเข้าไปในห้องทดลองพวกเขาเดินดูท่อเหล่านั้นและเริ่มทดลองดึงมันขึ้นมาจนเกิดเสียงตามระดับที่ถูกกำหนดเอาไว้ เด็กๆ ต่างตื่นเต้นและประหลาดใจจนเกิดความสนุก
.
เมื่อปุ่มความสนุกทำงาน ความสนใจจึงเกิดขึ้นด้วยการทดลองดึงท่อที่เหลือให้เกิดเสียงต่างๆ บ้างก็ดึงท่อสลับไปมาเพื่อสร้างจังหวะใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ภายในห้องทดลองนั้นจึงกลายเป็นสนามเด็กเล่นไปพร้อมกับห้องซ้อมดนตรีไปโดยปริยาย
.
ในขณะที่เด็กกลุ่มที่สองซึ่งได้รับข้อมูลมาอย่างครบถ้วนกลับมีพฤติกรรมเพียงดึงท่อขึ้นมาแท่งเดียวแล้วก็ไม่ได้เกิดการทดลองหรือเรียนรู้จากท่ออื่นใดๆ เลย เพราะได้ข้อมูลมากเกินไปจนบดบังจินตนาการที่จะสร้างสรรค์การทดลองใหม่ๆ จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเหมือนกับเด็กกลุ่มแรก
.
หลังอ่านการทดลองนี้จบ มันทำให้ชวนผมคิดถึงเรื่องวิธีสื่อสารให้พนักงานหรือลูกน้องในทีมไปทำงานต่อนั้น เราควรกำหนดทิศทางของเนื้อหาและการนำเสนอเอาไว้เป็นกระดูกสันหลังของงาน เพื่อให้งานออกมาไม่ผิดเพี้ยนจากโจทย์ หรือบรีฟที่ได้รับไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรเปิดแง้มไว้คือ พื้นที่ของจินตนาการเพื่ออนุญาตให้ความคิดได้ตั้งข้อสงสัยต่อการทดลองทำในสิ่งใหม่ขึ้นมาบ้างครับ
.
เขียนไปแล้วก็นึกถึงในวันที่ K PLUS ได้รับรางวัลโฆษณาชุด FriendShi(t)p ซึ่งกำกับโดย เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ครับ จำได้ว่าหลังจากไปคว้า 2 รางวัล 2 จากเวที D&AD Awards 2018 ในสาขา Film Advertising Crafts/ Direction for Film Advertising/ 2018 และ สาขา Branded Content & Entertainment/ Fiction Film 5-30 mins/ 2018
.
หลังได้รางวัลมีการเชิญทั้งครีเอทีฟเอเจนซี่ ผู้กำกับอย่างเต๋อ นวพล และคุณพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ที่ทั้งแปลกและแหวกแนวกว่าที่เคยมีมา
.
ผมจำคำพูดช่วงหนึ่งของคุณพัชรได้ว่า เขาไม่รู้จักเลยว่า เต๋อ นวพลเป็นใคร โดดเด่นจากการทำงานชิ้นไหน เขารู้แต่ว่าอยากทำโฆษณา K PLUS ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง การเปิดโอกาสให้ทั้งครีเอทีฟ และผู้กำกับได้ทดลองดึงท่อต่างๆ เหมือนเด็กกลุ่มแรกที่อยู่ในห้องทดลองจึงเริ่มขึ้น จนเกิดงานโฆษณาชิ้นใหม่แปลกตาแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในแวดวงการเงินและธนาคารครับ
.
การเปิดพื้นที่ให้แก่คนทำงานได้สร้างสรรค์นั้นจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ของงานมากๆ ครับ
.
ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีสื่อสารที่แม่นยำกับโจทย์ที่ต้องการไปพร้อมกับเหลือพื้นที่ที่เหลืออาไว้ให้พวกเขาใช้จินตนาการและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ออกมาเหมือนเด็กกลุ่มแรกในห้องทดลองเหล่านั้นที่สร้างสรรค์บทเพลงจากห้องทดลองธรรมดาให้กลายเป็นห้องซ้อมดนตรีที่สนุกสนานครับ
.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *