เพราะปัญหามันน่ารำคาญ…แก้ไขอย่างไรให้เป็นโอกาส

7 March 2020

“มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกนี้เพื่อแก้ไขปัญหา”

คุณภาณุ อิงคะวัต อดีตหัวเรือใหญ่ลีโอเบอร์เนต ได้กล่าวเอาไว้ หลังจากเดินขึ้นเวที และหันหน้าไปทักทายลูกค้า และผู้คนที่เกี่ยวข้องในแวดวงโฆษณา รวมถึงนิสิตนักศึกษาเข้ามาร่วมงานครบรอบ 50 ปี ลีโอเบอร์เนต จากนั้นเขาก็ร่ายเรื่องราวชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานอย่าง สั้น กระชับ และได้ใจความ พร้อมกับตอกย้ำอีกว่าเราเกิดมาเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ

ถ้าชีวิตไม่มีปัญหา ชีวิตอาจไม่เกิดความหมายหรือคุณค่าให้เราได้ภาคภูมิใจเลย นี่อาจเป็นนิยามที่สวยหรูสำหรับคนที่ก้าวผ่านปัญหาต่างๆ มาได้ แต่ใช่ว่าการพิชิตปัญหาใดปัญหาหนึ่งแล้วจะจบลง เพราะปัญหามักจะถูกปล่อยลงมาจากใครสักคน หรือเหตุการณ์สักอย่าง เพื่อทดสอบชีวิตเราอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ เพื่อการอยู่ร่วมและอยู่รอดจากปัญหาต่างๆ ได้นั่นคือการเรียนรู้

ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนในศตวรรษที่ 21  โดยเล่าว่า มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มที่อาร์ตมาก พวกเขาทำเรื่องการรับน้องใหม่ ซึ่งตอนนั้นเป็นปัญหามาก เพราะมักมีน้องใหม่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการรับน้องอย่างต่อเนื่อง นักศึกษากลุ่มนี้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จนได้กรณีศึกษาที่น่าสนใจมาหลายเรื่อง

ดร.อมรวิชช์ บอกว่าเขาตั้งใจจะให้เกรด A แก่นักศึกษากลุ่มนี้อยู่แล้ว กระทั่ง 2 อาทิตย์ก่อนส่งเกรด นักศึกษากลุ่มนี้ไม่ยอมส่งงานมาสักที เขาจึงเรียกนักศึกษามาคุยว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น สุดท้ายพบว่านักศึกษากลุ่มนี้ถอดองค์ความรู้ผ่านทักษะการเขียนออกมาไม่ได้ นักศึกษาจึงพยายามหาทางออกว่าสามารถสอบปากเปล่าแทนได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่ได้มันจำเป็นต้องมีรายงานส่ง

กระทั่ง ดร.อมรวิชช์ ถามว่านักศึกษาในกลุ่มนี้ว่า มีใครวาดการ์ตูนเป็นบ้าง นี่เป็นคำถามที่ชี้ทางสว่างในการแก้ไขปัญหาให้แก่นักศึกษากลุ่มนี้ขึ้นมาทันทีครับ นักศึกษาหลายคนโวยวายในเชิงติดตลกว่าทำไมอาจารย์ไม่บอกทางเลือกนี้ตั้งแต่แรกว่าสามารถนำเสนอเป็นภาพวาดการ์ตูนได้ สุดท้ายเขาได้รายงานการศึกษาที่น่าอ่านเล่มหนึ่งเท่าที่สอนมา เพราะมีทั้งภาพ ทั้งเรื่องที่มีเสน่ห์มาก จากนั้นนักศึกษารุ่นนี้ก็มีการไปกระซิบรุ่นน้องว่าไปลงวิชาอาจารย์อมรวิชช์ เขียนการ์ตูนส่งได้

กรณีของ ดร.อมรวิชช์ เป็นเรื่องที่ผมแอบคิดว่าใครก็ตามที่มีอำนาจ หากสามารถมองเห็นศักยภาพเนื้อแท้ของบุคคลที่ทำงานอยู่โดยรอบ และหยิบจับ ปรับใช้ เพื่อดึงศักยภาพที่พวกเขามีอยู่ออกมาให้เป็น ผลลัพธ์ ย่อมมีความแตกต่าง หรือไม่ก็คุ้มค่ากว่าแนวทางของผู้มีอำนาจที่มักจะกำหนดภายใต้รูปแบบความต้องการของพวกเขาอย่างเดียวแน่นอน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อการเอื้อให้เกิดความกระหายในการเรียนรู้ คำถามต่อมาคือแล้วถ้ามันไม่เอื้อละ เราควรทำอย่างไร คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของคุณตือ สมบัษร ถิระสาโรช ออร์แกไนซ์เซอร์ชื่อดัง ที่เขากล่าวไว้ว่า “พลุไม่มีใครจุด ก็จุดเอง”

คุณตือเล่าถึงธรรมชาติของคนที่มักรอดูความสวยงามที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า จากนั้นก็ปรบมือดีใจกับความสวยงามเหล่านั้นที่ค่อยๆ หายไป นี่คือธรรมชาติการรอคอยสิ่งสวยงามให้เกิดขึ้นจากน้ำมือคนอื่น คำถามคือในชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องรอให้คนอื่นสร้างโอกาส สร้างความสำเร็จให้เราอยู่ฝั่งเดียวหรือ คุณตือบอกว่าอย่ารอใครมาจุพลุให้เรา อย่ารอ อย่ารอ ไม่มีใครจุด ก็จุดเองเลย จุดด้วยตัวเอง ชื่นชมเอง พลุของคุณตือคือเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ใครหลายๆ คนกล้าที่จะเดินไปจุดและสร้างมันเอง พลุที่ว่านั้นในปัจจุบันอาจเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์งานนวัตกรรมในเชิงการแก้ไขปัญหาให้เล็กลง กระชับขึ้น หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อ Start Up

ผมเองเคยเข้าไปนั่งฟังคุณกฤษแห่ง Skootar (แอพฯบริการด้านขนส่ง) ตลอดเวลาที่ฟังเรื่องราวของเขาที่นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ฟัง ผมชอบประเด็นคำถามตั้งต้นมากที่สุด นั่นคือ เขาเห็นชนวนพลุได้อย่างไร

คุณกฤษเล่าว่า เขาเคยเป็นวิศวะกรที่ประเทศเดนมาร์กมาก่อน และมีความคิดอยากทำอะไรเป็นของตัวเอง จึงหันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งก็จัดอยู่ในประเภท SME (Small Medium Enterprise) นั่นแหละ SME มีทุนและเวลาค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะเวลาในการดำเนินเรื่องเอกสารต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยเมจเสจเจอร์ แต่เราคิดว่าเมจเสจเจอร์ไม่ต้องทำงานเต็มเวลา เพราะแค่เดินเอกสารให้เราก็จบ

การว่าจ้างเมจเสจเจอร์ประจำจึงไม่น่าจะคุ้มเท่าไหร่ พอเขาหันไปใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ ก็กลัวเอกสารจะตกหล่นจากการหลงลืม หรือไปวางบิลให้ช้า ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาหมดแล้ว เขาจึงตัดสินใจลองไปเดินเอกสารเอง

ทันทีที่ไปถึง เขาเห็นบรรดาวินมอเตอร์ไซค์จำนวนมากมานั่งรอเพื่อดำเนินเอกสาร กลิ่นตัวนี่คลุ้งไปหมด ระหว่างนั่งรอเขาเห็นวินมอเตอร์ไซค์หลายคนเล่นเกม Candy Crush นั่นหมายความว่า วินมอเตอร์ไซค์ทุกคนใช้สมาร์ทโฟน เขาจึงเกิดความคิดว่าน่าจะนำปัญหาที่เจอมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยี จนเกิดการทดลอง และกลายเป็นแอพฯบริการขนส่งเอกสารที่คนในแวดวง Start Up รู้จักกันเป็นวงกว้าง

ความคิด โอกาส และการต่อยอด บางทีมันก็ไม่ได้วิ่งมาหาเรา มีแต่ตัวเราต่างหากที่ต้องวิ่งไปหา ไปเห็น และหัดสังเกต เพื่อมองหาชนวนให้มาโดนไฟที่เกิดจากความกระหายในการเรียนรู้ ความอยากทำ ความอยากลอง แม้ฟังดูไม่ง่าย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมครับว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมักเกิดจากปัญหา เพื่อรอเวลาให้ใครสักคนลงมือแก้ไข และต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่เสมอ

ปัญหาจึงเปรียบเป็นทั้งยาขมตอนแก้ไข และขนมหวานตอนประสบความสำเร็จ ทว่ามีสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือทั้งสองรสชาติเหล่านั้นมักหมดไปและเกิดขึ้นใหม่ตามกาลเวลา พร้อมกับสถานการณ์ที่สร้างโจทย์ขึ้นมาให้เราได้แก้ไขไปอย่างไม่รู้จบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *