แม้การสื่อสารในการทำงานผ่านการแชทไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์มไหนก็ตาม ล้วนมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เสมอ นั่นก็คือ การตีความจากเนื้อหาที่พิมพ์มาไปพร้อมกับน้ำเสียงในความคิดของเรา ซึ่งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จากการตีความผิดไปก็ได้เช่นกัน
ผมคาดการณ์ว่าจากสาเหตุและผลลัพธ์เบื้องต้นที่เขียนถึงไปนั้น น่าจะเกิดขึ้นกับชีวิตคนทำงานหลาย ๆ คนเลยทีเดียว และเมื่อเกิดปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ ความคิดเล็ก คิดน้อย ก็ค่อย ๆ ถูกสะสมจนเป็นความคิดก้อนใหญ่ในเชิงลบว่า พี่เขาคิดกับเราไม่ดีแบบนี้เหรอ ดูถูกเราหรือเปล่า ซึ่งก็สามารถเป็นไปได้ทั้งเจตนาเช่นนั้น หรืออาจไม่ได้เป็นแบบที่เราคิดก็ได้
ส่วนแนวทางการแก้ไขก็แสนจะเรียบง่าย แต่ต้องอาศัยใจในการเผชิญหน้าสักหน่อย ใช่ครับ การได้เจอหน้าและพูดคุยกันบ่อย ๆ จะช่วยไขปัญหาเหล่านี้ไปได้ ซึ่งไม่ใช่แค่องค์กรในไทยนะครับ ที่ญี่ปุ่นก็เป็น
เพราะคุณ ชินจิ โคชิคาวะ ผู้เขียนหนังสือ นิสัยคนเก่งระดับท็อป 5% ที่ AI ค้นพบ ได้ถ่ายทอดความคาดหวังของคนทำงานในองค์กรต่าง ๆ ที่เขาไปเก็บข้อมูลมาและพบว่า คนทำงานจะคาดหวังอยู่ 3 ประเด็นคือ
1. การถูกยอมรับ
2. การได้รับความสำเร็จ
3. การเป็นอิสระ
ซึ่งการสื่อสารที่ตีความเพี้ยนไปในเชิงที่ตัวคนทำงานเข้าใจว่าเราเองถูกดูถูกนั้น อาจเกิดจากความระแวงหรือคิดไปเองจากประสบการณ์ที่เคยทำงานพลาดมาก่อนก็ย่อมได้
ส่วนวิธีแก้ไขนั้น คุณชินจิ ได้ไปสำรวจและศึกษาพฤติกรรมการละลายอคติที่อาจก่อขึ้นด้วยตัวเองโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้มีเจตนา นั่นคือ วิธีการพบปะหน้ากันบ่อย ๆ เพื่อหาโอกาสพูดคุยกันนั่นเอง ซึ่งคุณชินจิเรียกว่า Zajonc Effect
ฟังดูแล้วเป็นวิธีที่แสนเรียบง่าย แต่คุณชินจิ บอกว่ามันจะได้ผล เพราะเมื่อเราพบเจอใครบ่อย ๆ ยิ้มแย้มให้กัน มีโอกาสพูดคุยกัน เราจะรู้จักตัวตนและความคิดของฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น และจินตนการในเชิงลบของเราจะลดลง เวลาเราได้ยินหรือได้อ่านเมจเสจที่เขาสื่อสารออกมาในครั้งต่อ ๆ ไป
โดยคุณชินจิ ยังลงไปทดสอบกับพนักงานที่มีปัญหาเรื่องในลักษณะนี้ ด้วยการแนะนำให้พบหน้ากับบุคคลที่เราเคยมีปัญหา และพูดคุยกันมากขึ้นกว่าเดิม เช่น เพื่อนร่วมงานที่เคยมีปัญหา หรือหัวหน้าที่เราคิดไปเองว่าถูกดูถูก เป็นต้น
ซึ่งคุณชินจิ ได้ทดลองเป็นกับกลุ่มพนักงานที่เผชิญปัญหาลักษณะนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน และผลก็ออกมาว่ากว่า 78% มีความเข้าใจในการสื่อสารและการตีความจากผู้ส่งสารได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก แถมผลกระทบในเชิงบวกที่เป็นผลดีต่อตัวพนักงานและองค์กรในระยะต่อมาคือ การใช้เวลาในการประชุมน้อยลงจากการรับฟังบนความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
สารภาพว่าตอนอ่านเนื้อหาของคุณชินจิ ก็เข้าใจได้ว่าบริบทของสังคมการทำงานแบบญี่ปุ่น ก็คงมีความกดดันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการต้องการการเป็นที่ยอมรับในการทำงาน ในขณะเดียวกันลองคิดกลับกัน หากวิธีนี้นำกลับมาใช้ในสังคมการทำงานแบบไทยจ๋า ๆ เราก็ไม่แน่ใจว่า ผลลัพธ์จะลงเอ่ยอย่างไร ระหว่างความสัมพันธ์แบบละครด้วยการเผชิญหน้าแบบขอจบไปที กับฉากแฮปปี้เอนดิ้งแบบซีรี่ย์เกาหลีที่เหมือนได้รับชัยชนะร่วมกัน
เอาเป็นว่าถ้าใครมาอ่านแล้วกำลังเจอปัญหาในลักษณะนี้อยู่..ก็ลองเปิดใจทดลองดูก็ไม่น่าจะเสียหายเท่าไหร่นะ

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน