นั่งดูภาพยนตร์เรื่อง Up in the air อีกครั้งในวัย 30 กว่า ให้ความรู้สึกแตกต่างจากในวัย 20 ปีเศษมาก นั่นเพราะการมีสถานะเป็นมนุษย์เงินเดือนมาเกือบ 10 ปี ผ่านช่วงเติบโตมาระดับหนึ่ง และยังผ่านช่วงวิกฤตของบริษัทที่กลายเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า เลยทำให้มีความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของพนักงานหลายคนที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกตัวเองกับฉากที่พวกเข้าต้องถูก ไรอัน บิงแฮม (จอร์ส คลูนีย์) มาบอกว่าพวกเขาถูกไล่ออกจากงาน
มีหลายประโยคที่สะกิดใจพอสมควร เช่น ผมทำงานบริษัทนี้มาตั้ง 17 ปี คุณทำกับผมเช่นนี้ได้อย่างไร หรือฉันทุ่มเททุกอย่างให้ที่นี่อย่างที่สุด และยังมีเรื่องของภาระที่คนทำงานเหล่านั้นต้องรับผิดชอบกับเบื้องหลังชีวิตอีกมากมาย
นี่เป็นเหตุให้เราไม่ควรฝากความหวังหรือชีวิตของเราไว้กับองค์กรหรือบริษัทได้เลย ไม่ว่าคุณจะรักมันมากแค่ไหน หรือคุณพยายามจะบอกว่าคุณซื่อสัตย์กับมันมากเพียงใด อย่าหลอกตัวเองเลย นั่นเพราะคุณคิดเองเออเองอยู่ฝ่ายเดียว ตราบใดที่ยังมีคำว่ากำไรและขาดทุน เรายังคงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเหล่านั้น วาจาและกำลังใจต่อหน้าคือการหยอดน้ำมันไม่ให้กำลังใจมันขึ้นสนิมหรือไม่ให้สายพานมันติดขัดเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้เราต้องเตือนใจตัวเอง เพราะทุกอย่างล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่เรายื่นใบสมัคร เขาให้เงินเราเพื่อแลกกับความสามารถที่บริษัทต้องการ หากคิดเชิงตรรกะ หน้าที่ของเราและบริษัทจบอยู่แค่นั้น เพียงแต่เราเป็นมนุษย์ธรรมดาความผูกพันย่อมมี บ้างก็เกิดจากความรักในตัวบุคคล ความรักในวัฒนธรรมองค์กร ความรักในความปลอดภัย หรือที่เราเรียกว่าติดเรื่อง Comfort Zone ก็ย่อมมี
แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรรักให้มากเหมือนกับที่ชายคนนั้นบอกกับ ไรอัน บิงแฮมว่า ภักดีกับบริษัทมา 17 ปี นั่นคือการรักและภักดีต่อตัวเองด้วย เรามักคิดถึงคนอื่นเยอะเกินไปกว่าคิดถึงตัวเอง น้อยคนนักที่จะจมน้ำแล้วถอดชูชีพให้คนอื่นรอดชีวิตก่อนตนเอง เราควรสร้างชูชีพของเราขึ้นมา ไม่ว่าชูชีพนั้นจะเป็นด้านความเชี่ยวชาญด้านหน้าที่การงาน การเงิน สุขภาพ หรือชื่อเสียงก็ตาม
ความน่ากลัวของการถูกไล่ออกตอนอายุยังน้อย ยังไม่เจ็บปวดเท่าตอนอายุเยอะ เพราะมันทิ้งรอยแผลที่เยียวยาอย่างไรก็ไม่หายไปได้โดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักและความภักดีที่ไม่สามารถทำให้บริษัทหายขาดทุนได้ในพริบตา
จำไว้ว่าเราต่างเป็นต้นทุนและส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ทำให้เกิดกำไรและขาดทุน อย่ามององค์กรหรือบริษัทเป็นครอบครัวเพียงมิติเดียว เพราะเมื่อถึงคราวเดือดร้อน บริษัทไม่ได้มองคุณเป็นคนในครอบครัวหรือเป็นเพื่อนสนิทที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน เพราะคอนเซปต์ขององค์กรและบริษัทเกิดขึ้นมาเพื่อดำเนินการในการสร้างผลกำไรให้เติบโต นี่คือแก่นหลักในการที่เขาจ้างงานเรา
ส่วนเรื่องความรู้สึกที่องค์กรหรือบริษัทมอบให้แก่เรารู้สึกเหมือนบ้านหลังที่ 2 หรืออะไรก็แล้วแต่นั้นเป็นเพียงเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ทำให้เราภูมิใจที่จะได้อยู่กับเขาไปพร้อมกับภาพลักษณ์และโปรไฟล์ที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าเรามองมันให้ออก แยกแยะมันให้ดี
ชีวิตที่ดีของเรา เราควรออกแบบมันเอง รับผิดชอบให้ดีที่สุด อย่าหวังพึ่งพิงใครเด็ดขาด การมานั่งพร่ำถึงความรักและความภักดีในวันที่ถูกเขี่ยทิ้ง นอกจากมันไม่ช่วยอะไรเลย นอกเหนือจากเงินก้อนๆ หนึ่ง ที่ได้ชดเชยมา ซึ่งมันก็ไม่เพียงพอต่อความรู้สึกที่เสียไปเกือบทั้งชีวิตที่มอบให้
เขาจ้างเรา เราก็ทำงานให้เขาอย่างเต็มที่ เต็มที่เพื่อพัฒนาความสามารถ และต่อยอดโอกาสให้เราได้ไปต่อ อย่าวางใจที่ใดที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าที่ที่นั้นมันจะเป็นที่ที่คุณหรือใครหลายคนคิดว่ามันปลอดภัยและคุ้มค่าที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมันตลอดไป
ทุกๆ ที่มีความเสี่ยงทั้งนั้น แม้กระทั่งตัวเรา จะดีกว่ามากถ้าความเสี่ยงเหล่านั้นเป็นเราที่ควบคุมได้ด้วยตัวเอง อย่าเผลอรักองค์กรหรือบริษัทจนตาบอดว่านี่คือความรักในการทำงานที่บริสุทธ์
ในโลกของการดำเนินผลให้เกิดกำไรนั้น มันไม่มีอะไรที่เท่ห์และสวยงามดั่งภาพในฝันเหมือนตอนก่อนออกจากมหาวิทยาลัยในช่วงอายุ 20 ปีเศษหรอก
ทำไมนะหรือก็เพราะกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านนำพาประสบการณ์และแง่คิดในการทำงานมาสอนผมแบบนั้นจริงๆ
หมายเหตุ: เขียนจากมุมมองของพนักงานจากภาพยนตร์จึงอาจมีความเห็นต่างจากเจ้าของบริษัท
อย่าลืมติดตาม PODCAST ออฟฟิศ 0.4
SPOTIFY : https://spoti.fi/38KKW19
APPLE : https://apple.co/2TXdzUr
SOUNDCLOUND : http://bit.ly/OFFICE04TH-SC
YOUTUBE : http://bit.ly/OFFiCE04TH-YT
PODBEAN : https://office04th.podbean.com/

Podcaster : ออฟฟิศ 0.4
Writer : สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก / เปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน / เป็นคนที่ใช่ในงานที่ชอบ / นี่เงินเดือนหรือเงินทอน